Debu-Chan ทำความรู้จักร้านดังในโตเกียวที่เน้นให้ลูกค้าได้ฟินเมนูกับเส้นมากกว่ามองจอ

กล้องสมาร์ตโฟน เครือข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุม และสื่อโซเชียลกลายเป็นสามประสานช่วยให้เราสามารถอวดเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตให้โลกรู้

นี่เองทำให้การถ่ายรูปอาหารในร้านดังโพสต์อวดบนสื่อโซเชียล กลายเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของคนยุคนี้ไปแล้ว โดยด้านหนึ่งเป็นการอวดให้รู้ว่าได้มากินในร้านดัง

ขณะที่อีกด้านหนึ่งทางร้านก็ได้โปรโมตโดยไม่ต้องซื้อสื่อ ซื้อโฆษณา แต่ก็ไม่ใช่ทุกร้านที่ปล่อยหรือยินดีให้ลูกค้าใช้สมาร์ตโฟนในร้าน

Debu-Chanราเมงร้านดัง ขนาด 33 ที่นั่งในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ที่มิถุนายนนี้จะครบ 5 ปี มีกฎอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ลูกค้าขาประจำว่า หลังราเมงที่สั่งมาวางตรงหน้าแล้ว ต้องวางสมาร์ตโฟน แล้วกินเมนูเส้นขึ้นชื่อของทางร้านให้หมดในเวลาไม่กี่นาที

เพราะเป็นราเมงเส้นเล็กแบบจังหวัดฮากาตะ ที่หากปล่อยไว้นานเกิน 4 นาทีหลังลงชามจะอืดและไม่อร่อย นอกจากนี้ ยังเป็นเมนูท้องถิ่นของคนใจร้อน อยากได้กินแบบทันใจแทบจะทันทีหลังสั่ง

และยิ่งต้องมาต่อคิวรอกว่าจะได้เข้ามาในร้านอีกในชั่วโมงเร่งด่วนก็คงจะทำให้ยิ่งหิว ดังนั้นเมื่อเข้ามาในร้านก็ควรให้หมด แต่ก็ยังมีลูกค้าบางคนที่หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่ายรูปราเมงก่อนจะกิน

นี่จึงทำให้ โคตะ ไค เจ้าของร้านไม่ชอบ และไปบอกกับลูกค้าเหล่านั้นที่ยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาใช้ก่อนกินราเมงด้วยตัวเอง

โคตะ ไค กล่าวว่า ลูกค้าควรจะกินราเมงที่ยังร้อนๆ ก่อนเส้นจะอืด และไม่ควรหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่ายรูปอีกให้เสียเวลา เพราะยังมีลูกค้าอีกมากที่ต่อแถวรอจะเข้ามากินเป็นคนต่อ ๆ ไป และเมื่อเข้ามาในร้านก็ต้องทำตามกฎของร้าน แม้ไม่ได้ขึ้นป้ายบอกไว้ก็ตาม  

ร้านDebu-Chanเพิ่งเริ่มใช้กฎดังกล่าวเมื่อมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง และกำลังเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรในหมู่ชาวญี่ปุ่นบนสื่อโซเชียลว่า เจ้าของร้านทำเกินเหตุด้วยการไปลิดรอนสิทธิ์ในการใช้สมาร์ตโฟนของลูกค้าหรือไม่

แต่หากมองอีกด้านลูกค้าก็ต้องทำตามกฎของร้านเมื่อเข้าในร้าน ดังที่เจ้าของร้านได้กล่าวไว้ ซึ่งเทียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม นั่นเอง

ในมุมมองทางธุรกิจ หากลูกค้ากินเสร็จเร็วก็จะดีกับทางร้าน เพราะจะทำให้ลูกค้ารายต่อ  ๆ ไปได้เข้ามาเพื่อเพิ่มยอดขายได้ต่อเนื่อง

ส่วนในมุมมองทางสังคม เป็นการแสดงให้เห็นว่า สมาร์ตโฟนเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราจนแทบเป็นเรื่องปกติ และยากที่จะห้ามตัวเองไม่ให้ใช้ ดังนั้นเมื่อถูกห้ามใช้ก็กลายเป็นข่าว เป็นประเด็นขึ้นมา

ทำนองว่า ถูกบังคับให้พักจากการใช้หรือมองจอสมาร์ตโฟน ไม่ต่างจากการเข้าคอร์สล้างพิษจากอุปกรณ์ดิจิทัล (Digital Detox) แบบโดนบังคับในช่วงสั้น ๆ แม้ว่าในอดีตเราก็อยู่กันมาได้โดยไม่ต้องมีสมาร์ตโฟนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม Debu-Chan ไม่ใช่ร้านอาหารร้านเดียวที่ออกกฎห้ามใช้ สมาร์ตโฟน โดยเมื่อ 2017 McDonald’s ในสิงคโปร์ได้ติดตั้งตู้พร้อมให้ลูกค้าเอาสมาร์ตโฟนไปใส่แล้วล็อกไว้ เพื่อให้ได้ใช้เวลาไปกับเมนูที่สั่งและลูก ๆ หลาน ๆ  ที่มากินด้วย

ส่วนที่ญี่ปุ่นเขตอาดาชิ ในกรุงโตเกียวก็ออกกฎห้ามไม่ให้ใช้สมาร์ตโฟนขณะเดินหรือขี่จักรยานบนท้องถนนเมื่อปี 2021 

และเมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา วัยรุ่นนิสัยเสียกลุ่มหนึ่งได้ใช้สมาร์ตโฟนถ่ายวิดีโอตัวเองเลียขวดซอสและจานช้อนในร้านชูชิจานหมุนญี่ปุ่น กลายเป็นข่าวเชิงลบสร้างความเสื่อมเสียให้ร้านชูชิจานหมุนญี่ปุ่น

จนสะเทือนธุรกิจร้านชูชิจานหมุน ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5,700 ดอลลาร์ (ราว 191,000 ล้านบาท)  โดยเฉพาะ Sushiro เชนใหญ่สุดที่เกิดเรื่อง

นำมาสู่การจับกุมวัยรุ่นจอมแสบเหล่านี้ และทางร้านชูชิจานหมุนต้องหาทางป้องกันด้วยการเสิร์ฟเป็นจาน ๆ ตามที่สั่งหรือแม้กระทั่งติดตั้งกล้องและใช้เอไอเข้ามาช่วย/cnn

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน