อุณหภูมิที่ไทยว่าร้อนแล้ว แต่ที่ฝรั่งเศสกลับร้อนกว่า เมื่อความไม่สงบเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในเดือนมกราคมปี 2023 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศข้อเสนอยกเครื่องระบบบำเหน็จบำนาญ และเรื่องนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของนาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่เริ่มไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนาย Macron เป็นคนที่เรียกร้องให้ใช้อำนาจพิเศษเพื่อบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

หนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสรายงานว่า 1 วันก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา จำนวนผู้ประท้วงได้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และอีกหลายแสนคนได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การประท้วงในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเงินบำนาญเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการที่คนฝรั่งเศสโกรธที่รัฐบาลไม่ได้ทำตามเจตจำนงของพวกเขาดั่งที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้

ทำไมชาวฝรั่งเศสถึงออกมาประท้วง

การเดินขบวนประท้วงของประชาชนชาวฝรั่งเศสในครั้งนี้นับเป็นการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทั่วประเทศครั้งที่ 11 ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคือสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ฝรั่งเศส ซึ่งก็นับว่าเป็นการประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ถ้าถามว่าทำไมประชาชนชาวฝรั่งเศสถึงโกรธจัดได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งของปัญหาก็ต้องบอกว่ามาจากการตัดสินใจของนาย Macron ที่ต้องการที่จะผลักดันการเพิ่มอายุเกษียณของประชาชนในการทำงานจาก 62 ปีเป็น 64 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามเพื่อพยายามลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณเงินบำนาญของประเทศ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยนายกรัฐมนตรี Elisabeth Borne เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา และผลโพลก็เป็นไปตามคาด ประชาชนกว่า 68% คัดค้านการปฏิรูป

อ้างอิงจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสถาบัน  Brookings ระบุว่าแม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ได้รับการสนับสนุน (เป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว) แต่นาย Macron ก็ดึงดันใช้เครื่องมือพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ามาตรา 49.3* เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง เนื่องจากรัฐบาลของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาในการเลือกตั้งปี 2022

 

*เป็นมาตราหนึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ประกอบด้วย เนื้อหาจำนวน 4 ย่อหน้าซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยการปกครองในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 (1947-1958) โดยบทบัญญัติที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ หมวดที่ 3 แห่ง มาตรา 49.3 ที่อนุญาตให้รัฐบาลบังคับผ่านร่างกฎหมายโดยไม่ต้องให้รับสภาลงคะแนน เว้นแต่รัฐสภาจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ

 

นาย Emmanuel Macron เริ่มต้นการเป็นประธานาธิบดีและเข้ารับตำแหน่งในปี 2017 และหาเสียงด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชาวฝรั่งเศส แต่ไม่นานนักเขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เนื่องจากการทำงานในช่วงแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งของนาย Macron ได้มีการคลายกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานและเลิกเก็บภาษีความมั่งคั่ง

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในปี 2018 เกี่ยวกับนโยบายที่ดูเหมือนจะมุ่งช่วยเหลือคนร่ำรวย ในตอนนั้นความรู้สึกของคนชนชั้นกลางของฝรั่งเศสที่กลายมาเป็นชนชั้นปกครอง พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง หลายคนรู้สึกว่าพวกเขา “ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขาได้แล้ว”

 

ความเป็นจริงที่โหดร้าย

แม้ว่าชาวฝรั่งเศสจะไม่เห็นด้วยที่จะให้พวกเขาทำงานไปจนถึงวันที่เรี่ยวแรงแทบไม่มี แต่เมื่อหันไปดูประเทศในยุโรปก็จะพบว่า อายุเกษียณเฉลี่ยในฝรั่งเศสไม่ได้ต่ำที่สุด (กรณีผ่านร่างกฎหมายสำเร็จที่ 64 ปี)

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จากผลสำรวจพบว่า ชาวยุโรปส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 62 ปีจึงจะเริ่มได้รับเงินบำนาญจากรัฐ อย่างอายุบำนาญของอังกฤษคือ 66 ปี เยอรมนี 67 ปี ส่วนฝรั่งเศสมีอายุบำนาญ 2 ช่วง ได้แก่ อายุขั้นต่ำตามกฎหมายคือ 62 ปี ซึ่งรัฐจ่ายบำนาญเต็มจำนวนหากมีการจ่ายเงินสมทบครบตามจำนวนที่กำหนด และอายุ 67 ปี เมื่อถึงจุดนั้นจะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน จ่ายโดยไม่คำนึงถึงว่าจะจ่ายสมทบมาครบหรือไม่ ส่วนกฎใหม่นั้นมีนัยว่า จะช่วยเร่งการเพิ่มจำนวนการส่งเงินสมทบประจำปีที่เดิม 41 ปี ขยับไปเป็น 43 ปี

