ถ้าถามในตอนนี้ว่า วันว่าง ๆ จะไปเดินเที่ยวเล่นที่ไหน คำตอบของทุกคนคงเป็น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน เเต่ถ้าถามคำถามเดียวกันนี้เมื่อสักประมาณ 30 ปีให้หลัง ชื่อที่ทุกคนได้ยินอาจเป็น คาเธ่ย์ พันธุ์ทิพย์ หรือไม่ก็เมอร์รี่คิงส์ อย่างเเน่นอน
คนที่เกิดทันในยุคนั้นจะต้องทราบเเน่นอนว่า ห้างของรุ่นพ่อรุ่นเเม่ ก็คึกคักไม่ต่างจากในทุกวันนี้เลย
เริ่มที่ชื่อเเรก
เมอร์รี่คิงส์
ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ที่เริ่มต้นมาตั้งเเต่ปี 2520 บริหารงานโดย บริษัท เมอร์รี่คิงส์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ จำกัด สาขาแรกบนสี่แยกวังบูรพา เขตพระนคร มาพร้อมสโลแกนที่ทุกคนคุ้นเคย ‘เมอร์รี่คิงส์ มีทุกสิ่งให้เลือกสรร’
ใช้เวลาไม่นานห้างเมอร์รี่คิงส์ก็สามารถเปิดบริการได้ถึง 6 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และชานเมือง เเม้ทั้งหมดจะปิดกิจการไปแล้ว เเละบางสาขาถูกปรับเป็นโครงการใหม่ ๆ
2527-2553 สาขาแรก เมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา ปัจจุบันกลายเป็นเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ศูนย์การค้าไอที
2528-2545 เมอร์รี่คิงส์ สะพานควาย ปัจจุบันเป็นโครงการอาคารสำนักงาน The Rice by SRISUPHARAJ
2529-2550 เมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่
2530-2547 เมอร์รี่คิงส์ รังสิต หลังไฟไหม้กลุ่มโบเบ๊เข้ามาพัฒนาโครงการ ปัจจุบันเป็นโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิต
2531-2546 เมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า ปัจจุบันเป็นโลตัส สาขาปิ่นเกล้า
2542-2554 เมอร์รี่คิงส์ บางใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์บางใหญ่ ปัจจุบันเป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี ยังไม่มีการปรับปรุงอาคารใด ๆ
ช่วงบูมของห้างนี้ มีรายการดังต่าง ๆ ถ่ายทำออกอากาศ ที่สาขารังสิต เช่น จี้เส้นคอนเสิร์ต หรือรายการคอนเสิร์ตเลข 9 ซึ่งช่วยให้แทรฟฟิกคนเดินห้างมีจำนวนมาก การค้าขายก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ส่งผลให้เมอร์รี่คิงส์รังสิต กลายเป็นหัวหอกสำคัญของธุรกิจ
เเต่เเล้วเมื่อห้างต้องเผชิญปัญหาน้อยใหญ่ที่ประดังประเดเข้ามา จนเป็นเหตุให้ต้องทยอยปิดสาขา เริ่มตั้งเเต่เกิดเหตุไฟไหม้สาขาสะพานควายเมื่อปี 2529 เเละสาขารังสิตเมื่อปี 2541 ก็เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุด ส่งผลให้เกิดความเสียหาย เป็นตัวเลขมากกว่า 300 ล้านบาท จนถูกรัฐสั่งปิดกิจการถาวร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิต)
ผนวกกับเจอวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 อีกทั้งกลุ่มทุนใหญ่ บิ๊กซี โลตัส ที่เริ่มเข้ามาลุยตลาด จนทำให้สาขาบางใหญ่ต้องปิดตัวลง จากการเผชิญการเเข่งขันกับห้างดังที่มาเปิดฝั่งตรงข้าม ทำให้ไม่มีคนมาใช้บริการ เช่นเดียวกับสาขาวงเวียนใหญ่ที่ปิดไปในปีเดียวกัน เป็นเหตุให้เมอร์รี่คิงส์ถูกฟ้องล้มละลายในเวลาต่อมา
แต่เมื่อมีการนำกลับมาเสนอขายใหม่ เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ ด้วยราคา 550 ล้านบาท ด้วยทำเลใจกลางฝั่งธนฯ มีรถไฟฟ้าพาดผ่านถึง 2 สาย อีกทั้งมาพร้อมโมเดลพัฒนาโครงการใหม่ให้ผู้ที่สนใจด้วย เริ่มมีวี่เเววของการชุบชีวิตห้างดังในอดีตกลับมาอีกครั้ง
ห้างคาเธ่ย์
ห้างคาเธ่ย์ ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ หรือ ห้างคาเธ่ย์ ห้างดังในอดีตของตระกูล “กมลวิศิษฎ์” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากบนย่านเยาวราชเมื่อ 30 ปีก่อน มีรากฐานธุรกิจมาจากกิจการค้าปลีกเสื้อผ้า เเละแตกไลน์ธุรกิจสู่การเป็นผู้จำหน่ายกางเกงยีนส์รายใหญ่ ภายใต้ชื่อบริษัท ฮาร่า ประเทศไทย จำกัด
ก่อนจะมาเริ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าในเวลาต่อมา ในชื่อ “คาเธ่ย์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์” เปิดสาขาเยาวราชแห่งเเรก เเละประสบความสำเร็จมาก จนกลายเป็นต้นเเบบให้สาขาอื่น
การขยายตัวของคาเธ่ย์เน้นเป็นห้างเล็กเจาะเข้าชุมชนที่ยังไม่มีห้างอื่น ๆ เน้นเจาะกลุ่มตลาดลูกค้ากลางถึงล่าง ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ของเล่นเด็ก หนังสือ เเละโรงภาพยนตร์
เเต่เริ่มเมื่อปี 2536 ประสบปัญหาดำเนินกิจการหลายอย่าง สาขาหลักสี่ถูกไฟไหม้หลังเปิดได้ไม่ถึง 2 ปี ส่วนสาขาบางเเคเริ่มมีคู่เเข่ง ต่อมาปีเดียวสาขาวงเวียนใหญ่ก็ต้องปิดดำเนินการ จนกระทั่งปี 2540 ฟางเส้นสุดท้ายของกิจการก็ขาดด้วยปัญหาต้มยำกุ้ง เเละถูกศาลสั่งล้มละลายปี 2543
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2557 บริษัท ห้างคาเธ่ย์ ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ จำกัด พ้นล้มละลายเเล้ว
พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
“พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” ชื่อนี้คือตำนานศูนย์อุปกรณ์ไอทีและคอมพิวเตอร์แห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย เเละเป็นห้างสรรพสินค้าเเห่งแรกที่พาลิฟต์เเก้วเข้ามาในเมืองไทย
เปิดให้บริการเมื่อปี 2527 สาขาเเรกคือ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” (เเต่เดิมชื่อ “ห้างสรรพสินค้าเอ็กซ์เซล” ก่อนเปลี่ยนเป็น “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า”) ดำเนินงานโดยบริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ที.ซี.ซี. ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี (เจ้าของมือแรกคือตระกูลบุนนาค ก่อนขายให้เจ้าสัว 1,000 ล้านบาท)
การก่อตั้งห้างพันธุ์ทิพย์มาพร้อม Timing ที่ดี เพราะช่วงปี 40 คอมพิวเตอร์บุคคลสำเร็จรูปมีราคาสูงลิ่ว จับต้องได้ยาก ผู้คนจึงต้องหาซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประกอบเอง ทำให้พันธุ์ทิพย์บูมมากในสมัยนั้น ทุกวันจะต้องเห็นผู้คนหอบอุปกรณ์เข้าออกห้าง
ช่วงหลังที่บรรดาห้างสรรพสินค้าเริ่มมีการเเข่งขันสูง พันธุ์ทิพย์พยายามขยายไปยังกลุ่ม niche market เปิดพื้นที่เช่าพระเครื่อง โซนปล่อยของมือสอง หาเอกลักษณ์ให้ห้าง
สาขาทั้งหมดของพันธุ์ทิพย์พลาซ่า คือ ประตูน้ำ บางกะปิ นนทบุรี และเชียงใหม่
เมื่อเวลาผ่านไปหมดยุคของการซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบ ต้องหอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปมา เเละเปรียบเทียบราคากับร้านนั้นร้านนี้ แต่คนหันไปซื้อโน้ตบุ๊กที่ราคาถูกลงเเล้ว อุปกรณ์ไอทีเองก็สามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้ อีกทั้งราคาซ่อมที่เเรงพอ ๆ กับซื้อใหม่ ทำให้คนไม่พึ่งพาการซ่อมให้เสียเวลาเเล้ว ห้างพันธุ์ทิพย์จึงไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไป
ปี 2559 พันธุ์ทิพย์เคยปรับโฉมเอาใจสายเกมมาเเล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการเปิดตัว “Pantip e-Sport Arena” เเต่กระเเสก็ได้เเค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถต้านทานยุคของอีคอมเมิร์ซได้
ด้านพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ ก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน ปรับโมเดลเป็น “Pantip e-Sport Arena” เหมือนกัน เเต่ก็ไม่สำเร็จ ในปี 2566 สาขานี้จึงต้องมุ่งไปในทิศทางเป็น Lifestyle Hub ประกอบด้วยโรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์รวมร้านอาหาร ตลาดนัดไลฟ์สไตล์เป็นหลัก
ขณะที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน ที่ปรับโมเดลไปก่อนเพื่อน ทำให้อยู่รอดมากกว่าเพื่อน เพราะมีศูนย์พระเป็นท่อน้ำเลี้ยง จนสาขานี้กลายเป็นแหล่งรวมวัตถุมงคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไปแล้ว
พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ ก็เรียนรู้จากสาขางามวงศ์วานที่ประสบความสำเร็จ นำโมเดลดึงศูนย์พระเข้ามาปรับใช้ อีกทั้งดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามา
ยิ่งในช่วงหลังโควิด-19 ข้างในพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำ ไม่เหลือเเม้เเต่ร่องรอยร้านค้า ไร้ผู้คน เเละเงียบเหงาหนักขึ้นไปอีก
พันธุ์ทิพย์หลายแห่งต้องดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนเเปลง เพราะคนเข้าน้อย ร้านค้าก็ทยอยย้ายออก เริ่มร้างผู้คน จนต้องปรับเปลี่ยนกันครั้งใหญ่ อย่างสาขาประตูน้ำที่เป็นเเห่งเเรกของห้าง ก็เปลี่ยนมาเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้า Wholesale กับคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของภูมิภาค เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “AEC Trade Center”
ทิ้งภาพจำห้างไอทีในตำนานไปตลอดกาล…
ความสำเร็จของห้างดังเหล่านี้ในสมัยก่อน เนื่องมาจากการเเข่งขันของห้างสรรพสินค้ายังมีน้อย อีกทั้งทำเลที่ตั้งของบางสาขาที่อยู่ในโซนรอบนอก ทำให้ได้ลูกค้าคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง เเละอาศัยห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ที่อยู่ใกล้ที่อาศัย เป็นเเหล่งท่องเที่ยวเดินพักผ่อน
อย่างเเถววงเวียนใหญ่เปรียบเสมือนจุดต่อรถ เหมือนอนุสาวรีย์ชัยฯ ในปัจจุบัน ประชากรรอบ ๆ จึงค่อนข้างหนาเเน่น ห้างก็พลอยได้รับอานิสงส์ อีกทั้งเมื่อ 20 ปีก่อน มีโรงงานในพื้นที่เยอะ เเต่เมื่อมีกฎหมายย้ายโรงงานไปเเถบปริมณฑล ผู้คนที่มาเดินห้างก็เริ่มซบเซาตามไปด้วย
ซึ่งหลายห้างเมื่อเจอกับทุนใหญ่สามเจ้า คือ Central The mall เเละ Robinson ก็เริ่มส่อเค้าลางไปไม่รอด ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งพื้นที่จอดรถ การเดินทาง สู้ห้างใหญ่ไม่ได้
เมื่อเวลาผ่านไป ห้างสรรพสินค้าที่เคยโด่งดังจึงเป็นเเค่ชื่อที่ถูกทิ้งไว้ในความทรงจำของใครหลายคน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



