KBTG กับการหาน่านน้ำใหม่ ทำไม เวียดนาม จึงเป็นจุดหมายที่อยากไป

หลังจากที่เคแบงก์เปิดสาขาแรกในเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อ ปลายปี 2564

กลางปี 2666 ถึงคราว KBTG เปิดสำนักงานใหญ่ที่เวียดนามในชื่อบริษัท KBTG Vietnam ที่เมืองโฮจิมินห์ อย่างเป็นทางการเช่นกัน

และ Marketeer ได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมงานเปิดตัวในครั้งนี้

KBTG Vietnam ถือเป็นสาขาที่ 2 ของ KBTG ตามแผนที่กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman KBTG วางไว้ตั้งแต่ปี 2564 ที่พาตัวเองออกจากประเทศไทย เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่ Regional Tech Company ในปี 2568

หลังจากที่KBTGเข้าเปิดธุรกิจนอกประเทศแห่งแรกที่จีนในชื่อบริษัท K-Tech ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน มาก่อนหน้านั้น

เหตุผลที่เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญของKBTGที่จะพาตัวเองสู่ Regional Tech Company มาจาก

1. ในปัจจุบันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมาจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโพเทนเชียลสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

ปีที่ผ่านมาเวียดนามเติบโตด้าน GDP มากถึง 8.02% เป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2540

และจะมีโพเทนเชียลต่อเนื่องในระยะยาว

โพเทนเชียลของเวียดนามส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมากถึง 56 ล้านคนเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด 99 ล้านคน

และเวียดนามยังมีการเติบโตของประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 15-64 ปีอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 ที่มีอยู่ 67.8 ล้านคน เพิ่มเป็น 71.0 ล้านคนในปี 2573

ซึ่งเป็นการเติบโตที่สวนทางจากไทยที่ประชากรวัยทำงานมีการลดลงอย่างช้า ๆ จากปี 2563 ไทยมีจำนวนประชากรวัยทำงาน 48.5 ล้านคน ลดลงเหลือ 45.4 ล้านคนในปี 2573

2. เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิต Tech Talent หรือคนที่มีทักษะในการสร้างและพัฒนาดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ในจำนวนที่สูง และมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่น

ข้อมูลจาก KBTG พบว่าในปี 2563 เวียดนามมีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาในภาควิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมมากถึง 22.6 ล้านคน เป็นจำนวนที่มากกว่าไทยที่มีเพียง 19.6 ล้านคน

และเวียดนามยังมีบุคลากรด้านไอทีและนักศึกษาสาขา STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์) มากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน

เป็นอันดับสอง ด้าน Coding Skills ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับสามใน AI Globally จากการจัดอันดับของ HackerRank เว็บไซต์คอมมูนิตี้ของโปรแกรมเมอร์

การพาตัวเองเข้าสู่เวียดนามมีความสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของ Tech Talent ของเวียดนามเข้ามาร่วมงานกับKBTGได้อย่างเต็มความสามารถ

และKBTGวางเป้าหมายว่าKBTG Vietnam ที่มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองโฮจิมินห์ และสำนักงานย่อยที่ฮานอยจะเป็น Regional Hub ที่จะร่วมทำงานกับKBTGในไทยและจีนในรูปแบบ Agile ดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญในแต่ละส่วนมาประกอบกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิค และทักษะด้านต่าง ๆ ที่สำคัญเช่น AI, Blockchain, Supply Chain, Coding Methodology เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธนาคารกสิกรไทยและKBTGอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ในฐานะผู้สร้างประสบการณ์ทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบให้กับลูกค้าไทย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ตอบโจทย์ธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยในการขยายตลาดการให้บริการทั้งในเวียดนามและภูมิภาค AEC+3 ในรูปแบบธนาคารดิจิทัล

เพราะ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย มองว่า Tech Talent ในเวียดนามของ KBTG มีจำนวนและศักยภาพมาก และเชื่อว่าในปี 2573 จะมีศักยภาพเพิ่มอีก 2 เท่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธนาคารในอนาคตจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยี และดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

แม้KBTG Vietnam จะวางตัวเองเป็น Regional Hub แต่ส่วนหนึ่งของKBTG Vietnam จะทำหน้าที่ซัปพอร์ตธุรกิจธนาคารกสิกรไทยในเวียดนามผ่านการพัฒนา K PLUS Vietnam บริการ Mobile Banking ที่เป็นเรือธงให้กับธนาคารกสิกรไทยในเวียดนามให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งกับลูกค้า พร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อข้อจำกัดด้านสาขาของธนาคารกสิกรไทยที่ยังมีจำนวนไม่มากในเวียดนามได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องจากธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารรายแรก ๆ ในเวียดนามที่ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางเวียดนาม (แบงก์ชาติเวียดนาม) ให้บริการเปิดบัญชีผ่านมือถือ โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร หลังจากที่แบงก์ชาติมีนโยบายอนุญาตให้ลูกค้าธนาคารสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ในธนาคารที่ได้รับอนุญาตได้

และความน่าสนใจของตลาดนี้คือคนเวียดนามมีความเป็น Digital Native มาก มีไลฟ์สไตล์อยู่บนโลกออนไลน์ จากการโตมาและอยู่กับมือถือเป็นหลัก และไม่เคยใช้ Internet Banking ที่เป็น Web base มาก่อน  

ประกอบกับ ชัช  เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เคยให้ข้อมูลในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาว่าคนวัยทำงานในเวียดนามมากกว่า 69% ไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในเอเชีย

ส่วนผู้มีบัญชีธนาคารจะไม่ใช้บริการธนาคารเพียงธนาคารเดียวเท่านั้น

จากโอกาสที่น่าสนใจทั้งหมดธนาคารกสิกรไทยจึงวางเป้าหมายว่า K PLUS Vietnam ที่KBTGVietnam นำ Core Technology ของ K PLUS ประเทศไทย มาพัฒนา Interface ต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการ โพเทนเชียลในตลาด และจริตของคนเวียดนาม

ซึ่งบางบริการ K PLUS ประเทศไทยไม่มี เช่น Digital Lending ที่ออกแบบให้พ่อค้าแม่ค้าเวียดนามโดยเฉพาะ

จะสามารถสร้างการเติบโตด้านผู้ใช้งานมากถึง 1.3 ล้านคนในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 600,000 ราย

และในปี 2570 K PLUS Vietnam จะมีผู้ใช้บริการถึง 8.4 ล้านราย

นอกจากนี้ KBTG Vietnam ยังมีโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย เช่น ขุนทอง ที่ให้บริการผ่าน LINE Chat มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้บริการในรูปแบบที่คล้าย ๆ กับ ขุนทอง เพื่อให้บริการบนแชต  Zalo ซึ่งเป็นแชตหลักที่คนเวียดนามใช้

รวมถึงบริการใช้จ่ายข้ามประเทศให้ลูกค้าในเวียดนามใช้ K PLUS Vietnam เมื่ออยู่ในประเทศไทยได้ และด้านดิจิทัลอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อเป็นพลังซัปพอร์ตให้ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นเป็น 1 ใน 20 ธนาคารที่ดีที่สุดในเวียดนาม

 

บรรยากาศในKBTG Vietnam

ห้องทำงาน ขัตติยา อินทรวิชัย ที่KBTG Vietnam

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online