ราวปี 2003 ความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้นขึ้นอีกครั้งผ่าน หลิน ฮุ่ย แพนด้าตัวน้อยเพศเมียที่ได้เดินทางจากบ้านเกิดในมณฑลเสฉวนมาอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยเมื่อเป็นสาวในอีก 6 ปีจากนั้น หลิน ฮุ่ย ก็ให้กำเนิด หลิน ปิง ออกมา

ช่วงหนึ่งชาวไทยได้เห็นความน่ารักของ หลิน ฮุ่ย ผ่านรายการเล่าข่าวทุกวัน ส่งให้เจ้าหมวยตัวนี้ดังไปทั่วและชาวไทยรู้สึกผูกพัน

หลิน ฮุ่ย

ถัดจากนั้น หลิน ฮุ่ย ก็ยังคงเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์เชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวต้องไปดูไปทักทายเมื่อไปเยี่ยมชม แต่มาปีนี้คนรักสัตว์และแฟน ๆ แพนด้าถึงคราวต้องปาดน้ำตา เพราะหลิน ฮุ่ย ได้ตายจากชาวไทยไปเหลือไว้แต่ความทรงจำดี ๆ

เรื่องราวของ หลิน ฮุ่ย ที่ฝากไว้ตลอด 20 ปีไม่ได้มีแต่ความน่ารักและประทับใจเท่านั้น เพราะยังมีประเด็นทางการทูตและประวัติศาสตร์แฝงอยู่ด้วย โดย หลิน ฮุ่ย ถือเป็นการสานต่อการทูตแพนด้าของจีนที่ต่อเนื่องมาแล้ว 8 ทศวรรษ

“มาดามเจียง”

การทูตแพนด้าของจีนเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1941 โดยคนต้นคิดคือ ซ่ง เหม่ยหลิง หรือ “มาดามเจียง” ภริยาเจียง ไคเช็ก ผู้นำจีน ณ ขณะนั้น เพื่อขอบคุณสหรัฐฯ ที่ช่วยจีนให้รอดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่น

ข้ามมาปี 1972 จีนกับสหรัฐฯ ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ต่อกัน โดยจีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง ได้มอบแพนด้าคู่ใหม่แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาสำคัญนี้ ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ ที่นำโดย ริชาร์ด นิกสัน ก็ส่งวัวมัสก์คู่หนึ่งไปให้เป็นการตอบแทน

 

พอถึงปี 1984 รัฐบาลจีนสั่งให้ปรับนโยบายการทูตแพนด้า โดยจากให้เป็นของขวัญไปเปล่า ๆ ก็เปลี่ยนเป็นการเช่า เพื่อให้จีนมีเงินมาใช้ในการอนุรักษ์ เลี้ยงดู และเพาะพันธ์ุแพนด้าต่อไป

ปี 2008 จีนจำเป็นต้องส่งนักการทูตขนปุยมากถึง 60 ตัวกระจายไปหลายประเทศ เพราะมณฑลเสฉวน ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน เสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

แผ่นดินไหวในเสฉวน 

มาเมื่อปี 2022 การทูตแพนด้า ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจีนส่งแพนด้าคู่หนึ่งพร้อมตั้งชื่อด้วยคำมงคลเป็นภาษาอาหรับ ไปให้กาตาร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสานสัมพันธ์ไมตรี ซึ่งยังเป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

เพราะเกิดขึ้นก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพเล็กน้อย ดังนั้น จึงถือเป็นการเกาะกระแสฟุตบอลโลกได้อีกด้วย แม้ฟุตบอลทีมชาติจีนไม่ได้ผ่านเข้าไปเล่นด้วยก็ตาม  

แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้การทูตแพนด้าถูกวิจารณ์ว่าเสื่อมมนต์ขลังไปแล้ว หลังมีบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ ที่แบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและค่าเช่าไม่ไหวจนถึงกับต้องส่งคืนกลับไปให้จีน และแพนด้าเพศเมียที่ส่งให้ไปก็มีลูกยาก เพราะไม่ได้อยู่ตามธรรมชาติ

 

ซึ่งในมุมมองของจีนถือว่าน่าเสียดาย เพราะทำให้พลาดโอกาสกระชับความสัมพันธ์ในประเทศอื่น ๆ ควบคู่ไปกับโครงการ One Belt-One Road ในยุคที่ขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจแล้วอย่างเต็มตัว

ทว่าก็ต้องยอมรับว่าการทูตแพนด้าถือเป็นการทูตอีกรูปแบบหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างแยบคาย และมีส่วนสำคัญอย่างมากทำให้แพนด้าจีนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

พร้อมกับเป็นต้นแบบการทูตผ่านสัตว์ท้องถิ่นให้อีกหลายประเทศ เช่น การทูตนกอินทรีของฟิลิปปินส์ และการทูตเต่ายักษ์ของเกาะซีเชลส์ทำตาม 

ขณะเดียวกันแพนด้าบางตัวยังได้กลายไปเป็นต้นแบบโลโก้องค์กรดังระดับโลก เช่น ที่กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) นำแพนด้าที่จีนให้อังกฤษไปในปี 1974 มาเป็นต้นแบบโลโก้ อีกด้วย/thediplomat, wikipedia, aljazeera

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน