ทั้งที่เป็นคำสั้น ๆ แต่ ความสุข กลับอธิบายผ่านตัวอักษรได้ยาก เพราะแต่ละคนมีนิยามของคำคำนี้แตกต่างกัน และนิยามยังเปลี่ยนไปตามช่วงวัยอีกด้วย ทว่า การได้ออกเดินทางเปิดประสบการณ์กับสถานที่ใหม่

และไม่ต้องอุดอู้อยู่ที่ในแคบหรือทำอะไรซ้ำ ๆ ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างสุข ไม่ว่าเป็นคนในชาติ ภาษาใด และอายุเท่าไร โดยเมื่อนำมาผนวกเข้ากับการคมนาคมที่ทั่วถึงและการเครือข่ายการสื่อสารที่ก้าวหน้า จึงทำให้ผู้คนสามารถทำได้จากที่ใดก็ได้

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดกลุ่มคนทำงานไปเที่ยวไปหรือ Digital Nomad ซึ่งแม้มีหลายประเภทแต่ที่รู้จักกันมากสุดคือ Travel Blogger ที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเภทต่างๆ และสามารถทำเงินได้จากบทความและคลิปวิดีโอจนเป็นหนึ่งงานในฝันของคนยุคนี้

ตามข้อมูลที่มีการสำรวจระบุว่า ผู้ที่ผันตัวไปเป็น Digital Nomad เป็นคนรุ่นใหม่  การศึกษากับฐานะการเงินค่อนข้างดี และเป็นพนักงานสังกัดบริษัทมาก่อน

หลังพ้นสถานการณ์โควิด มีคนลาออกจากงานมา Digital Nomad เพิ่มขึ้น เพราะอยากคลายความอัดอั้นที่ไม่ได้ออกไปไหนเลยช่วงล็อกดาวน์ และคิดว่าการได้เที่ยวไปทำงานไป คือชีวิตที่มีความสุข นำมาสู่สมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) และดีกว่าการทำงานในระบบ

MBO Partners บริษัทที่ปรึกษาผู้ที่ทำงานอิสระ (Freelance) ในสหรัฐฯ ประเมินว่า ปี 2022 มี Digital Nomad ชาวอเมริกันหลายล้านคน กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ โดยเพิ่มขึ้นมามากถึง 131% จากปี 2019

ท่ามกลางข้อมูลว่า ประเทศหรือเมืองต่าง ๆ เช่น เกาหลีใต้และเวนิส ต่างก็ออกแคมเปญดึงดูด Digital Nomad

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย โดยข้อเสียของการเป็น Digital Nomad ก็ถูกซ่อนอยู่ใต้ฉากหน้า ภาพและคลิปวิดีโองานในฝัน การนั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยที่วิวรอบ ๆ เป็นหาดสวยน้ำใสหรือภูเขาเขียวขจีแทงทะลุมวลมหาเมฆลอยเอื่อยยามเช้านั่นเอง   

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลิกเป็น Digital Nomad เพราะล้ากับการต้องเดินทางแทบตลอดเวลาและไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ขณะเดียวกันเมื่อเดินทางบ่อย ๆ เข้าก็หวนกลับมานึกอยากอยู่ติดที่และอาจมองไกลไปถึงการตั้งรกราก

Lauren Juliff พนักงานขายในห้างสรรพสินค้าชาวอังกฤษที่ลาออกมาเป็น Digital Nomad กล่าวว่า ชีวิตการเป็น Digital Nomad กลุ่ม Travel Blogger ตรงตามฝันไว้ในช่วงแรก ๆ เพราะเพียงปีเดียวก็ทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้

แต่หลังเวลาผ่านไป ก็เผชิญกับปัญหาของ Digital Nomad ทั้งการหวนกลับไปอยู่ติดที่ ความเหงา เหนื่อยที่ต้องทำความรู้จักกับผู้คนหน้าใหม่ ๆ ประเภทต่าง ๆ อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังเครียดกับการหวนกลับไปอยู่ติดที่จนเก็บไปฝัน และเบื่อกับการพึ่งร้านอาหารท้องถิ่นตลอด 3 มื้อ ไม่ได้ออกกำลังกาย แถมบางครั้งก็ต้องปวดหัวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ขาด ๆ หาย ๆ ในบางประเทศที่สาธารณูปโภคไม่ได้ จนโพสต์งานไม่ได้อีกด้วย

ทั้งหมดทำให้เธอกลับมาทำงานในระบบ ขณะที่ Darius Foroux อดีต Digital Nomad หนุ่มชาวเนเธอร์แลนด์หมาด ๆ เผยว่า ตัดสินใจย้ายกลับเนเธอร์แลนด์มาเขียน Blog เพราะแบกรับค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่แพงเกินคาดของสเปน ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อไปไม่ไหว

Beverly Thompson นักวิชาการด้านสังคมวิทยาในสหรัฐฯ ที่ศึกษาเรื่อง Digital Nomad สรุปเรื่องของ Digital Nomad ไว้ว่า มีข้อเสียไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ แต่มันถูกซ่อนไว้ใต้ฉากหน้าสวยหรูของชีวิตในฝัน เที่ยวไปทำงานไป

ภาพการทำงานแสนสุขริมทะเลหรือทิวเขาสวยงาม รวมไปถึงคลิปชิมอาหารและท่องเที่ยวแปลกใหม่ท่วมโลกออนไลน์ จนลืมนึกกันไปว่า ต้องเผชิญกับความเครียด เหงา ล้าจากการเดินทางอยู่ตลอด และปัญหาค่าใช้จ่ายที่แพงขี้นในวิกฤตเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันไม่ใช่คนในทุกประเทศจะสามารถเป็น Digital Nomad ได้เพราะถ้าถือ Passport ของประเทศชื่อเสียงไม่ดีหรือรั้งท้ายในอันดับประเทศ Passport ทรงอิทธิพล ประเทศที่เดินทางไปได้แบบไม่ต้องขอ Visa ก็จะน้อย ซึ่งส่งผลให้ประเทศที่ทำงานไปเที่ยวไปน้อยลงตามไปด้วย

นี่ทำให้แม้คงจะมี Digital Nomad หน้าใหม่ทั่วโลกอยู่เรื่อย ๆ แต่การที่ไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตให้ลงตัวได้ จำนวนคนที่เลิกเป็น Digital Nomad แล้วหาทางลงหลักปักฐานในที่ใดที่หนึ่งในที่สุด ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน/bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online