สำหรับชื่อล็อกซเล่ย์ หลายคนจะคิดแค่เพียง สินค้าไอที งานประมูลทางราชการ และตัวแทนจำหน่ายสินค้า FMCG เช่นน้ำมันกุ๊ก ตราช่าง หม่ำแซบ และอื่น ๆ
แต่ในธุรกิจของล็อกซเลย์ยังมีร้านอาหารปิ้งย่าง ที่ชื่อว่า WaQ Yakiniku ในนั้น และปัจจุบันมี 4 สาขา ดิ เอ็กซ์เพลส กาญจนาภิเษก, เดอะการ์เด้น 5 แยกคลองเตย, เอสพลานาด รัชดา และเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนต์
เหตุผลที่ล็อกซเลย์เข้ามาทำธุรกิจ WaQ Yakiniku สุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า มาจากความต้องการนำธุรกิจอาหารเป็นขาธุรกิจที่เข้ามาเสริมรายได้
จากรายได้หลักที่มาจากหน่วยงานราชการและการประมูล ซึ่งการประมูลเป็นธุรกิจที่มีขึ้นและลง ชนะการประมูล และผิดหวังกลับไป
ซึ่งรายได้ที่มาจากการประมูลจึงเป็นรายได้ที่ไม่มั่นคง เพราะเมื่อไม่สามารถชนะการประมูลได้ นั่นหมายถึงรายได้ธุรกิจได้หายไป
สุรช ล่ำซำ จึงมองว่าธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เข้ามาเสริมพอร์ตรายได้บาลานซ์ธุรกิจให้กับล็อกซเลย์ได้
แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจร้านอาหารของล็อกซเล่ย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2555 ในชื่อร้าน อัย เจแปนนิส ซึ่งเป็นร้านอาหารในรูปแบบช็อปอินช้อป ที่รวมอาหารญี่ปุ่น 5 แบรนด์ 5 ประเภทเข้าด้วยกัน เช่น ชาบู พิซซ่าญี่ปุ่นทปปันยา และอื่น ๆ รวมกันในที่เดียว
ก่อนที่จะขยายไปสู่ร้านปิ้งย่างในรูปแบบยากินิคุที่ชื่อ WaQ Yakiniku ในปี 2556
ซึ่งการเปิด อัย เจแปนนิส สุรช ล่ำซำ ยอมรับว่าเป็นร้านที่ใช้ต้นทุนสูง และคอนเซ็ปต์ร้านอาหารในรูปแบบช็อปอินช็อปคนไทยยังไม่ยอมรับมากนัก
ทำให้ล็อกซเล่ย์ยุบธุรกิจอัย เจแปนนิส ไป เหลือเพียงแบรนด์ WaQ ไว้ จากการมองเห็นโอกาสทางการตลาด และความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งปัจจุบัน WaQ Yakiniku สามารถเลี้ยงตัวเองได้จนมีกำไร ด้วยรายได้ปีที่ผ่านมา 71.86 ล้านบาท กำไร 5.15 ล้านบาท
ส่วนในอนาคตสุรชมีความต้องการขยายสาขา WaQ Yakiniku อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกในทำเลที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก
พร้อมกับขายวัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาเข้าถึงได้
เพราะสุรชเชื่อมั่นว่า WaQ Yakiniku เป็น Success story ของ ล็อกซเล่ย์
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