ลาวญวน Re-Positioning ขายคอนเซ็ปต์อาหารอินโดจีนลูกผสม ยกแบรนด์ลุยยุโรป
ลาวญวน ในเครือเซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ปรับแบรนด์สตอรี่ใหม่ เน้นจุดขาย ‘อาหารอินโดจีน’ แบบวัฒนธรรมลูกผสม เซอร์เวย์ตลาดเตรียมลุยยุโรป
ธุรกิจอาหารยังคงเป็นธุรกิจหลักของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ด้วยสัดส่วนเกินกว่า 70% ของธุรกิจทั้งหมด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นบวก ดีมานด์ผู้บริโภคดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เปิดไตรมาสแรก เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป รายได้โต 32% รวม 913 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรเพิ่ม 374% อยู่ที่ 34 ล้านบาท
โดยเฉพาะเซกเมนต์อาหารเอเชีย มีเเนวโน้มการเติบโตที่ดี ผู้บริโภคเริ่มรู้จักในวงกว้างเเละให้ความสนใจกับอาหารประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อาทิ อาหารเวียดนาม อาหารพม่า อาหารชาวเขมร ช่วยให้ตลาดอาหารเอเชียโดยรวมมีเเนวโน้มที่ดีขึ้น
ลาวญวณ ร้านอาหารสไตล์อินโดจีน ในเครือ บริษัท เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็น กรุ๊ป ประกาศออกแบบกลยุทธ์แบรนด์ใหม่ เน้นจุดขายวัฒนธรรมแบบลูกผสม
ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลาวญวนอยู่มาครบสิบปี เเม้ไม่หวือหวา เเต่อยู่คู่คนไทยมาตลอดสิบปี ประจวบเหมาะกับเป็นเวลาที่คนรู้จักอาหารอาเซียนในวงกว้างเเล้ว เหมาะกับการหยิบลาวญวน มา Re-Positioning เล่าเรื่องให้สนุกมากขึ้น ปรับเเบรนด์สู่การเป็นอาหารอินโดจีน ที่ไม่ใช่เพียงอาหารชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ เเต่เป็นวัฒนธรรรมอาหารเเบบลูกผสม ในเเบบของเมืองนครพนม
“ที่ผ่านมาเรายังเล่าเรื่องได้ไม่สนุกพอ คนจึงยังไม่เข้าใจถึงการเป็นอาหารลูกผสมที่เป็นภาพชัดเจน ลาวญวนจึงต้องกลับมาตอกย้ำจุดขาย รีเรื่องราวเเบรนด์ใหม่ให้คนเห็นภาพอาหารที่มาจากเมืองนครพนมที่เป็นจุดตัดของสามประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม ให้ชัดขึ้น”
เดิมลาวญวณ เป็นซับเเบรนด์ที่ต่อยอดมาจาก ตำมั่ว โดยได้เพิ่มเมนูญวนตามแบบอาหารพื้นถิ่นของคนนครพนม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย ลาว เวียดนาม เป็นจุดตัดรสชาติที่เเตกต่างและหารับประทานที่ไหนไม่ได้ โดยที่ลาวญวนจะมองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้นกว่าตำมั่ว เเละเป็นลูกค้ากลุ่มครอบครัว ขณะที่ตำมั่วอยู่ในกลุ่มเพื่อนสาว
ศิรุวัฒน์เล่าต่อว่า ด้านมูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดส์ไทย สูงถึง 400,000 ล้านบาท โดยมีเซกเมนต์เมนูฮิตอย่าง ส้มตำ เป็นหนึ่งในหมวดหมู่ใหญ่ ที่ราว 16,000 ล้านบาท
จากการเข้าลงทุนในบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นการลงทุนในหมวดธุรกิจใหม่ของเซ็นกรุ๊ป ตั้งเเต่ปี 64 ช่วยเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น น้ำปลาร้า น้ำพริก เส้นหมี่โคราช
โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำปลาร้า ที่ส่งขายในยุโรป กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่การต่อยอดเเบรนด์ลาวญวน ในการบุกตลาดร้านอาหารในยุโรป
ศิรุวัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในตลาดต่างประเทศ บริษัทมีแบรนด์ตำมั่วอยู่ในตลาด CLMV ก่อนหน้าเเล้ว ใช้องค์ความรู้จากการเปิดสาขาต่างแดนมาใช้กับเเบรนด์ลาวญวน ซึ่งการเลือกใช้ลาวญวนบุกไปในยุโรป มาจากการศึกษาเส้นทางประเทศที่สามของชาวลาวเเละชาวเวียดนาม เวลาอพยพมีจุดมุ่งหมาย คือ สหรัฐฯ เเละยุโรปเท่านั้น
การนำเอาเเบรนด์ที่มีเล่าเรื่องวัฒนธรรมอาหารลุ่มน้ำโขงในยุโรป กลุ่มลูกค้าเหล่านี้สามารถเข้าใจได้โดยง่าย มองไว้ในการใช้จุดขายของการเป็นจุดรวมวัฒนธรรมไทย ลาว ญวน ได้รสชาติที่ต่างจากอาหารเวียดนามหรือลาวที่มีอยู่ก่อนในตลาดยุโรป
อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่ในขั้นตอนการ Survey โดยมีแบรนด์น้ำปลาร้าไปทำการตลาดในยุโรปก่อนเเล้ว บริษัทยังคงต้องรอดูสถานการณ์สงคราม ราคาน้ำมัน ต้นทุนวัตถุดิบ มองไว้ภายในสามปี
มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมองความพร้อมของตลาดหลังโควิด ดีมานด์เริ่มกลับมา การเเข่งขันตลาดอาหารก็ดุเดือดขึ้น เเต่ยังมีช่องโหว่สำหรับอาหารที่เป็นอินโดจีน หรือว่าอาหารที่มีความอีสานเเต่เเตกต่างด้วยวัตถุดิบใหม่ ๆ ยังคงมีไม่เยอะ บริษัทจึงเห็นสมควรในการ Re-Positioning ลาวญวนใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘The New Storytelling with New Experience’ สร้างการรับรู้ไปในวงกว้าง
การ Re-Positioning ครั้งนี้ เริ่มที่การตกเเต่งร้านใหม่ ปรับโฉม Store Experience ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Art of Mixing’ (วิถีอินโดจีน) ด้วยบรรยากาศและสถาปัตยกรรมกลิ่นอายนครพนม รูปแบบอาคารสไตล์ยุโรป ใช้คู่สีเขียวเหลือง พร้อมยูนิฟอร์มรูปแบบใหม่ นำร่องให้บริการในสาขาปิ่นเกล้า พระรามสอง เเละพระรามสาม
บริษัทยังคงคอนเซ็ปต์ชัดเจน คือ มุ่งเน้นการขยายสาขา จากการขายแฟรนไชส์ (Franchise) ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ร้านลาวญวน มีขนาดพื้นที่เริ่มตั้งแต่ 100 ตารางเมตร งบลงทุนแฟรนไชส์ต่อสาขาประมาณ 5 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ ตลาดในประเทศ ลาวญวนเน้นการขยายไปในโลเคชัน Hyper Market เช่น โลตัส บิ๊กซี โรบินสัน ตามหัวเมืองใหญ่ที่เป็น Landmark สำคัญของเเต่ละภาค
ปัจจุบัน ตำมั่ว– ลาวญวน มีสาขาไม่ต่ำกว่า 150 สาขา แบ่งเป็นร้านของบริษัทเอง 10% ที่เหลือคือร้านแฟรนไชส์ เฉพาะลาวญวนเปิดให้บริการทั้งหมด 27 สาขา แต่ละสาขาทำเงินได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000,00 บาทต่อเดือน
ตั้งเป้าเปิดเพิ่ม 7 แห่งในไทย เช่น ระยอง นครสวรรค์ พัทยา ศรีราชา เป็นต้น ภายในสิ้นปีนี้ส่งผลให้ลาวญวนมีสาขารวมทั้งสิ้น 35 สาขา
ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ประจำปี 2566 เข้าใกล้ 300 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 200 กว่าล้านบาท
“ผมทำธุรกิจอาหารมาเเล้วนับสิบปี หัวใจสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ หรือการทุ่มเงินโปรโมต แต่อยู่ได้เพราะอาหาร ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก อาหารอร่อย คือ การตลาดที่ดีที่สุด” ศิรุวัฒน์กล่าวสรุป
–
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