ปีที่ผ่านมาตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีมูลค่า 68,000 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 13 ล้านราย

ส่วนปีนี้ทรูออนไลน์คาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโต 5%

การเติบโตของตลาดบรอดแบนด์เป็นการเติบโตในด้านจำนวนผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการบริการรายเดือนต่อราย หรือ ARPU (Average Revenue Per User) ที่เพิ่มสูงขึ้น

ด้านจำนวนผู้ใช้รายใหม่เติบโตจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศไทยที่มีเพียง 58% ของครัวเรือนทั้งหมด

ด้าน ARPU เติบโตจากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคที่ในปัจจุบันมีดีไวซ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านที่เพิ่มมากขึ้นจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเชื่อมต่อดีไวซ์เฉลี่ย 3-4 ดีไวซ์ต่อครัวเรือน เป็น 6-7 ดีไวซ์ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะอัปเกรดแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ใช้อยู่เป็นแพ็กเกจที่มีราคาสูงขึ้น เพื่อแลกกับความเร็วในการใช้งาน

ประกอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ วางกลยุทธ์เพิ่มนำเสนอบริการที่เป็น Benefit เพิ่มเติมผ่านแพ็กเกจในรูปแบบต่าง ๆ ที่มากกว่าแพ็กเกจที่เป็นสแตนดาร์ด เช่นการบันเดิ้ลกับคอนเทนต์และดีไวซ์, บริการเช่าดีไวซ์ และอื่น ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นต่อเดือน เพื่อแลกกับบริการที่เพิ่มเติมจากบริการทั่วไป

แม้ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะมีการเติบโตตามที่กล่าวมา แต่ตลาดนี้มีความท้าทายในเรื่องการแข่งขันของผู้บริการทั้งการแข่งขันด้านราคา และการให้ Benefit กับลูกค้าที่ใช้งาน รวมถึงกลยุทธ์ขายพ่วงไปกับแพ็กเกจมือถือ เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ที่มาจากครัวเรือนที่ไม่เคยติดตั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มาก่อน ลูกค้าเก่าที่ย้ายบ้านใหม่ และต้องการติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน และลูกค้าจากคู่แข่ง ไปพร้อมกับรักษาฐานลูกค้าเดิมให้อยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบจากสงครามราคาและโปรโมชันใต้ดิน เช่น แพ็กเกจรายเดือน 299 บาท ส่วนลดแพ็กเกจย้ายค่าย และลูกค้าใหม่ จน ARPU มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดก่อนที่จะค่อย ๆ ขยับ ARPU เพิ่มขึ้นผ่านการอัปเกรดแพ็กเกจของผู้บริโภค และสงครามราคาที่ตัดราคาอย่างรุนแรงลดลง

ยกตัวอย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีมูฟเมนต์ในตลาดสูงอย่างทรูออนไลน์ และเอไอเอสไฟเบอร์

ทรูออนไลน์

ในปี 2564 มี ARPU ที่ 522 บาท

ปี 2565 มี ARPU ที่ 470 บาท

ไตรมาส 1 ปี 2566 มี ARPU ที่ 463 บาท

ไตรมาส 2 ปี 2566 มี ARPU ที่ 475 บาท

 

เอไอเอสไฟเบอร์

ไตรมาส 4 ปี 2564 มี ARPU 444 บาท

ไตรมาส 4 ปี 2565 มี ARPU 407 บาท

ไตรมาส 1 ปี 2566 มี ARPU ที่ 407 บาท

ไตรมาส 2 ปี 2566 มี ARPU ที่ 414 บาท

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงด้าน ARPU ที่เพิ่มขึ้น

แต่ถ้ามองไปที่จำนวนลูกค้าในปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงด้านจำนวนลูกค้าที่สร้างผลกระทบให้กับผู้นำตลาดอันดับหนึ่งอย่างทรูออนไลน์ไม่น้อย

ในปี 2565 ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีจำนวนลูกค้า 13 ล้านราย แบ่งเป็น

ทรูออนไลน์ 37% ด้วยจำนวนลูกค้าสิ้นปี 2565 ที่ 4.97 ล้านราย

เอไอเอสไฟเบอร์ 16% จำนวนลูกค้าสิ้นปี 2.17 ล้านราย

ทรีบีบี 18% จำนวนลูกค้าสิ้นปี 2.34 ล้านราย

เอ็นที 15%

ส่วนปัจจุบันทรูออนไลน์มีลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด อ้างอิงจากไตรมาส 2/2566

