หลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป โลกก็กลับเป็นมาปกติ และผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตกันเหมือนที่เคยเป็นมา ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็กลับมาเดินหน้าอย่างไม่มีอะไรกั้นได้เสียที ซึ่งในจำนวนนี้มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมอยู่ด้วย

หนึ่งในกลุ่มหนังที่น่าสนใจของปีนี้คือหนังที่ต่อยอดมาจากของเล่นดัง ๆ อย่าง Transformers : Rise of the Beasts, Barbie และ Teenage Mutant Ninja Turtles : Mutant Mayhem

เพราะนอกจากเป็นการนำของเล่นมาเป็นหนัง เอาใจคอหนัง คอของเล่นแล้ว Toy line movie marketing ยังเป็นแผนการตลาดแบบเล่นใหญ่ผ่านสื่อบันเทิง

และสามารถกระตุ้นยอดขายได้อย่างชัดเจนตลอดช่วงที่หนังเข้าฉายให้กับของเล่นแบรนด์ Transformers, Barbie และ Teenage Mutant Ninja Turtles อีกด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ของเล่นแต่ละตัวก็ไม่ต่างจากแบรนด์สินค้าที่แตกไลน์ออกมามากมายและอยู่มาแล้วหลายสิบปี ดังนั้น จึงมีเรื่องราวมากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ที่ Toy line movie marketing ได้กลับมาใช้อีกครั้ง

 

Transformers

Transformers เริ่มจากการเป็นของเล่นกลุ่มหุ่นยนต์แปลงร่างในชื่อ Diaclone และ Microchange ของ Takara ค่ายของเล่นญี่ปุ่นที่ Hasbro บริษัทร่วมในธุรกิจเดียวกันสัญชาติอเมริกัน นำเข้ามาขายในสหรัฐฯ

แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Transformers ซึ่งแปลว่า ผู้เปลี่ยนรูปร่าง ตรงตามรูปแบบการเล่นของมันนั่นเอง

Shoji Kawamori

เพื่อสลัดความเป็นญี่ปุ่นของเล่นจากผลงานการออกแบบคาแรกเตอร์ของ Shoji Kawamori ซึ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นเคยออกแบบคาแรกเตอร์หุ่นยนต์ให้ Macross การ์ตูนหุ่นยนต์แปลงร่างญี่ปุ่นมาแล้ว และทำให้แคมเปญโปรโมตแน่นขึ้น

Hasbro จึงได้ว่าจ้างให้ค่ายการ์ตูน Marvel ทำการ์ตูน ทั้งแบบภาพยนตร์ และซีรีส์โทรทัศน์ออกมาในยุค 80

แนวทางดังกล่าวถือเป็นแผนโปรโมตที่ประสบความสำเร็จ จนไลน์ของเล่น Transformers ขายดิบขายดี นับจากวางตลาดเมื่อปี 1984 ต่อเนื่องมาถึงยุค 90 และยังถือเป็นความทรงจำดี ๆ ของคนที่เกิดและโตมาในยุค 80 และ 90

ข้ามมาปี 2007 ฝันของเหล่า Fan boy ที่อยากเห็น Transformers กลายเป็นหนังสมจริง ก็เป็นจริง หลังหนังชื่อเดียวกันจากฝีมือกำกับของ Michael Bay

Michael Bay

หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำเงินได้ 790 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,000 ล้านบาท) มากเป็นอันดับ 5 ทั่วโลกของปีนั้น

ต่อมาก็มีหนัง Transformers เฉพาะที่เป็นเส้นเรื่องหลัก ออกมาอีก 5 ภาค โดย Transformers : Rise of the Beasts ภาคล่าสุดฉายไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา Michael Bay ส่งไม้ต่อให้ Steven Caper Jr. มากุมบังเหียน

Steven Caper Jr.

หนังจากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,800 ล้านบาท) เรื่องนี้ลาโรงไปด้วยตัวเลขรายได้ทั่วโลก 421 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,400 ล้านบาท) ท่ามกลางรายงานว่า จะมีภาคต่อของภาคนี้ออกมาอีก 2 เรื่อง

 

Barbie

ถัดจาก Transformers ภาคล่าสุด คอหนังผู้ชายก็ต้องทำหน้าที่แฟนที่ดีให้ฝ่ายหญิงควงไปดู Barbie หนังจากแบรนด์ตุ๊กตาดังสุดในโลก ที่เข้าฉายปลายกรกฎาคมปีนี้

สำหรับตัวของเล่นมาจากไอเดียของ Ruth Handler นักธุรกิจหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทของเล่น Mattel ร่วมกับ Elliot Handler สามีของเธอ