กฎระเบียบที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการให้สิทธิและการยกเว้นสิทธิบางประการ ทำให้เรื่องนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ชาวยุโรปจำนวนมากเกษียณอายุก่อนเกณฑ์อายุเกษียณของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายในอังกฤษเกษียณตอนมีอายุเฉลี่ย 63.7 ปี ผู้หญิง 63.2 ปี ผู้ชายเยอรมันเกษียณอายุในช่วง 63.1 ปี และผู้หญิง 63.2 ปี

ส่วนในฝรั่งเศส ชายชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เกษียณอายุตอน 60.4 ปี และผู้หญิงเกษียณอายุตอนที่มีอายุ 60.9 ปี ด้วยอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ระยะเวลาเฉลี่ยในการเกษียณอายุของชายชาวฝรั่งเศสจึงสูงเป็นอันดับ 2 รองจากลักเซมเบิร์ก เมื่อเทียบกันในกลุ่มประเทศ OECD (มีประเทศสมาชิก 30 ประเทศ) ส่วนผู้หญิงนั้นสูงเป็นอันดับที่ 3

เรื่องนี้สร้างแรงกดดันให้กับระบบสวัสดิการพลเมืองของฝรั่งเศส เพราะเงินบำนาญจะได้รับการสนับสนุนโดยค่าใช้จ่ายสมมุติฐานบังคับสำหรับผู้ที่อยู่ในงานสำหรับผู้ที่เกษียณอายุ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยสถิติแบบตีความง่ายๆ คือคนฝรั่งเศสเฉลี่ย 1.7 คนทำงานหาเลี้ยงผู้รับบำนาญที่อยู่ในระบบทุกคน ลดลงจาก 2.1 ในปี 2000 และตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มจะลดลงเหลือ 1.3 ภายในปี 2070 นั่นแปลว่าประเทศต้องรับภาระเรื่องเงินบำนาญหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

การผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมืองทำให้พลเมืองฝรั่งเศสมีอายุเกษียณต่ำ ระบบบำเหน็จบำนาญในยุคแรกสุดของประเทศถูกกำหนดขึ้นสำหรับกองทัพเรือภายใต้ระบอบการปกครองแบบโบราณในปี 1673 จนถึงทุกวันนี้ คนงานบางประเภท เช่น นักเต้นที่โรงละคร Paris Opera หรือคนงานรถไฟ

สิทธิการเกษียณอายุตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ที่การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส พนักงานสามารถเกษียณอายุได้ตั้งแต่อายุ 52-55 ปี กฎสมัยใหม่ที่ควบคุมเงินบำนาญถูกนำมาใช้ในปี 1945 พร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของรัฐสวัสดิการของฝรั่งเศส

ในขณะนั้นอายุเกษียณสำหรับคนที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนคือ 65 ปี จนกระทั่ง François Mitterrand (ฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์) ประธานาธิบดีสายสังคมนิยมขึ้นสู่อำนาจในปี 1981 ด้วยคำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมสิทธิของคนงาน และทำให้ฝรั่งเศสลดอายุคนที่จะได้บำนาญลงเหลือ 60 ปี (ก็ได้บำนาญแล้ว)

 

ประธานาธิบดี Macron จะจัดการกับการประท้วงอย่างไร

จากข้อมูลของ CNBC บอกว่าประธานาธิบดีของฝรั่งเศสต้องการที่จะปกป้องและหาข้ออ้างที่ดูฟังขึ้นในการใช้มาตรา 49.3 ของเขาโดยอธิบายว่า “เขาไม่ได้ต้องการทำ แต่รู้สึกว่าต้องทำ” Ezra Suleiman ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวว่า “เขาไม่ควรประเมินปฏิกิริยาต่อคนวัยเกษียณต่ำเกินไป”

