Evergrande ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายในสหรัฐฯ เพื่อขอยอมรับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากบริษัทผิดนัดชำระหนี้เป็นเวลานานกว่า 2 ปี

Evergrande และบริษัทในเครือได้ยื่นขอความคุ้มครองตามหมวดที่ 15 ในศาลล้มละลายแมนฮัตตัน

ตามกฎหมายการคุ้มครองการล้มละลายในหมวดที่ 15  อนุญาตให้ศาลล้มละลายสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในคดีล้มละลายข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติ ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้จากเจ้าหนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินของลูกหนี้และอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน

จากที่หลายฝ่ายจับตาสถานการณ์วิกฤตหนี้มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ของ Evergrande มาตั้งเเต่ปี 2021 เเละการซื้อขายหุ้นของบริษัทถูกระงับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022

Evergrande เเละบริษัทในเครือมีรายงานหนี้สินรวม 335,000 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก

บริษัทดำเนินกิจการโดยมหาเศรษฐีจีน ที่หนึ่งในนั้น คือ “Hui Ka Yan” ชายผู้ร่ำรวยที่สุดของเอเชีย มีธุรกิจหลักของบริษัทเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมีความสนใจในขาธุรกิจอื่น ทั้งการบริหารความมั่งคั่ง รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการผลิตอาหารเเละเครื่องดื่ม เเละเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดทีมหนึ่งของจีน อย่าง กวางโจว เอฟซี

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนรวม 81,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เสนอในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หน่วยยานยนต์ไฟฟ้า China Evergrande New Energy Vehicle Group ก็ได้ประกาศการปรับโครงสร้างตามข้อเสนอของตน ซึ่งเเผนมีการเรียกร้องให้แลกเปลี่ยนหนี้เป็นทุน 2.7 พันล้านดอลลาร์ และการขายหุ้นเกือบ 500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ Evergrande เป็นเจ้าของโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ ในกว่า 280 เมืองของจีน

ธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนในอดีตที่เคยล้มละลายเช่นเดียวกัน อย่าง  Anbang บริษัทประกันและการเงินยักษ์ใหญ่ เเต่ยังถือว่ามีขนาดเล็กกว่า Evergrande เทียบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นมากกว่า วิกฤตหนี้ Evergrande อาจทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกสั่นคลอน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเเละของโลก

ปราบปรามคนรวย-บริษัทใหญ่ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

Evergrande Group คือหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่มีชะตากรรมเกี่ยวข้องกับนโยบายการปราบปรามครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจจีนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เรียกว่า “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” เพื่อลดช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างคนรวยกับคนจน โดยพุ่งเป้าฟาดฟันบริษัทใหญ่หลายแห่ง หรือกลุ่มมหาเศรษฐีของประเทศ

จากเหตุการณ์โครงการบ้านถูกทิ้งร้าง ลูกบ้านถูกทิ้งให้เป็นหนี้และไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการซื้อขายอสังหาฯ ให้การซื้อบ้านมีไว้อยู่อาศัย ไม่ใช่เก็งกำไร  กลายเป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนของตลาดที่อยู่อาศัย อีกทั้งหลายบริษัทอสังหาฯ มีความเสี่ยงด้านการเงินจากการกู้ยืมที่มากเกินไป

ปี 2020 ธนาคารกลางของจีนมองว่าบริษัทอสังหาฯ ที่แบกหนี้เยอะ เสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงปราบปรามการกู้ยืมเงิน ออกมาตรการลดการกู้ยืมสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์  ส่งผลให้บริษัทอสังหาฯ ได้รับผลกระทบด้านการเงิน จนทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หลายครั้ง

อีกหนึ่งบริษัทที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับเอเวอร์แกรนด์ คือ Country Garden บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่อีกรายของจีน ที่ส่อเเววขาดทุน 7,600 ล้านดอลลาร์ สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเช่นกัน

การล่มสลายของ Evergrande ส่งผลกระทบอย่างไร

เรื่องนี้จะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู จนคิดเป็น 7.3% ของ GDP ประเทศ เกิดผลกระทบแบบโดมิโนทั่วทุกภาคส่วน ทั้งตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอาจนำไปสู่การล้มหายตายจากของธุรกิจจำนวนมาก

เเละรัฐบาลจีนอาจเจ็บหนัก เพราะ Evergrande กู้ยืมเงินจำนวนมากจากธนาคารของรัฐ สร้างผลกระทบขาดทุนให้แก่รัฐบาล อีกทั้งรัฐอาจต้องใช้งบเพื่อการคุ้มครองลูกบ้านหลายสิบล้านคนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สงบในสังคม

เเต่ขณะนี้จีนเองก็ยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบสองปี ขณะที่การส่งออกก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง กลายเป็นงานยากของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ธนาคารกลางจีนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อ้างอิง: REUTERS, BBC, CNBC,CNBC, CNN,

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online