Ruth Handler

เรื่องราวของ Barbie ที่วางตลาดเมื่อปี 1959 เต็มไปด้วยเกร็ดน่าสนใจมากมาย เริ่มจาก Ruth Handler ได้ไอเดียผลิตตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิง หลังไปเห็นตุ๊กตาจาก Bild Lili ตัวการ์ตูนผู้หญิงแนวเซ็กซี่ของ Bild หนังสือพิมพ์แนว Tabloid ภาษาเยอรมันที่วางขายทั่วยุโรป

Ruth Handler สั่งให้ทีมงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ Mattel ที่มี Jack Ryan อดีตวิศวกรบริษัทอาวุธ เป็นหัวเรือใหญ่ นำตุ๊กตา Bild Lili มาปรับให้เอวคอดลง คอยาว และหุ่นเพรียวขึ้น เพื่อให้ใส่เสื้อ สร้อยคอ และเสื้อผ้าได้ง่าย พร้อมเล็งขายกลุ่มเด็กหญิงก่อนวัยรุ่น  

ช่วงแรกยอดขาย Barbie ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อเล่นลูกสาวของ Ruth Handler เองไม่ดีเอาเสียเลย เพราะบรรดาแม่ ๆ มองว่าทำให้ลูกสาวแก่แดดเกินไป แต่ผู้บริหารหญิงเก่งเชื้อสายโปแลนด์ก็ไม่ย่อท้อ และสั่งให้ทีมการตลาดเค้นไอเดียการตลาดออกมา

ที่สุดทีมการตลาดก็ทำแคมเปญสื่อว่า Barbie จะทำให้เด็กหญิงได้เห็นถึงภาพของตัวเองในอนาคตและได้แต่งงานกับผู้ชายดี ๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของแม่ยุคนั้นที่อยากให้ลูก ๆ ได้มีชีวิตสมรสดีและครอบครัวมีความสุขพอดี

จากนั้น Barbie ก็กลายเป็นของเล่นขายดี พร้อมเสื้อผ้าหน้าผมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็มีกระแสวิจารณ์ว่ายังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะมีแต่ผู้หญิงผมบลอนด์ และผิวขาว เท่านั้น

ในส่วนของแผนการตลาดผ่านคอนเทนต์บันเทิงของ Barbie ประเดิมด้วย Barbie and the Rockers : Out of This World หนังการ์ตูนออกอากาศทางโทรทัศน์ในปี 1987 แล้วตามด้วยซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์อีกมากมาย

Greta Gerwik

ข้ามมากรกฎาคมปีนี้ฝันของแฟน ๆ Barbie ทั่วโลกที่อยากดูหนังคนแสดง (Live action movie) ก็เป็นจริง โดยหนังชื่อเดียวกับตัวของเล่น ที่ Greta Gerwik กำกับและ Margot Robbie สวมบทเป็น Barbie มีคิวออกฉาย

เกร็ดน่าสนใจของหนัง Barbie มีมากมาย เช่น เป็นหนังที่ใช้สีชมพูสะท้อนแสงมากท่ามกลางการขนส่งที่ติดช่วงโควิดตอนถ่ายทำ จึงทำให้สีดังกล่าวทั่วโลกขาดตลาด

ต่อด้วยตัวหนังซึ่งเป็นหนังแบบ Live action ของ Barbie เรื่องแรก มีการทำตลาดกับสินค้ามากกว่า 100 แบรนด์ ไล่ตั้งแต่อาหาร (Burger King) ไปจนถึงแพลตฟอร์มจองที่พัก (Airbnb) ที่เปิดจองบ้าน Barbie 

ถือเป็นแผนการโปรโมตแบบ Toy line movie marketing ได้อย่างคุ้มค่า

แต่ก็น่าเสียดายว่า Barbie Girls ของ Aqua วงแนว Pop Dance เดนมาร์กที่ดังมากช่วงปลายยุค 90 ซึ่งทั้งเนื้อเพลงและ MV ก็มี “ความ Barbie” สุด ทำได้แค่แทรกอยู่ในเพลง Barbie World เพลงนำของหนังเท่านั้น

เพราะวง Aqua เจ็บปวดจากคดีความเรื่องลิขสิทธิ์กับ Mattel แม้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงทำทุกทางเพื่อใหเ้พลงดังเพลงนี้ได้นำมาใช้ในหนังแล้วก็ตาม  

กระแสของหนัง Barbie ยังทำให้การแต่งตัวด้วยชมพูสะท้อนแสงทั้งตัว หรือ Barbiecore กลายเป็นเทรนด์ในหมู่คนดังของ Hollywood

แฟชั่น Barbiecore

และช่วยส่งให้มูลค่าแบรนด์ของ Barbie เพิ่มเป็น 701 ล้านดอลลาร์ (ราว 24,000 ล้านบาท) ถือเป็นแบรนด์ของเล่นมูลค่ามากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ท่ามกลางไลน์ตุ๊กตาใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผิวดำ คนท้วม หรือคนพิการ สอดคล้องกับเทรนด์ความสวยงามยุคปัจจุบัน

