ทรัพยากรด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเทศมีมากน้อยต่างกันไป โดยในส่วนของการท่องเที่ยวประเทศที่มีีพื้นมากกว่าย่อมมีแหล่งท่องเที่ยวมากตามไปด้วย และสามารถเก็บเกี่ยวดอกผลจากทรัพยากรนั้น ๆ เหนือกว่าประเทศเล็กที่มีทรัพยากรท่องเที่ยวน้อย
ทว่าหากไม่บริหารจัดการให้ดี เม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศใหญ่น่าจะได้อาจไม่มากเท่าที่ควร ซ้ำร้ายก็ยังถูกประเทศร่วมภูมิภาคขนาดเล็กกว่าแต่บริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวได้ดีกว่า โกยเงินจากท่องเที่ยวได้มากกว่า พร้อมต่อยอดไปสู่การลงทุนด้านต่าง ๆ ได้มากกว่าอีกด้วย
เหมือนอินโดนีเซีย ประเทศขนาดใหญ่สุดของกลุ่ม ASEAN ซึ่งตามรายงานของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) ระบุว่า ปี 2019 รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คิดเป็นเพียง 5.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
เป็นรองเวียดนาม เพื่อนบ้านใน ASEAN ซึ่งทำเงินจากอุตสาหกรรมเดียวกันได้คิดเป็น 7% ของ GDP และเทียบไม่ติดกับไทย เพื่อนบ้านอีกประเทศ ซึ่งทำเงินจากอุตสาหกรรมเดียวมากถึง 20.3% ของ GDP
ปัญหาดังกล่าวมาจากการที่อินโดนีเซียพึ่งพาบาหลีมากเกินไป โดยข้อมูลปี 2019 ระบุว่า 40% ของชาวต่างชาติที่เข้ามาในอินโดนีเซียไปเที่ยวบาหลี
ประกอบกับอินโดนีเซียแทบไม่มีแผนโปรโมตหรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในประเทศเลย จนส่งผลทำให้สาธารณูปโภคของแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติก็ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนหากมาอินโดนีเซีย
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่แผนการยกเครื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศผ่านการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคและโปรโมตตั้งแต่ปี 2020-2024 ตามนโยบายของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด้ ภายใต้งบประมาณ 1,260 ล้านดอลลาร์ (ราว 43,000 ล้านบาท)
5 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพัฒนาและโปรโมตคือ ทะเลสาบโทบา เมืองท่าลาบวน บาโจ เมืองหลวงเก่ายอร์กจาการ์ตา เมืองตากอากาศมันดาลิกา และลิกูปัง เมืองทรายขาวชายหาดสวย
Nikkei สื่อดังของญี่ปุ่น รายงานอ้างจากชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในอินโดนีเซียว่า ทะเลสาบโทบาน่าเที่ยวมาก เพราะเป็นทะเลสาบดินยุบตัวจากเถ้าลาวาเย็นตัวใหญ่สุดในโลก และยังมีความสงบเงียบ
ส่วนเมือง ลาบวน บาโจ ก็น่าเที่ยวเช่นกัน เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมังกรโคโมโด
หากโครงการนี้ไปได้สวยจะส่งผลดีมากมาย เริ่มจากรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะกระจายไปยังเมืองและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย ท่ามกลางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางที่กำลังกลับมา หลังซบเซามานานจากสถานการณ์โควิดตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
ตามด้วยเป็นการกันไม่ให้แผนใช้เมืองที่น่าจะมีศักยภาพซึ่งต้องการโปรโมตต้องล้มเลิกไปเพราะความไม่พร้อม
เหมือนการเปลี่ยนไปใช้เกาะบาหลีจัดการประชุม ASEAN ช่วงพฤษภาคมนี้แทนเมืองท่าลาบวน บาโจ เนื่องจากสนามบินในเมืองเก่าและระบบรักษาความปลอดภัยไม่ดี ต้องเกิดขึ้นอีก
และสุดท้ายจะเป็นการช่วยคลายปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไปจนเมืองช้ำ (Overtourism) ในบาหลี ที่ชาวบาหลีกำลังผลักดันได้อีกด้วย
ซึ่งเมื่อสืบย้อนขึ้นไป ปัญหานี้ก็มาจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้เป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากบาหลีนั่นเอง
การยกเครื่องด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียมีขึ้นไล่เลี่ยกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่ก็กำลังยกเครื่องเช่นกัน เพราะทนไม่ไหวหลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2022 อยู่ที่เพียง 3 ล้านคน เพิ่มจากปี 2021 เพียงหลักแสนคน ซึ่งถือว่ารั้งท้ายสมาชิก ASEAN ทั้งหมด
เพราะค่าที่พัก-ค่าเข้าแหล่งท่องเที่ยวแพง และกฎข้อบังคับเข้มงวดเกินไป เช่น ตั้งภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนนักท่องเที่ยวต้องจ่ายแพงมากหากต้องการดื่มกินในงานรื่นเริง
ขณะเดียวกันนโยบายการท่องเที่ยวตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของมาเลเซียก็ไร้ทิศทาง จนทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยหนีไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
ซึ่งถือว่าน่าเสียดายและทำให้โอกาสต่อยอดต่าง ๆ หลุดมือไป เพราะศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของมาเลเซียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN เลย/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



