เป็นอีกหนึ่งงานที่รวบรวมเหล่าดีไซน์เนอร์และนักออกแบบไทยไว้มากมาย สำหรับ DEmark ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครั้งนี้ Marketeer ได้รวบรวม 12 ผลงานน่าสนใจจากหลากหลายหมวดหมู่เอามาให้ผู้อ่านทุกคนได้ดูกัน

ซุปแอนด์โก : ในยุคเร่งรีบที่ผู้คนต้องทำให้ทุกอย่างกระชับฉับไวมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การทานอาหารเช้า ซุปแอนด์โก จึงเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งจากรูปชามที่เราคุ้นตากัน มาเป็นแบบแก้วกาแฟเพื่อให้ง่ายต่อการพกพา และไม่เสียเวลาในการรับประทาน
จุกนมไบโอมินิค : อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราสงสัย ว่ามันต่างจากจุกนมที่มีอยู่ในท้องตลาดตรงไหน แต่พอได้เข้าไปอ่านรายละเอียดใกล้ ๆ จึงได้รู้ Insight บางอย่างของคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก ว่าจุกนมที่มีขายอยู่ในทุกวันนี้มีรูดูดเพียงแค่ 1 รูเท่านั้น และแรงดันในขวดจะทำให้น้ำนมไหลออกมาจนทำให้เด็กสำลักน้ำนมได้ จุกนมไบโอมินิคจึงถูกผลิตมาเพื่อเลียนแบบการไหลของน้ำนมให้ใกล้เคียงกับเต้านมของคุณแม่มากที่สุด คือเป็นหลายสาย ดูดได้ในปริมาณที่พอดี ไม่สำลัก
one by one : หรือแปลชื่อเป็นภาษาไทยว่าทีละชิ้น คือผลงานการปั้นเซรามิกที่มีเอกลักษณ์ของความน่ารักแบบเฉพาะตัว ที่สำคัญคือเป็นงานที่ไม่มีวันซ้ำใคร เพราะเซรามิกแต่ละใบทำแค่ ‘ทีละชิ้น’ เท่านั้น
ต้มข่าไก่ : ผลงานที่ไม่ได้ขายต้มข่าไก่เป็นชาม แต่กลับแปรรูปมาเป็นสเปรย์ปรับอากาศแทน ฟังดูแล้วอาจจะไม่ค่อยเข้ากันสักเท่าไหร่ ที่จะฉีดกลิ่นต้มข่าไก่ให้คละคลุ้งทั่วห้อง แต่ในเมื่อต่างประเทศยังทำสเปรย์กลิ่นวานิลาได้ ทำไมคนไทยเราจะทำสเปรย์กลิ่นต้มข่าไก่บ้างไม่ได้ ที่สำคัญ คือมันหอม ไม่มีกลิ่นคาว แต่กลับเป็นกลิ่นออกหวาน ๆ ของแกงกะทิที่เพิ่มอารมย์สุทรีให้เราไม่น้อยเลยทีเดียว
เต่ง กุนเชียงปลายี่สก : คนไทยเรามักจะคุ้นภาพการที่พ่อค้าแม่ค้านำกุนเชียงมาแขวนขายไว้แบบนี้เป็นอย่างดี แต่งานนี้ทางดีไซน์เนอร์ต้องการจะพลิกโฉมอาหารไทยให้พัฒนาและดูเป็นสากลมากขึ้น จึงทำกระดาษที่เป็นรูปปลามาครอบไว้ นอกจากจะดูสวยงามน่าทาน และสะอาดขึ้นมาแล้ว รูปปลา ซึ่งเป็นปลายี่สก ยังสื่อไปถึงส่วนผสมหลักที่อยู่ในกุนเชียงได้เป็นอย่างดี
CHAAUM : กระเป๋าผ้าสี่เหลี่ยมรูปร่างหน้าตาธรรมดา แต่ภายในกลับแฝงไปด้วยแนวคิด ที่ดีไซน์เนอร์ต้องการจะนำวัสดุเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นถุงข้าวสาว ถุงปูนซีเมนต์ บิลบอร์ด และอื่น ๆ อีกมากมายมาผสมรวมกันจนกลายเป็นกระเป๋า และด้วยความที่วัสดุไม่สามารถกำหนดให้เท่ากันในทุกครั้งที่ผลิตได้ ทำให้กระเป๋าที่ออกมาแต่ละใบ จึงมีความแตกต่างกันไปโดยปริยาย
ฟูลเฮ้าส์ : สิ่งประดิษฐ์เรียบง่ายธรรมดา ที่สามารถเปลี่ยนบรรยากาศบ้านให้ดูอบอุ่นและน่ารักขึ้นมาได้ ด้วยการนำสองสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างปลั๊กไฟและบ้าน มารวมเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นทั้งของตกแต่งและของใช้งานภายในชิ้นเดียว
ด็อกเตอร์ โม : กระเป๋าเรียบง่ายที่ดูภายนอกไม่มีอะไร แต่เมื่อลองได้เข้าไปอ่านข้อมูลข้างในจึงพบว่านี่คือกระเป๋าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกระเป๋าของคุณหมอในสมัยก่อน ที่ทำมาเพื่อการใช้งานอย่างง่ายดายโดยเฉพาะ เปิด-ปิดได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว
KHENG & PINTO : หรือเขียงและปิ่นโต หากดูในภาพ มันก็คือเข่งและปิ่นโต ภาชนะที่เราคุ้นตากันมาตั้งแต่สมัยเด็ก แต่เมื่อได้จับจึงพบว่า ทั้งสองชิ้นถูกผลิตมาจากวัสดุอย่างเซรามิก ทำมาเพื่อการตกแต่งมื้ออาหารที่จะเพิ่ม Mood & Tone ความเป็นไทยแบบพรีเมี่ยมลงไปในจาน สร้างสรรค์จนได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา มากทีเดียว
ไก่ย่างเสบียงทิพย์ : แรงบันดาลใจเกิดจากการที่เล็งเห็นว่ายังไม่มีร้านไก่ย่างร้านไหนในไทยเริ่มทำแพ็กเกจจิ้งอย่างเป็นจริงเป็นจัง จะมีเพียงก็แค่ใบตองห่อแบบโบราณเท่านั้น พวกเขาจึงตัดสินใจทำแพ็กเกจจิ้งของมันขึ้นมา ซึ่งเปลี่ยนจากหูหิ้วธรรมดาให้กลายเป็นรูปแม่ไก่ โดยตัวกล่องก็เปรียบเสมือนท้องของมัน ที่สำคัญยังสามารถแกะออกมาเป็นจานที่รับประทานได้ในทันที


ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online