Barbieheimer

ขณะเดียวกันการฉายชนกับ Oppenheimer หนังว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อเมริกันคนดังที่คิดค้นระเบิดปรมาณูจากการกำกับของ Cristopher Nolan ยังทำให้เกิดเป็นกระแส Barbieheimer ซึ่งคอหนังจับตาว่าเรื่องไหนจะทำรายได้มากกว่ากันอีกด้วย

 

Teenage Mutant Ninja Turtles

ความฟินของคอหนังและแฟน ๆ ของเล่นปีนี้ ไม่ได้จบลงตรงที่การขึ้นจออีกครั้งของ Transformers และการขึ้นจอครั้งแรกของ Barbie เท่านั้น เพราะมีการขึ้นจอครั้งล่าสุด “เต่านินจา” รวมอยู่ด้วย ผ่านหนังแบบ CG animation ในชื่อTeenage Mutant Ninja Turtles : Mutant Mayhem

Teenage Mutant Ninja Turtles หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า TMNT และชาวไทยแบบแปลตรง ๆ ตามชื่อเรื่องว่า เต่านินจา เริ่มจากคอนเทนต์ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนโดย Kevin Eastman และ Peter Laird เมื่อปี 1984 ซึ่งเนื้อเรื่องล้อเลียนการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่วัยรุ่น

Kevin Eastman และ Peter Laird

อย่าง New Teen, Titan, Uncanny X-Men และนินจาใน Daredevils ที่ออกมาในช่วงนั้น ท่ามกลางเทรนด์เรื่องนินจาจากญี่ปุ่นในหนังอเมริกันหลายต่อหลายเรื่อง 

แต่ที่ทำให้เรื่องนี้แปลกกว่าการ์ตูนยุคนั้น คือ กลุ่มตัวละครหลักเป็นเต่าในท่อระบายน้ำกลายพันธ์ุจากสารกัมมันตรังสี ที่ถูกฝึกวิชานินจาจากอาจารย์หนูซึ่งก็กลายพันธ์ุเช่นกัน และยังชอบกินพิซซ่า

แถมเต่านินจาทั้ง 4 ก็มีชื่อเป็นศิลปินดังชาวอิตาเลียนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Ranaissance) ที่ประกอบไปอีกด้วย Leonardo, Michealangelo, Nonatello และ Raphael อีกด้วย 

การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ผสมทั้งความอเมริกัน ญี่ปุ่น และอิตาลี ซึ่งมีฉากหลังเป็นนครนิวยอร์ก ไปเตะตาค่ายของเล่น Playmates Toys จึงเข้ามาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตของเล่นในปี 1987 และทำซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์เพื่อใช้โปรโมต

ส่วนผสมสุดแปลกของเรื่องราวและเทรนด์การ์ตูนจากของเล่นอย่าง He-Man, GI Joe และ Transformers ทำให้ซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์ของ TMNT กลายเป็นอีกหนึ่งการ์ตูนอเมริกันดังยุค 80 ช่วยส่งให้ของเล่นขายดี

ปี 1990 TMNT ก็ได้กลายเป็นหนังแบบ Live action โดยปรากฏว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ทำเงินไปถึง 202 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,900 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) ตรงข้ามกับ He-Man หนังจากการ์ตูนอีกเรื่องที่ออกฉายเมื่อปี 1987 ซึ่งขาดทุน

ทั้งที่ใช้ทุนสร้างเพียง 13 ล้านดอลลาร์ (ราว 445 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) เป็นของค่ายหนังอิสระ แถม TMNT ก็ได้กลายเป็นหนังแบบ Live action เรื่องแรก ต้องให้นักแสดงใส่เต่านินจาสีเขียวทำจากยาง ส่วนหน้าก็ต้องใช้กลไกบังคับอีกที เพราะ CG ขณะนั้นยังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน

จากนั้น TMNT ก็ถูกนำมาทำเป็นหนังและการ์ตูนอีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยในส่วนของหนังทำต่อมาอีก 6 เรื่อง แบ่งเป็นแบบ Live action 4 เรื่องในปี 1991, 1993, 2014 และ 2016 กับแบบ CG Animation เมื่อปี 2007

และล่าสุดที่เหล่าเต่านินจาจะได้มาปราบเหล่าร้ายและประสานเสียงว่า Cowabanga อีกครั้งหนังแบบCG Animation ในถภาค Teenage Mutant Ninja Turtles : Mutant Mayhem ซึ่งวางคิวฉายไว้ช่วงสิงหาคมปีนี้/cnn, cnbc, wikipedia, theguardian, bbc, brandirectory



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online