ย้อนไปในยุค 40 เหตุการณ์ใหญ่สุด ณ เวลานั้นที่ส่งผลกระทบมากสุดคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยุคเดียวกันยังมีหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้น ทั้งการประกาศเอกราชของ อินโดนีเซีย ไอซ์แลนด์ และเลบานอน
การก่อตั้งองค์กรอย่าง สหประชาชาติ กับ NATO ที่ยังคงเป็นเสาหลักของโลกและมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน
ยุค 40 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมอย่าง เครื่องบินเจ็ต เรดาร์ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึง Jeep หนึ่งในรถแบรนด์ดัง
ส่วนถ้าในเรื่องการสันทนาการ ยุค 40 คือยุคที่มีคนคิดค้นเจ้าสปริง Slinky และจานร่อน Frisbee ขึ้นมา
ตีวงให้แคบเข้ามาอีกเหลือแค่ในครัว ยุค 40 เป็นจุดเริ่มต้นของ 2 สิ่งที่ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบันอย่างเตา Microwave
และ Tupperware กล่องพลาสติกบรรจุอาหารพร้อมฝาปิดที่ใช้กันทั่วโลกขนาดที่กลายเป็นชื่อใช้เรียกกันทั่วไป (Generic name) ของสินค้าประเภทเดียวกันภายใต้แบรนด์อื่น ๆ อีกด้วย
Tupperware ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 โดย Earl Tupper อดีตพนักงาน Du Pont บริษัทเคมียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่นำพลาสติกเหลือใช้มาหลอมใหม่เป็นกล่องอเนกประสงค์น้ำหนักเบาพร้อมฝาปิด
ช่วงแรก ๆ Earl Tupper ยังกังวลว่าบริษัทที่ตนบริหารจะไปรอดหรือไม่ เพราะตัวเองเคยล้มละลายมาแล้วและสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพิ่งจบไปหมาด ๆ แต่หลังได้ Brownie Wise มาเป็นฝ่ายขายสถานการณ์ของบริษัทก็ดีขึ้น
Brownie Wise คิดค้นแผนโปรโมต Party Plan ขึ้น ซึ่งเธอจะไปจัดปาร์ตี้ตามบ้าน พร้อมนำผลิตภัณฑ์ของ Tupperware ไปขาย โดยแผนโปรโมตดังกล่าวประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งในเรื่องยอดขายและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกันยังสร้างงานสร้างเงินและเป็นโอกาสให้แม่บ้านทั่วโลกได้เข้าสังคมอีกด้วย
นี่ทำให้ Party Plan เป็นหนึ่งในแผนโปรโมตและการทำตลาดที่ประสบความสำเร็จมากสุดในโลก จนปี 1954 Brownie Wise สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นปก BusinessWeek นิตยสารธุรกิจเล่มดัง
ทว่าความสำเร็จดังกล่าวกลับมีผลเสียคาดไม่ถึงตามมา โดยทำให้ Brownie Wise เจิดจรัสจนทาบรัศมีของ Earl Tupper นำมาสู่ความแตกแยก โดยที่สุด Brownie Wise ก็ถูก Earl Tupper บีบให้ออกจากบริษัทไป
ส่วนตัวเขาเองลงเอยด้วยการขายบริษัทที่ปั้นมากับมือให้กับเชนร้านขายยา Rexall ผ่านดีล 16 ล้านดอลลาร์ (ราว 600 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม บริษัทกล่องพลาสติกที่ก่อตั้งโดยอดีตคนล้มละลายก่อตั้งแต่ได้ฝ่ายขายหญิงมือฉมังมาช่วยปั้นจนโด่งดังก็ยังอยู่รอดข้ามยุคสมัยมาได้ แม้คนสำคัญคู่นี้จะจากโลกนี้ไปในปี 1983 และ 1992 ตามลำดับก็ตาม
ณ จุดสูงสุดในปี 1996 Tupperware มีขายอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และเป็นของติดตู้เย็นคู่ครัวแทบทุกบ้านทั่วโลก พอปี 2005 Tupperware พ้นจากสถานะบริษัทลูกและกลายเป็นบริษัทอิสระในชื่อ Tupperware Brands Corporation
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ Tupperware ถูกจับตามองอีกครั้ง เพราะยอดขายไม่เปรี้ยงป้างเหมือนก่อน โดยแม้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาอีกมากมาย ทั้งช้อนชาม และวัสดุอื่น ๆ เช่น แก้ว มาทำผลิตภัณฑ์ แต่ยอดขายก็ยังไม่กลับมาดีได้เท่าที่ควร
ซ้ำร้ายยังต้องสู้กับคู่แข่งในตลาดเดียวกันอีกหลายแบรนด์ อย่าง Rubbermaid, Glad, Pyrex, Oxo และ Ziploc
ปัญหาใหญ่สุดของ Tupperware คือเป็นแบรนด์รุ่นเก่าที่ตกยุค ดูแก่ในหมู่คนรุ่นใหม่กลุ่ม Gen Y กับ Gen Z และหนักกว่านั้นนี่คือแบรนด์ที่ผูกติดกับพลาสติก ย่อยยากจนกลายไปเป็นขยะทำร้ายโลก
เพราะเป็นวัสดุสำคัญของผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างของแบรนด์ จนถูกมองว่า ไม่รักษ์โลก ทั้งที่หากมองอีกมุม Tupperware คือบริษัทสร้างตลาดกล่องพลาสติกถนอมอาหาร เพื่อช่วยลดขยะจากอาหารด้วยซ้ำ
แม้มีการปรับแผน โดยในสหรัฐฯ ได้นำไปขายในห้าง Target แต่สถานการณ์ของ Tupperware ก็มีแต่ทรงกับทรุด โดยเมื่อ 11 เมษายนที่ผ่านมาราคาหุ้น Tupperware ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ร่วงลงไปถึง 50%
ท่ามกลางข่าวว่า Tupperware ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก กำลังหาทางระดมทุนเพิ่ม อาจต้องปลดพนักงานและอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะขายอสังหาริมทรัพย์ออกไปบ้าง เพื่อกู้สถานการณ์หรือไม่
สถานการณ์ทั้งหมดทำให้แบรนด์อายุ 77 ปีแบรนด์นี้เข้าสู่โหมดปรับตัว และต้องทำทุกทางเพื่อความอยู่รอด แต่เชื่อว่า คนรุ่นเหนือกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่ม Gen X และ Babyboom ซึ่งเคยใช้หรือมีรายได้จาก Party plan จะยังเอาใจช่วยให้แบรนด์รอดจากวิกฤตนี้และอยู่คู่ครัวได้ต่อไป/cnn, bbc, wikipedia, tupperware
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



