Calbee เริ่มจากสร้างสรรค์อาหารเหลือทิ้ง จนเป็นแบรนด์ขนมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น

Calbee (คาลบี้) เป็นหนึ่งในแบรนด์ขนมยักษ์ใหญ่ขึ้นชื่อของประเทศญี่ปุ่น ที่หลายคนถ้าไปเที่ยวญี่ปุ่น ต้องมีผลิตภัณฑ์ของ Calbee อย่างหนึ่งติดไม้ติดมือกลับมาเป็นของฝากแน่นอน โดยเฉพาะมันฝรั่งจากฮอกไกโด Jaga Pokkuru (จากะป็อกคุรุ) ขนมยอดฮิตที่ทำให้หลายคนติดใจ

เพราะCalbeeเป็นผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1949 และได้ขยายกิจการไปทั่วโลก ซึ่งในปี 2022 Calbeeมียอดขายสุทธิประมาณ 245.4 พันล้านเยน นอกจากนี้Calbeeยังเป็นผู้ถือครองตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศญี่ปุ่นกว่า 54.7% เลยทีเดียว

โดยนอกจากขนมขบเคี้ยวแล้ว Calbeeยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ อย่างซีเรียลธัญพืชและอื่น ๆ อีกจำนวนมาก แต่กว่า 80% ของรายได้มาจากขนมขบเคี้ยว อย่างในปี 2019 Jaga Pokkuru มียอดขายในประเทศรวมกันประมาณ 6% ของยอดขายขนมขบเคี้ยวในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด

มารู้จักกับผู้ก่อตั้งแบรนด์Calbee Group กันดีกว่า

ผู้ที่ก่อตั้งอาณาจักรCalbeeแบรนด์ขนมขบเคี้ยวยักษ์ใหญ่ ก็คือ Takashi Matsuo (ทาคาชิ มัตสึโอะ) ผู้เกิดและโตในเมืองจังหวัด Hiroshima (ฮิโรชิมา)

Takashi Matsuo

เขาเป็นผู้มอบแนวคิด “การใช้ทรัพยากรอาหารที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์” ให้กับผลิตภัณฑ์ของCalbee ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ได้ผลิตตามแนวคิดนี้อย่าง JagaRico ก็ได้ผลิตจากการใช้มันฝรั่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานในการขายเป็นลูกมาผลิตเป็นขนมนั่นเอง

เนื่องจาก Takashi Matsuo ผู้ก่อตั้งCalbeeเกิดในครอบครัวที่ผลิตและจำหน่ายรำข้าวเป็นอาหารสัตว์และวัสดุอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อมาเมื่อเขาเข้ามารับช่วงต่อ ธุรกิจก็ได้เผชิญกับปัญหาทางการเงินพร้อมกับหนี้สินจำนวนมหาศาล เขาจึงได้มองหาทิศทางใหม่ในธุรกิจอย่างหนัก จากความพยายามของเขา เขาก็ได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมา

Takashi ได้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพโดยใช้รำข้าว ซึ่งขณะนั้นถือเป็นขยะอุตสาหกรรม เขาประดิษฐ์เครื่องสกัดจมูกข้าวจากรำข้าวและผสมจมูกข้าวกับหญ้าป่าและส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อผลิตและขายขนมจีบเพื่อใช้แทนอาหาร ซึ่งขนมจีบของเขาได้รับการชื่นชมจากผู้คนจำนวนมากที่ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในช่วงสงคราม

และสิ่งนี้ได้นำไปสู่อีกหนึ่งแนวคิดในการ “สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ” ของCalbeeในปัจจุบัน โดยชื่อCalbeeก็มาจากคำว่า “แคลเซียม” และ “วิตามินบี 1” ผสมกัน เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน

ในปี 1945 เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา บริษัทถูกบังคับให้เริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในปี 2490 ด้วยการผลิตและจำหน่ายลูกอมและคาราเมลที่ทำจากมันเทศและแป้งจมูกข้าว แต่ความเจริญรุ่งเรืองก็อยู่ได้ไม่นานนัก รสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคและภัยพิบัติต่าง ๆ ทำให้บริษัทตกอยู่ในอันตรายจากการล้มละลาย

แต่ Takashi พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะพลิกโฉมบริษัท เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เขาจึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นอกเหนือจากลูกอม แทนที่จะซื้อข้าวที่มีราคาแพงและเข้าถึงได้น้อย ซึ่งได้รับการปันส่วนในเวลานั้น เขามุ่งความสนใจไปที่แป้งสาลีราคาไม่แพง ซึ่งนำเข้าจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา เพื่อยืนยันว่าข้าวสาลีและข้าวมีส่วนประกอบเกือบเหมือนกัน

Takashi คิดว่าแป้งสาลีอาจทำแครกเกอร์อาราเระได้เช่นเดียวกับข้าว และหลังจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดเขาก็ได้สร้างคัปปะ อาราเระขึ้นในปี 1955 โดยเป็นแครกเกอร์ข้าวสาลีเครื่องแรกของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำว่า “กัปปะ” ซึ่งหมายถึงสัตว์ในตำนานจากนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น ที่ฟังดูไพเราะ จึงทำให้คัปปะ อาราเระกลายเป็นสินค้ายอดนิยมอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เขายังได้ผลิตและคิดค้นผลิตภัณฑ์จำนวนมากขึ้นมา อย่างวันหนึ่ง Takashi ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดินผ่านกุ้งที่กำลังตากแห้งบนชายฝั่งทะเลใน Seto ด้วยความที่เขาชื่นชอบกุ้งเป็นการส่วนตัว เขาจึงคิดว่าอาจจะทำแครกเกอร์ข้าวสาลีกับกุ้ง อาหารโปรดของเขาได้ และหลังจากการลองผิดลองถูกเป็นเวลานาน ในที่สุดข้าวเกรียบกุ้งคัปปะเอบิเซ็นก็เปิดตัวในปี 2507 ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ถือได้ว่า Takashi Matsuo เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มในการสร้างแบรนด์ที่ดี และการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาหารในท้องถิ่นให้เป็นอาหารที่มีมูลค่า จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมCalbeeถึงเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวยักษ์ใหญ่อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

Calbeeแบรนด์ขนมขบเคี้ยวใน Hiroshima กลายเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้อย่างไร

หลังจากเมืองฮิโรชิมาในญี่ปุ่นถูกทำลายด้วยระเบิดปรมาณู ภาวะทุพโภชนาการก็ทวีความรุนแรงขึ้น Takashi Matsuo ต้องการช่วยเลี้ยงผู้คนชาวญี่ปุ่น เขาจึงก่อตั้งCalbeeขึ้นมาในปี 1949

โดยCalbeeก่อตั้งขึ้นเพื่อเลี้ยงชาวญี่ปุ่นที่อดอยากในฮิโรชิมาในช่วงหลายปีหลังจากการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู เพราะ Takashi Matsuo เข้าใจและรับรู้ถึงการขาดแคลนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมไปถึงผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์จากการขาดวิตามิน ผัก ปลา เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ล้วนขาดตลาด ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มีอาการของโรคเหน็บชาและโรคขาดสารอาหารอื่น ๆ

เขาจึงได้ตั้งโรงงานแปรรูปอาหารมัตสึโอะ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์แรกของเขาที่มีชื่อว่า Calbee Caramel ซึ่งคำว่าCalbeeมีความสำคัญต่อเขา เนื่องจากเป็นการรวมตัวอักษรสามตัวแรกของคำว่า แคลเซียมและวิตามิน B1 ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญที่หลายคนขาดในสมัยนั้น

หลายปีต่อมา แม้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมาก แต่ Takashi ก็ยังคงรักษาความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมด้วยการมอบขนมที่มอบความสนุกสนานและสุขภาพที่ดีให้กับผู้คนเอาไว้ ส่งผลให้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยCalbeeก็ยังรักษาแนวคิดเหล่านี้ไว้ตามความมุ่งมั่นของ Takashi Matsuo นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมากถึงให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของCalbee เพราะพวกเขาเชื่อมโยงขนมขบเคี้ยวกับความทรงจำที่มีความสุขในวัยเด็ก อย่างแม่บ้านคนหนึ่งในโยโกฮามาได้กล่าวว่า แม่ของเธอมักจะเก็บห่อขนมCalbeeซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง และจะนำออกมาให้รับประทานเสมอเวลาที่หิว เธาจึงรู้สึกผูกพันกับCalbeeและตอนนี้เธอก็ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ของCalbeeให้ลูกสาวด้วย เพราะเธอเชื่อในชื่อเสียงด้านคุณภาพและความปลอดภัยของแบรนด์

นอกจากชื่อเสียงด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว Calbeeยังมีชื่อเสียงในด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยอีกด้วย เพราะทางแบรนด์เห็นความสำคัญในการขนส่งที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้

ในไม่ช้าCalbeeก็ขยายกิจการ ผงาดขึ้นมาท้าทายแบรนด์ดังของญี่ปุ่นอย่าง Glico และ Morinaga อย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างในปี 1955 Takashi และทีมวิจัยได้คิดค้นระบบเพื่อผลิตแครกเกอร์จากแป้งสาลี ทำให้Calbeeเปิดตัวผลิตภัณฑ์คัปปะ อาราเระ แครกเกอร์ ซึ่งตั้งชื่อตามภูตผีปีศาจในตำนานญี่ปุ่นเรื่อง “กัปปะ” หรือในปี 1964 Calbeeได้เปิดตัวข้าวเกรียบรสกุ้งคัปปะเอบิเซ็น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้บริษัทก้าวไปสู่ระดับสากล

3 ปีต่อมา ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบกุ้งได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น Takashi จึงได้นำผลงานของเขาไปที่งานแสดงขนมขบเคี้ยวในนิวยอร์ก จนทำให้Calbeeสามารถเปิดโรงงานผลิตและสำนักงานใหม่Calbee America ในแคลิฟอร์เนียในปี 1970 ได้สำเร็จ

ในปีนั้นถือเป็นการบุกตลาดต่างประเทศครั้งแรกของCalbeeและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ต่อมาCalbeeจึงได้สร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่และขยายกิจการไปยังประเทศไทย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ตามลำดับ

 

สิ่งนี้ส่งผลให้ยอดขายรวมของบริษัทอยู่ที่ 252.4 พันล้านเยน หรือ 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 โดยขนมขบเคี้ยวคิดเป็น 81 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด และตลาดต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 12 ของยอดขายขนมขบเคี้ยว

จากการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของCalbeeในตลาด พบว่า การพัฒนาเทคนิคการผลิตใหม่ ๆ เพื่อสร้างอาหารที่มีคุณภาพดีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ส่วนองค์ประกอบที่สำคัญอย่างที่สองคือ อำนาจการจัดหาวัตถุดิบของบริษัท โดยมีเกษตรกรประมาณ 1,900 รายทั่วประเทศญี่ปุ่นที่จัดหามันฝรั่งและส่วนผสมอื่น ๆ ให้กับ Calbee ทำให้บริษัทมีวัตถุดิบคุณภาพตลอดเวลา

และที่สำคัญอย่างที่สามคือ ความมุ่งมั่นของบริษัทในการขับเคลื่อนแบรนด์ไปข้างหน้าคือ ความพยายามของCalbeeในการเข้าถึงตลาดใหม่ในต่างประเทศและขยายตลาดที่มีอยู่ อย่างในเดือนกรกฎาคม 2018 บริษัทได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่มีจำหน่ายในประเทศจีนด้วยการเปิดตัว Mygla ซีเรียลปราศจากผลไม้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่ชอบรับประทานกราโนลาที่ไม่มีส่วนผสมของผลไม้ และภายในหนึ่งปีหลังจากเปิดตัวกราโนลาผลไม้ Frugra ในประเทศจีน ยอดขายก็พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมCalbeeถึงเป็นหนึ่งในบริษัทแบรนด์ขนมขบเคี้ยวยักษ์ใหญ่นั่นเอง

 

ที่มา:

https://en.wikipedia.org/wiki/Calbee#:~:text=Calbee%20headquarters-,History,changed%20to%20Calbee%20in%201955.

https://www.calbee.co.jp/en/corporate/history/company.php

https://www.scmp.com/lifestyle/food-drink/article/3012553/calbee-how-snack-foods-company-post-nuclear-hiroshima-became

https://www.calbee.co.jp/en/rd/dna/

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online