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทีมงานในรัฐบาลนาย Macron นำโดยนายกรัฐมนตรีอย่าง Élisabeth Borne ได้เข้าพบปะหารือกับสหภาพแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเจรจาจะไม่นำไปสู่ความคืบหน้าใด ๆ และไม่น่าเป็นไปได้ที่ Macron จะถอนข้อเสนอการปฏิรูประบบเงินบำนาญ เพราะมันจะเป็นการขัดต่อของหลักการของเขาในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม การกระทำของรัฐบาลฝรั่งเศสทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่ง เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสภายุโรป กังวลเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิในการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง เพราะว่าในบางเมืองของฝรั่งเศสได้มีห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาด แม้จะชุมนุมโดยสันติก็ตาม ทางด้าน Gérald Darmanin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส ได้แสดงความเห็นในเชิงลบที่ว่า “ผู้ประท้วงไม่มีสิทธิ์แสดงออกหากพวกเขาไม่เคยประกาศเจตนาที่จะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาก่อน”

 

แล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

โดยรวมแล้ว การปฏิรูปในครั้งนี้ถือว่าเบากว่าที่นายมาครงคิดไว้ในตอนแรก โดยเมื่อได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งแรก เขาต้องการนำระบบการนับคะแนนแบบสากลเข้ามาใช้กับการเลือกตั้งของฝรั่งเศส เพื่อให้เข้าใจถึงระบบการปกครองและกฎเกณฑ์ที่วกวนซึ่งควบคุมสิทธิของพนักงานที่แตกต่างกัน

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนงานชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร และก็ไม่รู้ว่าสิทธิที่จะได้หลังการเกษียณอายุของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการทำงานต่อไปหรือไม่นั้นดูจะสับสนและยุ่งเหยิง ถ้าฝรั่งเศสต้องการเพิ่มส่วนแบ่งของแรงงานสูงอายุในตลาดงานจริง ๆ แล้วล่ะก็ บางทีรัฐบาลก็ต้องตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างให้ชัดเจนเพื่อที่เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารรายจ่ายด้านการดูแลคนเกษียณก็จะได้ง่ายขึ้น

กฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับแผนการยืดอายุของคนทำงานกำลังจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเร็ววันนี้ ความหวังเดียวของนาย Macron คือการได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน

และด้วยการที่เขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2022 (ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี) ทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันเหลือพันธมิตรสายกลางอยู่ที่ 250 เสียง ขาดอยู่อีก 39 เสียง

ถึงแม้จะมีเสียงส่วนกลางอยู่มากถึง 250 เสียง และอาจได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการมอบชัยชนะให้กับนาย Macron ง่าย ๆ ซึ่งหากนาย Macron ไม่สามารถหาเสียงข้างมากในสภาได้ รัฐบาลอาจต้องใช้บทบัญญัติพิเศษตามรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับให้กฎผ่าน แม้จะต้องแลกกับการเสี่ยงถูกยุบสภาก็ตาม ในทางเทคนิค นาย Macron จะต้องนำข้อเสนอปฏิรูปนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายภายในเดือนกันยายนนี้ตามที่รัฐบาลเสนอ แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

สหภาพแรงงานและฝ่ายค้านสัญญาว่าจะเดินขบวนจนกว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอนี้กลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง รูปแบบใหม่ของการประท้วงและยกระดับของการหยุดงานประท้วงอาจเกิดขึ้นได้ การนัดหยุดงานกันของแรงงานของการรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศสในช่วงคริสต์มาสมีการนัดหมายกันผ่านทาง Facebook แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานการรถไฟก็ตาม

โดยสรุปแล้วสถานการณ์ในฝรั่งเศสดูเหมือนเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่สงบ นาย Macron ดูจะไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนชาวฝรั่งเศสจากการได้คะแนนนิยมเพียง 36% เท่านั้น คำพูดที่ฟังดูขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อตอนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีดูจะห่างไกลมากขึ้นทุกวัน และถ้าเรื่องทั้งหมดจบลงด้วยความไม่พอใจของประชาชน นาย Macron คงจะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ได้สร้างรอยแผลไว้ให้กับประเทศในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของเขาตลอดไป

 

อ้างอิง

 

https://www.usnews.com/news/best-countries/articles/2023-04-06/explainer-why-the-french-people-are-protesting#:~:text=France%2C%20a%20global%20power%20that,nationwide%20demonstration%20underway%20on%20Thursday.

 

https://www.economist.com/the-economist-explains/2023/01/31/why-is-the-french-pension-age-so-low

 

https://www.economist.com/leaders/2017/03/04/the-vote-that-could-wreck-the-european-union

 

https://en.wikipedia.org/wiki/Article_49_of_the_French_Constitution#:~:text=The%20article%2C%20which%20comprises%20four,a%20motion%20of%20no%20confidence.

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน