หมดตัวไปเท่าไรกับแคมเปญดับเบิ้ลเดย์ที่ทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ต่างขนกลยุทธ์ลดราคาดึงดูดให้เราต้องเสียทรัพย์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจไว้ว่า ดับเบิ้ลเดย์นี้ จะไม่ช้อปอะไร
ไม่รวมถึงแคมเปญโปรโมชั่นอื่นๆ ที่ออกมาดึงดูดสร้างความถี่ในการซื้อแต่ละเดือน เช่น ส่งฟรี ลดราคาประจำเดือน และอื่น ๆ
เพื่อเป้าหมายคือการดึงลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า หรือเลือกหาสินค้าในแพลตฟอร์มตัวเองมากที่สุด ในความถี่ที่บ่อยที่สุด
บนพื้นฐานการสาดเงินที่ให้ผลลัพธ์ด้านรายได้ที่มากขึ้น จากการที่ผู้บริโภคติดในแพลตฟอร์มและเข้าไปซื้อสินค้าที่ต้องการอยู่เสมอ
จนทั้ง 2 แพลตฟอร์มเริ่มทำกำไรได้ เป็นครั้งแรก
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า
ลาซาด้า ทำกำไรครั้งแรกในปี 2564 ด้วยกำไร 226.89 ล้านบาท จากรายได้รวม 14,675.29 ล้าบาท
และปี 2565 มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 413.08 ล้านบาท มีรายได้รวม 20,675.45 ล้านบาท
ส่วนช้อปปี้ทำกำไรครั้งแรกในปี 2565 ด้วยกำไรสูงถึง 2,380.27 ล้านบาท และมีรายได้รวม 21,709.71 ล้านบาท
ผลรายได้และกำไรของทั้งสองแพลตฟอร์มอ้างอิงจากรายได้ของบริษัท ลาซาด้า จำกัด และบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น ไม่รวมบริษัทย่อยอื่น ๆ ในเครือ
แต่กว่าจะได้กำไรทั้งสองแพลตฟอร์มใช้เวลาหลายปีเช่นกัน
ลาซาด้าใช้เวลา 9 ปีถึงมีกำไร
ช้อปปี้ใช้เวลา 7 ปี
และในปีนี้ทั้งสองแพลตฟอร์มมีแผนสร้างกำไรเพิ่มขึ้นจากการเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม
เพราะทั้งคู่เหมือนตลาดที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าจำนวนมาก การขึ้นค่าบริการธรรมเนียมเป็นเหมือนการขึ้นค่าเช่าร้านค้าในตลาดในโลกออฟไลน์ที่จำเป็นต้องเก็บเพิ่มเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการพัฒนาบริการและอื่นๆ ให้กับแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นกว่าเดิม
และเมื่อมองไปที่จำนวนลูกค้าที่เข้ามาในแพลตฟอร์ม อ้างอิงจาก Similarweb พบว่าในเดือนเมษายน 2566 ลาซาด้ามีผู้เข้าชมในแพลตฟอร์ม 41.2 ล้านราย
ใช้เวลาเฉลี่ยในแพลตฟอร์ม 6.46 นาที
เปิดดูสินค้าและอื่น ๆ ในแพลตฟอร์มเฉลี่ย 6.62 หน้าก่อนออกจากแพลตฟอร์มไป
ส่วนช่องทางในการเข้าแพลตฟอร์ม 4 อันดับแรก มาจาก
เข้าแพลตฟอร์มโดยตรงผ่านการกดเข้าแอปฯ หรือพิมพ์ Url Website โดยตรง 53.6%
Organic Search 21.9%
Paid Search 9.7%
Social Media 7.8%
ส่วนช้อปปี้มีลูกค้าเข้าแพลตฟอร์ม 55.1 ล้านราย
ใช้เวลาเฉลี่ยในแพลตฟอร์ม 7.38 นาที
เปิดเข้ามาดูสินค้าและอื่น ๆ เฉลี่ย 7.23 หน้า
ช่องทางในการเข้าแพลตฟอร์ม 4 อันดับแรก มาจาก
เข้าแพลตฟอร์มโดยตรง 63.1%
Organic Search 17.2%
Paid Search 7.8%
Social Media 8.2%
และข้อมูลของ Similarweb ยังพบว่าลาซาด้ามีกลุ่มลูกค้าชายมากกว่าหญิง และช้อปปี้มีลูกค้าหญิงมากกว่าชาย
โดยอายุของลูกค้ากลุ่มหลักของทั้งคู่คือ 25-34 ปี
และเป็นที่น่าสนใจคือนอกเหนือจากลูกค้าไทยแล้วทั้งสองแพลตฟอร์มยังมีลูกค้าในประเทศอื่น ๆ ผ่านบริการ LazGo Global ของลาซาด้า และ Shopee International Platform ของช้อปปี้
เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะ 2 แพลตฟอร์ม ในประเทศจีน ลาซาด้ามีสัดส่วนลูกค้า 77.05% ช้อปปี้ 22.95%
สิงคโปร์ ลาซาด้ามีสัดส่วนลูกค้า 53.10% ช้อปปี้ 46.90% เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในวันนี้การแข่งขันของอีมาร์เก็ตเพลสในประเทศไทย มีเหลือเพียง 2 รายหลัก และยากที่จะมีรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด
ประกอบกับคนไทยมองการซื้อสินค้าผ่านอีมาร์เก็ตเพลสเป็นช่องทางที่สะดวกสบาย สามารถเปรียบเทียบสินค้าได้ง่าย สั่งซื้อเวลาไหนก็ได้ และมีสินค้าที่แบรนด์เป็นผู้มาจำหน่ายเองจำนวนมาก
การเติบโตของอีมาร์เก็ตเพลสจึงดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับกำไรของทั้งแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ขาดทุนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