ทุกยุคสมัยจะมีคนกลุ่มใหญ่ที่สำคัญต่อช่วงเวลา ทำให้ทุกความเคลื่อนไหวของพวกเขาส่งผลต่อความเป็นไปของโลก และเป็นประเด็นขึ้นมาเสมอหากเกิดปัญหาขึ้นมา 

เช่น ที่คนอายุระหว่าง 18-24 ปี หรือ Gen Z  คือกลุ่มที่สำคัญเพราะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโลก และมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของตลาดในแรงงานปัจจุบัน ทว่ามีข้อมูลว่า Gen Z คือกลุ่มเครียดสุดในตลาดแรงงาน 

Gen Z เผชิญความเครียดจากวิกฤตหลายด้าน (Permacrisis) เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์โลก ปัญหาข้าวยากหมากแพง ข่าวปลดพนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ และการถูก AI แย่งงานที่เข้ามาในเวลาพร้อม ๆ กัน โดยทั้งหมดแทบยังไม่มีทีท่าว่าจะซาลงไป 

ตีวงให้แคบเข้าลงมาอยู่เฉพาะเรื่องการทำงาน Gen Z ก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะช่วงเกือบ 4 ปีมานี้ สถานการณ์โควิด ทำให้ต้องติดภาวะล็อกดาวน์ จนต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home) แบบออนไลน์ ในช่วงแรกของการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

และเมื่อวิกฤตซาลงไป ก็ปรับมาเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid workspace) ที่บ้านสลับกับการกลับเข้ามาในออฟฟิศ 

มาปีนี้เมื่อวิกฤตโควิดจบลง แทบทุกบริษัททั่วโลกก็สั่งให้พนักงานกลับเข้าบริษัทมากขึ้น ด้วยการเพิ่มวันเข้าบริษัทในแต่ละสัปดาห์หรือกลับมาทำเต็ม 5 วัน หยุด 2 วัน โดยมี บริษัทหัวก้าวหน้าบางแห่ง เปลี่ยนสัดส่วนวันทำงาน ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน เพื่อให้พนักงานได้มีสมดุลชีวิต (Work-Life Balance) ดีขึ้น

ปัญหาเรื่องการสื่อสารของ Gen Z คือ เพิ่งได้เข้ามาเจอเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ ๆ ในออฟฟิศแบบเต็ม หลังเห็นหน้ากันผ่าน Zoom และติดต่อผ่าน email มาพักใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาปรับตัว และต้องเรียนรู้เรื่องมารยาทต่าง ๆ ในออฟฟิศ 

นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยในสังคมการทำงานที่ส่งผลต่อความก้าวหน้า และสิ่งที่ไม่สัมผัสด้วยตัวเองมาก่อนช่วง Work from Home เช่น การเมืองในบริษัท และการพูดคุยกันช่วงพักที่สามารถใช้ปรับทุกข์ โต้เถียง เคลียร์ใจ หรือแม้กระทั่งไอเดียดี ๆ เรื่องงาน

ปัญหาอีกอย่างเรื่องการสื่อสารของ Gen Z หลังกลับมาทำงานในออฟฟิศ คือความพอดี เพราะต้องเรียนรู้จากพนักงานรุ่นพี่ ๆว่า จะขยันอย่างไรไม่ให้มากเกินไปจนถูกเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้ และจะผ่อนเกียร์ในการทำงานอย่างไรไม่ให้มากเกินจนไปกินแรงเพื่อน

รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องมาเข้างานให้ตรงเวลาและไม่ฝืนมาทำงานทั้งที่ไม่ไหว เพราะโลกการทำงานแบบปกติต่างจากโลกการทำงานยุค Work from Home 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ Gen Z ที่ไม่มีต้นแบบช่วงเริ่มวัยทำงาน (First jobber) เพราะโลกติดล็อกดาวน์ ก็สามารถแก้ได้ผ่านการร่วมมือกันของทั้ง Gen Z กับรุ่นพี่ ๆ 

และสร้างบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศ เอื้อให้พนักงานพูดคุยกันแบบเห็นหน้าค่าตาได้ ไม่ใช่เอาแต่คุยผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งการสื่อสารผ่านข้อความก็ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนการพูดคุยกัน หรือเกิดการคลาดเคลื่อนได้ จนฝ่ายที่รับสารเข้าใจผิด

การช่วยให้ Gen Z ปรับตัวเข้ากับสังคมการทำงาน หลังกลับมาทำงานกันแบบปกติมีความสำคัญ เพราะจะทำให้พวกเขาได้ทักษะจำเป็นในการทำงาน ทั้งทักษะสำคัญ (Hard skill) ของงานแต่ละประเภท และทักษะการเข้าสังคม (Soft skill) ซึ่งแทบทั้งหมดไม่สามารถทำได้ผ่านออนไลน์

ซึ่งถ้าปล่อยไป จะส่งผลต่อหน้าที่การงานของ Gen Z เอง และกระทบต่อโลกการทำงานในอนาคต ที่คนยิ่งต้องประสาน ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้เพื่อไม่ให้ต้องตกงาน เพราะจำนวนคนในตลาดแรงงานที่ลดลง สวนทางกับการใช้ระบบอัตโนมัติและ AI ที่เพิ่มขึ้น ♦/bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online