60 ปีที่แล้วผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นขยายธุรกิจออกไปนอกตลาดบ้านเกิด ว่าที่ยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ระดับโลกในตอนนั้นอย่าง Toyota, Nissan และ Honda ก็เริ่มขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เมื่อไทยถูกเลือกให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปให้โลก นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก แซงหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาทั้งโฆษกรัฐบาลไทยและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ต่างประกาศว่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ EV สัญชาติจีน ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย นั่นทำให้ ไทยกลับขึ้นมาเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศอีกครั้ง

อะไรทำให้จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก เลือกไทย ทั้งที่จริงแล้วจีนจะเลือกใครก็ได้ โดยเฉพาะเวียดนามที่ว่ากันว่าค่าแรงถูกกว่าไทย

มองหาตลาดที่มีศักยภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังหลายบริษัทรถยนต์เคยตีตัวออกจากไทย พากันย้ายฐานการผลิตเพราะเรื่องค่าแรงที่สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ โอกาสครั้งใหม่นี้มาจากประเทศจีน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนประกาศลงทุนสร้างโรงงานในไทยแบบเต็มสูบ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BYD ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ตัดสินใจจับมือกับ WHA Group ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ลงทุนซื้อที่ดินกว่า 600 ไร่ในจังหวัดระยองเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งวางแผนที่จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 150,000 คันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป

และเดือนเมษายนผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอีกรายอย่าง Changan เผยว่าจะมีการลงทุน 285 ล้านดอลลาร์เพื่อผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาคันแรกนอกประเทศจีน รวมไปถึง Hozon บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Neta V เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย

รถยนต์ที่ผลิตในไทยซึ่งเป็นของของบริษัทจีนบางส่วนจะถูกขายในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่ม SEA เป็นกลุ่มประเทศที่จีนมองว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 23% ในปี 2022 เป็น 3.4 ล้านคัน

ไม่เพียงแต่ตีตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ผู้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีนก็ได้มีการออกแบบรถยนต์สำหรับการตีตลาดตะวันตกที่ร่ำรวยเช่นกัน การวิจัยโดย Allianz บริษัทประกันสัญชาติเยอรมันพบว่าบริษัทจีนมีสัดส่วนประมาณ 4% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนีนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022

ผู้ผลิตรถยนต์บางรายรวมถึง BYD กำลังพยายามที่จะบุกตลาดอเมริกาให้ได้เหมือนอย่างที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเคยทำได้มาก่อน ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอเมริกาและจีนจะไม่ดีเลย แถมความยากก็คือรัฐบาลอเมริกาก็เปย์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศตัวเองแบบเต็มที่เพื่อจูงใจให้ผลิต ทำให้ความพยายามนี้ยากขึ้นไปอีก

ไม่ว่าแผนการบุกตลาดประเทศไทยของบริษัทรถยนต์จีนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุดหรือไม่ การลงทุนดังกล่าวจะช่วยตอกย้ำความเอาจริงของจีนในแง่การเป็นห่วงโซ่อุปทานของเอเชีย จากข้อมูลเปิดเผยว่าปี 2022 ประเทศไทยได้รับเงินกว่า 3,400 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยสัดส่วนใหญ่นั้นมาจากบริษัทสัญชาติจีน (รวมถึงฮ่องกง) มากกว่าที่ได้รับจากอเมริกาหรือญี่ปุ่น

แม้แต่ในหมู่พันธมิตรของอเมริกาอย่างประเทศไทย ผลประโยชน์ทางการค้าจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้นหอมหวานเกินกว่าที่จะปฏิเสธไม่รับ

ทำไมต้องไทย

เมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับตะวันตก ผู้ผลิตจีนจึงมองหาพื้นที่ที่เป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศในการที่จะขยายธุรกิจไปทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะที่เป็นมิตรของอเมริกาและเป็นสมาชิกของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคซึ่งคลายข้อจำกัดการค้าสินค้าขั้นกลาง จึงกลายเป็นประเทศที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษ

อีกประเด็นก็คือตลาดในจีนนั้นค่อนข้างจะเติบโตเต็มที่แล้ว และการแข่งขันภายในประเทศก็รุนแรงขึ้นมาก รวมไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของจีนก็ไม่โดดเด่นเช่นที่ผ่านมา และอีกเหตุผลก็คือ เมื่อตลาดเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ต้นทุนในการหาลูกค้าชาวจีนรายใหม่จึงสูงมาก

Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในอเมริกา กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สงครามราคาได้ปะทุขึ้นในจีนระหว่างแบรนด์ต่าง ๆ ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมองว่าการขยายตัวในต่างประเทศเป็นหนทางสู่การเติบโตที่ดูจะเป็นไปได้มากกว่าที่จะสู้กันเองในประเทศ ผลก็คือจีนส่งออกรถยนต์คิดเป็นมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2023 โดยมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 82%

ไทยได้อะไรแล้วจีนได้อะไร

รัฐบาลไทยต้องการให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 700,000 คันภายในปี 2030 หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับภูมิภาคสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น Toyota และ Honda

และด้วยระยะหลังสายสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยและจีนทำให้การค้าการขายระหว่างสองประเทศพัฒนาขึ้นมาก อีกทั้งจีนเองก็ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจลงมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเข้าออกประเทศในกลุ่ม SEA นั้นง่ายขึ้น

อีกทั้งถ้าพูดถึงทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เมื่อก่อนไทยได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แต่ ณ ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวคราวการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นบางส่วนแล้ว  ทำให้ไทยจำเป็นต้องมองหาพันธมิตรในการทำธุรกิจใหม่มาแทนที่

ถ้าดูจากมูลค่าของ 3 ค่ายรถ EV ที่มาลงทุนในไทยผ่านมุมมองของ BOI ไม่ว่าจะเป็น BYD Chanan และ Hozon ที่ลงทุนมาสร้างโรงงานในไทยโดยตรง ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง รวมกว่า 30,000 ล้านบาท (Changan 285 ล้านดอลลาร์ BYD 491 ล้านดอลลาร์ Hozon (ยังไม่เปิดเผยตัวเลข))

ถามว่านอกจากเม็ดเงินแล้วประเทศไทยได้อะไร? คำตอบก็คือไทยตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2030 ไทยก็เลยเสนอสิ่งจูงใจด้านการขายและการลงทุนในประเทศเพื่อดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ โดยการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตจนถึงสิ้นปี 2023 และมีเงื่อนไขว่าผู้ผลิตรถยนต์จะต้องให้คำมั่นว่าจะมาตั้งฐานการผลิตในประเทศและเริ่มผลิตภายในสิ้นปี 2024

เมื่อไทยได้ทั้งเงิน ได้ทั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณรถ EV และอาจจะได้เรื่องการจ้างงานเพิ่มมาอีก ส่วนจีนได้ออกมาโตต่อนอกประเทศ ได้ประหยัดต้นทุนการผลิตจากการงดเว้นภาษี แล้วจะไม่ให้เรียก Win-Win ได้อย่างไร

 

อ้างอิง

https://www.economist.com/business/2023/05/11/why-chinese-carmakers-are-eyeing-thailand

https://www.reuters.com/business/autos-transportation/chinas-byd-set-up-ev-plant-thailand-2022-09-08/

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Electric-cars-in-China/China-s-Hozon-to-produce-EVs-in-Thailand-for-Southeast-Asian-market

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน