ประเทศลำดับต้น ๆ ของเอเชียที่ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็ทำให้โลกสะเทือนได้อยู่เสมอ และยังขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลกแล้วอย่างชัดเจน คือ จีน

นี่เป็นพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นตามลำดับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งไม้ต่อกันเป็นทอด ๆ จากอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา มาจนถึง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในการพัฒนาของกรอบเวลาดังกล่าวที่น่าสนใจ คือ ท่าทีบนเวทีโลก อันได้แก่ การตั้งกลุ่มความร่วมมือขึ้น และโครงการยักษ์

จีนในยุคของ หู จิ่นเทา ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2002-2012 นั้น มีการตั้งกลุ่มความร่วมมือขึ้น 2 กลุ่มคือ องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ที่มีจีน รัสเซีย กับประเทศแถบเอเชียกลางรวมถึงเอเชียใต้บางประเทศ

และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ ที่ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ (BRICS)

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง 

จากนั้นหลัง สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาก็ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวมากยิ่งขึ้น และส่งแบรนด์จีนโดยเฉพาะแบรนด์เทคโนโลยี เช่น Huawei Xiaomi และ Alibaba ไปตีตลาดโลก

ขณะที่การขยายปีกบนเวทีโลกก็เพิ่มขึ้นด้วย เริ่มจาก One Belt-One Road ในปี 2013 โครงการยักษ์เชื่อมโลกผ่านถนนหนทางและท่าเรือ พาดผ่านประเทศนับร้อยจากเอเชียไปถึงยุโรป ซึ่งมูลค่าการลงทุนในปัจจุบันเพิ่มเป็น 962,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 34 ล้านล้านบาท) แล้ว

 

จากนั้น สี จิ้นผิง ก็เดินหน้าตั้งกลุ่มความร่วมมืออีก 3 กลุ่มคือ Global Development Initiative ในปี 2021 ที่เน้นช่วยประเทศกำลังพัฒนาแก้ปัญหาความยากจนและสิ่งแวดล้อม 

ต่อด้วย Global Security Initiative ในปี 2022 ซึ่งเน้นไปที่ความมั่นคงและกิจการทางทหาร และล่าสุดปีนี้กับ Global Civilization Initiative ที่เน้นเรื่องทางวัฒนธรรมและภาษา

ปีนี้จีนยังเรียกเสียงฮือฮาด้วยการทำหน้าที่เป็นคนกลางพาให้ซาอุดีอาเบียกับอิหร่านคู่ขัดแย้งหลักในตะวันออกกลาง กลับมาพูดคุยและกระชับความสัมพันธ์กัน

Nikkei วิเคราะห์ผ่านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านกิจการต่างประเทศว่า นี่คือ Xivilization หรือการแสดงให้เห็นความศิวิไลซ์ ความกล้า และก้าวหน้า รวมถึงย้ำบทบาทผู้นำโลกในอีกขั้วหนึ่งของจีนยุคใหม่ตามนโยบาย สี จิ้นผิง

และส่งสัญญาณดัง ๆ ไปทั่วโลกว่า จีนยุคใหม่ไม่กลัวใครทั้งสิ้น โดยเฉพาะบรรดาประเทศตะวันตกและพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ เพราะเวลานี้จีนขึ้นเป็นประเทศใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ขณะที่ สี จิ้นผิง ถือเป็นผู้นำจีนที่ทรงอำนาจ ทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่และกลับสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ รองแค่ เหมา เจ๋อตุง เท่านั้น

และหากประเทศใดจับมือกับจีน จีนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประเทศที่สะเทือนจาก Xivilization มากสุดคือสหรัฐฯ นั่นเอง รองลงมาคือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ (G7) ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ

และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอำนาจของจีน

ทั้งด้วยการผุดโครงการ Build Back Better ของสหรัฐฯ  และ Global Gateway ของ EU และจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวกับจีนถูกนำมาหารืออยู่เสมอ

ขณะที่แทบทุกประเทศที่เหลือในโลกตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็หันมาสานสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่ม ASEAN ซึ่งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วยนั้น ก็ติดต่อทางการทูต การค้า และการทหารกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ แล้ว  

Nikkei วิเคราะห์ต่อว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนโดยไม่กลัวใครของจีน ทำให้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วใน 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ ระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก ส่วนอีกแบบหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตยกับสังคมนิยม

จากสถานการณ์ทั้งหมดทำให้เกิดระเบียบโลกใหม่ขึ้น โดยที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำในขั้วหนึ่ง และจีนเป็นแกนนำในอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งทางฝั่งจีนพร้อมหนุนทุกประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ทอดทิ้ง หรือขัดแย้งกับสหรัฐฯ

ดังที่เห็นได้จากการเอนไปทางรัสเซียมากกว่าในเรื่องสงครามยูเครน การเข้าไปเจรจากับกลุ่มตอลีบานแทบจะทันทีหลังสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน รวมไปถึงการเป็นกาวใจให้ซาอุฯ กับอิหร่าน

ทว่า สหรัฐฯ กับจีน ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันไปทุกเรื่อง และหากสถานการณ์ดีขึ้นก็พร้อมเปิดรับอีกฝ่าย ยืนยันได้จากการไปเยือนจีนของ Anthony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อกลางมิถุนายนที่ผ่านมา

ถือเป็นการไปเยือนครั้งแรกในรอบ 5 ปีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ กับจีนขัดแย้งกันเรื่องไต้หวัน และสหรัฐฯ ก็ยกระดับการปิดล้อมจีนทางเทคโนโลยีชิป

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ ก็ไม่อยากตกขบวนกระชับความสัมพันธ์กับจีน ผ่านการเดินทางไปเยือนของนักการเมืองระดับสูง เพราะการไปเยือนจีนของ Anthony Blinken มีขึ้นหลังจีนปูพรมแดงต้อนรับ Luiz Inacio Lula da Silva ของบราซิล

ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และนักการเมืองระดับสูงของประเทศเอเชียกลางอีกหลายคน/nikkei, wikipedia, thediplomat



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online