ทรูมีลูกค้าเหลือเพียง 3.82 ล้านราย

เอไอเอสไฟเบอร์ มีลูกค้า 2.33 ล้านราย

ส่วนทรีบีบีและเอ็นที ณ ปัจจุบันยังไม่เปิดเผยข้อมูล

 

การลดลงของลูกค้าทรูออนไลน์จนเห็นได้ชัดส่วนใหญ่มาจากการหายไปของลูกค้าแพ็กเกจราคาประหยัด เช่น แพ็กเกจราคา 299 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวไปกับราคาค่าบริการ และทรูออนไลน์มีหนี้สูญส่วนหนึ่งจากลูกค้ากลุ่มนี้ที่ไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนด้วยเช่นกัน

เมื่อลูกค้าทรูออนไลน์ลดลง บนการแข่งขันที่เอไอเอสไฟเบอร์สามารถเกณฑ์ลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ประกอบกับในอนาคตเอไอเอสสามารถซื้อหุ้นทรีบีบีได้ เอไอเอสจะมีความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากเครือข่ายของทรีบีบี และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากลูกค้าของทรีบีบีเข้ามาด้วยเช่นกัน

การเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของทรูอาจจะสะดุดจากการเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดได้ ซึ่งทางออกของทรูคือการเร่งหาลูกค้าใหม่ที่เป็นพาวเวอร์ยูสเซอร์ และเพิ่มเติมรายได้จากลูกค้าเก่าให้มากขึ้น

ปัจจุบันทรูออนไลน์ปรับกลยุทธ์ทำตลาดผ่านแนวทาง 4S ประกอบด้วย

Speed and Stability นำเสนอความเร็วและความเสถียร ใช้งานครอบคลุมในบ้าน ด้วยเทคโนโลยี AI ตรวจสอบการเดินทางของอินเทอร์เน็ตจากดีไวซ์ไปที่ชุมสาย และแจ้งช่างเทคนิคอลเข้ามาแก้ไขเมื่อเครือข่ายมีปัญหา

Service ส่งช่างแก้ไขปัญหาการใช้งานภายใน 24 ชม.

Synergy Package สองเดือนที่ผ่านมาทรูออนไลน์มีการออกแพ็กเกจใหม่ในตลาดให้ลูกค้าเลือกรับบริการได้หลากหลายมากขึ้น และตามการใช้งานจริง อย่างเช่นแพ็กเกจที่เหมาะกับบ้านขนาดใหญ่ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ขยายสัญญาณ, แพ็กเกจพร้อมคอนเทนต์ที่เลือกตามความชอบ เช่น พรีเมียร์ลีก, ซีรีส์, อนิเมะ และอื่น ๆ ซึ่งทรูมองว่าการมีแพ็กเกจให้เลือกตามความต้องการจริงเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้

Security ความปลอดภัยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบริการอุปกรณ์ CCTV พร้อม Cloud Service และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการเพิ่มประกันที่อยู่ และประกันชีวิต เสริมเพื่อให้ครอบคลุมความปลอดภัยของลูกค้า

จากกลยุทธ์ 4S ทรูออนไลน์ได้นำเสนอผ่านพรีเซนเตอร์หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด “แรง เสถียร รู้ใจ” เพื่อสร้างการรับรู้และเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาเป็นลูกค้าทรูออนไลน์อีกทางหนึ่ง

พร้อมกับแคมเปญแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ราคาเริ่มต้น 600 บาทต่อเดือนสำหรับลูกค้าใหม่ ที่มาพร้อมกับประกันที่อยู่อาศัยและประกันชีวิตคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนาน 24 เดือน เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น และให้อยู่กับทรูออนไลน์ในระยะยาว

และการกำหนดค่าบริการรายเดือนเริ่มต้น 600 บาท เป็นการสร้างรายได้ และเพิ่ม ARPU ให้กับทรูออนไลน์อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าเก่าทรูออนไลน์ดึงดูดและเพิ่ม ARPU จากการใช้งานลูกค้าที่ใช้แพ็กเกจกล้องวงจรปิดพร้อม Cloud Service เดิม ด้วยการให้ประกันภัยที่อยู่อาศัยนาน 12 เดือนสำหรับลูกค้า 10,000 สิทธิ์แรกที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์

และมีแพ็กเกจเสริมให้ลูกค้าที่ต้องการสมัครแพ็กเกจกล้อง CCTV พร้อม Cloud Service เดือนละ 120 บาท ฟรีประกันภัยที่อยู่อาศัย 24 เดือน

อย่างไรก็ดี ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสการเติบโต จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีดีไวซ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านที่มากขึ้น และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตามบ้านมีเพียง 58% จากครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online