สายน้ำเจ้าพระยา กำลังสร้างตำนานบทใหม่อีกครั้งบนพื้นที่เก่าแก่ของโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ติดแม่น้ำฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย – เยาวราช
ที่ดินแปลงนี้คือท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” จำนวน 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร ของตระกูลหวั่งหลี และในฐานะเจ้าของต้องการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปลุกชีวิตให้มรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นคืนชีวิตชีวาอีกครั้ง ในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ตัวโครงการจะประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร – คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่สถานที่พักผ่อน และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยผู้ที่ดูแลโครงการสำคัญของตระกูล “หวั่งหลี” โครงการนี้คือ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี Project Director ที่เริ่มเข้ามาพัฒนาสถานที่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560


รุจิราภรณ์ กล่าวว่า ทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า จะยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว จึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียน นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด
“เราตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้ “ล้ง 1919” กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ที่นอกจากจะเป็นความภูมิใจของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเองแล้ว ยังรวมถึงลูกหลานชาวไทยจีนทุกคนด้วย”
สำหรับการอนุรักษ์ การบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพ ที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนขอบประตูและหน้าต่างให้คงสภาพเดิมโดยใช้วิธีแบบโบราณ ด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด
ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น ผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมายาช่วงรอยต่อ ที่แตกเพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม และเก็บรักษาวัสดุเดิมไว้ให้ได้มากที่ สำคัญคือต้องรักษารูปทรงเดิมไว้
โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ประกอบไปด้วยส่วนประกอบสำคัญดังนี้
1. ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 180 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวจีนในแผ่นดินไทย
2. อาคารจัดงานอีเว้นท์ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ
3. ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
4. Co-Working Space
5. ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ งานฝีมือ จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่
6. ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ อาทิ ร้านนายห้าง, ร้านอาหาร โรงสี, ร้านกาฟงกาแฟ ฯลฯ
7. บริเวณที่นั่งพักผ่อนระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา
8. ท่าเรือสัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยา
9. ศิลปวัฒนธรรม อาทิ อาคารไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ, ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันจีน
10.ท่าเรือหวั่งหลี ซึ่งเป็นท่าเรือส่วนบุคคลสำหรับเดินทางทางน้ำมายัง “ล้ง 1919” โดยเฉพาะ
ประวัติความเป็นมา
ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่นี้ว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่าน ได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ใช้เป็นท่าเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในท้องทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย มาเทียบท่าเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่ท่านี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ
ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อยๆ ลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลีถึงเมื่อปี พ.ศ.2559 เป็นโกดังสำหรับ เก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าสำหรับคนงานในพื้นที่ และศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน
รูปแบบสถาปัตยกรรม
“ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” (三 合 院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์
ตัวอาคารถูกใช้สำหรับหลายวัตถุประสงค์ อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธานเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ส่วนอาคารอีก 2 หลังที่ตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อจากอาคารทั้ง 2 ข้าง เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนงาน
ด้วยคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ซึ่งเป็นอาคารแถวที่ออกแบบด้วยการวางผังสถาปัตยกรรม “ซาน เหอ หยวน” แบบจีนโบราณ หลังสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยศิลปะภาพวาดลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิธีชีวิตชาวจีนรอบวงกบหน้าต่าง ซึ่งมีอายุเก่าแก่ กว่า 180 ปี “ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงถูกยกฐานะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย ลูกหลานของตระกูลหวั่งหลีผู้เป็นเจ้าของถือครองจึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน โครงการบูรณะท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ขึ้น จึงได้ริเริ่มขึ้น
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