ธ. กสิกรไทย กางแผนเงินลงทุน หนุนลูกค้าธุรกิจ-สตาร์ตอัป ทำงานด้านเปลี่ยนผ่านสู่ Sustainability สะสมสูงสุด 2 แสนล้านบาทในปี 2030 เริ่มระยะแรกกับลูกค้าธุรกิจพลังงาน-ถ่านหิน-น้ำมัน

ด้านภาครัฐ ทส. กำลังดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน SET ยก Sustainability เป็น License to Grow

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยในงานสัมมนา EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth โดยธนาคารกสิกรไทย ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5

ที่รวมผู้บริหารชั้นนำระดับองค์กรของรัฐ องค์กรธุรกิจเอกชน และองค์กรธุรกิจนานาชาติ กว่า 30 ราย มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และแบ่งปันประสบการณ์ ชี้ให้เห็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เพื่อก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ตามหลัก ESG หรือ สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)

อ้างอิงข้อมูลจาก McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ เกี่ยวกับรายงานภาพรวมการทำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Sustainability พบว่าปัจจุบันมี 11 กลุ่มธุรกิจ อาทิ ขนส่ง, อสังหาริมทรัพย์, พลังงาน, เกษตร และน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น

 

ที่ความเร่งด่วนของ Sustainability ไม่ใช่ทางแก้ แต่เป็นโอกาสสำคัญ ที่หากทำได้ 11 กลุ่มธุรกิจข้างต้นก็จะสามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2030

โดย 11 กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะต้องเริ่มมีการปรับเปลี่ยนสู่ Sustainability ในเชิงกายภาพ อาทิ โรงงาน, เครื่องจักร, กระบวนการผลิต, การซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ

ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ Sustainability อย่างน้อย 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นโอกาสสำคัญของภาคธุรกิจไทย ที่เป็นซัปพลายเออร์ในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้

ขณะที่ส่วนการทำงานของ บริษัทเงินร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital Fund) ที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจและสตาร์ตอัปทั่วโลก ที่ดำเนินงานนวัตกรรมด้าน Sustainability ในส่วนการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)

 

ปี 2022 นับเป็นก้าวกระโดดของการลงทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 89% หรือ 70.1 พันล้านดอลลาร์ จาก 30.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 และไตรมาส 1/2023 มีมูลค่าการลงทุนไปแล้ว 11.2 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันเฉพาะส่วนของสตาร์ตอัปที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Sustainability อยู่ทั่วโลกมีประมาณ 200-300 ราย

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการปล่อยเงินลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหา Climate Change พบว่าปัจจุบันยังขาดความสมดุล โดย 75% ของเม็ดเงินที่ลงทุนไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระจุกตัวอยู่เพียง 3 พื้นที่หลักของโลก ได้แก่ อเมริกาเหนือ (North America), ยุโรปตะวันตก (Western Europe) และประเทศจีน (China)

 

ส่วนการทำงานของภาคธนาคารพาณิชย์ในไทย อย่าง ธ. กสิกรไทย เพื่อสร้าง Sustainability ตามหลัก ESG และก้าวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ธนาคาร ตั้งเป้าให้ในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของธนาคารเป็น Net Zero ภายในปี 2030 ด้วยการปล่อยสินเชื่อและเงินลงทุนกับลูกค้าธุรกิจและสตาร์ตอัปที่กำลังทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Sustainability และมุ่งไปสู่ Net Zero ตามโรดแมป ดังนี้

 

ธ. กสิกรไทย กางแผนเงินลงทุน

หนุนลูกค้าธุรกิจ-สตาร์ตอัป เปลี่ยนผ่านสู่ Sustainability

สะสมสูงสุดถึงปี 2030 ที่ 2 แสน ลบ.

ปี ค.ศ. เป้าเงินลงทุนสะสม/ล้านบาท
2022 25,000
2023 50,000
2030 200,000
ที่มา: ธ. กสิกรไทย/เมษายน 2023

 

ระยะแรก จะเริ่มทำงานกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจพลังงาน, ถ่านหิน และน้ำมัน

มีการจัดตั้ง Beacon Impact Fund กองทุนด้านการลงทุนในสตาร์ตอัปที่ดำเนินธุรกิจซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกด้าน ESG (อ่าน บีคอน วีซี อัดฉีด 1.2 พัน ลบ. เปิดกองทุน Beacon Impact Fund)

ตลอดจนการจัดทำโครงการสร้างการรับรู้ อาทิ Business Showcase จากแบรนด์ระดับโลกและสตาร์ตอัปที่ผ่านการคัดเลือกจาก ธ. กสิกรไทย อาทิ Watt’s Up, SolarPlus และ Beacon VC เป็นต้น ซึ่งมาจัดแสดงนวัตกรรมและแนวทางทำงานในงานสัมมนาครั้งนี้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ในงามสัมมนายังมี อาทิ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มาเล่าเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงฯ ในการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับจาก Voluntary (สมัครใจ) เป็น Mandatory (บังคับ) ทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอนและกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

 

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียน รวมถึงสถาบันที่เป็นตัวกลางในการยกระดับความรู้และคุณภาพการดำเนินกิจการ

รวมไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน เพราะในวันนี้ Sustainability ถือเป็น License to Grow หรือใบอนุญาตสำคัญให้ธุรกิจมีสิทธิ์เติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน