ถ้าเราอยากดูหนังในโรงสักเรื่อง โรงที่เราคิดถึงไม่ Major ก็ SF ที่กระจายตัวตามห้างต่าง ๆ
ก่อนดู หรือดูเสร็จ กินข้าว เดินช้อปปิ้ง สะดวกสบายง่ายในที่เดียว
ต่างจากรุ่นพ่อ แม่ ตอนเด็ก ๆ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย สมัยรุ่น ๆ ที่เวลาดูหนังทีต้องเดินทางไปโรงหนังสแตนด์อโลนนอกห้าง ดูเสร็จกลับบ้านหรือแวะไปที่อื่น ๆ แทน เพราะบริเวณรอบ ๆ โรงหนังไม่ค่อยมีบริการอื่น ๆ มาซัปพอร์ตไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ทั้งก่อนและหลังดูหนัง
แล้วธุรกิจโรงหนังเปลี่ยนจากสแตนด์อโลนสู่มัลติเพล็กซ์ตามห้างอย่างไร ใครคือผู้เปลี่ยนแปลง
ใช่ Major เบอร์หนึ่งในธุรกิจโรงหนังไทยหรือเปล่า หรือ เบอร์รองอย่าง SF
บอกเลยว่าไม่ใช่ทั้งคู่
เพราะผู้เปิดโลกโรงหนังในรูปแบบมัลติเพล็กซ์ในห้างคือแบรนด์โรงหนังที่ชื่อ EGV ที่ปัจจุบันคือหนึ่งในชื่อโรงหนังเครือ Major Cineplex
แรกเริ่มเดิมที EGV เป็นแบรนด์โรงหนังของวิชัย พูลวรลักษณ์ ลูกชายของ เจริญ พูลวรลักษณ์ พี่ชายคนโตของตระกูล
ส่วน Major เป็นของวิชา พูลวรลักษณ์ ลูกชายของจำเริญ พูลวรลักษณ์ น้องชายคนรอง
ซึ่งในอดีตก่อนรุ่นวิชัยและวิชา ตระกูลพูลวรลักษณ์เจนแรก ประกอบด้วย 4 พี่น้อง เจริญ จำเริญ เกษม และจรัล พูลวรลักษณ์ ร่วมกันทำธุรกิจโรงหนังมาก่อน ในชื่อบริษัท โก บราเดอร์ (Co Brother) มีโรงหนังสแตนด์อโลน ศรีตลาดพลู ฝั่งธน เป็นโรงหนังแห่งแรก
ก่อนที่จะแยกย้ายทำธุรกิจของตัวเองในเจนที่สอง
มีวิชัย และวิชา ยังคงอยู่ในแวดวงโรงหนัง
วิชัยจับมือกับบริษัท วิลเลจ โรดโชว์ (ไทยแลนด์) พีทีวาย ลิมิเต็ด จากประเทศออสเตรเลีย และบริษัท ฟอร์จูน วีล ลิมิเต็ด (กลุ่มโกลเด็น ฮาร์เวสต์) จากฮ่องกง เปิดธุรกิจโรงหนังของตัวเองในชื่อ EGV ชื่อที่ย่อมาจาก Entertain Golden Village International
พร้อมเปิดสาขาแรกในปี 2537 ที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค (ซีคอนบางแคในปัจจุบัน)
EGV กลยุทธ์บุกตลาดสร้างความแตกต่างจากโรงหนังอื่น ๆ ด้วยการเป็นโรงหนังในรูปแบบมัลติเพล็กซ์ มีหลายโรงอยู่ในที่เดียวกัน ดีไซน์บรรยากาศโรงหนังให้หรูหราทันสมัย น่าชม ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดการจองตั๋วภาพยนตร์ และอื่น ๆ ก่อนที่จะขยายสาขาไปตามห้าง
เหตุผลที่ EGV วางจุดขายนี้มาจากในช่วงเวลานั้นธุรกิจโรงภาพยนตร์ในรูปแบบสแตนด์อโลนได้รับผลกระทบจากความไม่สะดวกสบายในการเดินทาง ที่มาพร้อมกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสู่การวิดีโอในรูปแบบมินิเธียเตอร์มากขึ้น
และโรงหนังในห้างสามารถเข้าถึงแทรฟฟิกของผู้เข้ามาใช้บริการ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ที่มากกว่าดูหนังได้เป็นอย่างดี
ส่วนวิชา เข้าสู่ธุรกิจโรงหนังของตัวเองผ่านแบรนด์ Major ในรูปแบบโรงหนังสแตนด์อโลนมัลติเพล็กซ์ ด้วยการก่อสร้างอาคารหลายชั้นทำเป็นโรงภาพยนตร์คอมเพล็กซ์ของตัวเอง ที่ประกอบด้วยโรงหนังหลายโรง ที่ทันสมัย นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้จองตั๋วภาพยนตร์เช่นกัน พร้อมกับมีร้านอาหาร และอื่น ๆ ให้บริการอยู่ในนั้นด้วย
พร้อมเปิดสาขาแรกที่ปิ่นเกล้าตรงข้ามเซ็นทรัล ปิ่นเกล้าในปี 2538
ซึ่งในยุคนั้น EGV และ Major ต่างเป็นคู่แข่งและผู้ร่วมกันผลักดันพฤติกรรมผู้บริโภค ลุยตลาดโรงภาพยนตร์ในรูปแบบมัลติเพล็กซ์ มาที่เดียวมีหนังให้เลือกชมหลายเรื่องหลายรอบตามความต้องการ พร้อมกับการขยายสาขาเข้าถึงลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
จนมาในปี 2542 ธุรกิจโรงหนังในรูปแบบมัลติเพล็กซ์เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น จากการเข้ามาลุยตลาดของ SF จากสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจโรงหนังในภาคตะวันออก
SF เปิดสาขาแรกที่ MBK Center ชั้น 7 ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ MBK Hall ลานคอนเสิร์ตยอดนิยมของวัยรุ่นยุค 90 ในเวลานั้น และใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า SF Cinema City The Movie Planet จากการตกแต่งพื้นที่โรงหนังให้มีบรรยากาศในธีมอวกาศและดวงดาว
การเลือกทำเลที่ตั้ง SF แห่งแรกบนชั้น 7 MBK Center มาจากการมองเห็นช่องว่างในตลาดที่ในเวลานั้น EGV และ Major ต่างแข่งขันขยายสาขาในรอบนอกกรุงเทพฯ และยังไม่มีโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ในกลางกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น
โดยคำว่า SF ย่อมาจาก สมานฟิล์ม ซึ่งเป็นชื่อมาจากสมาน ทองร่มโพธิ์ พ่อของสุวัฒน์นั่นเอง
การเข้ามาของ SF ถือเป็นการสร้างสีสันในการแข่งขันธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้ดุเดือด และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคยิ่งขึ้น
และ 3 แบรนด์ต่างวางกลยุทธ์ของตัวเองผ่านการขยายสาขา และอื่น ๆ ดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
จนในปี 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันของตลาดโรงหนังครั้งใหญ่ หลังจาก Major ควบรวม EGV เข้าด้วยกัน
พร้อมปรับเปลี่ยนชื่อโรงหนัง EGV เป็น Major เกือบทั้งหมด คงชื่อ EGV ไว้เฉพาะบางแห่ง
และทำให้ Major กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่แข็งแกร่งในตลาดโรงหนังไทย ที่ SF ไม่สามารถไล่ตามได้ทัน
เพราะในเวลานั้นก่อนควบรวมกับ EGV โรงหนัง Major มีส่วนแบ่งตลาด 43% EGV 27% และที่เหลือ SF และอื่น ๆ
ส่วนในปี 2566 การแข่งขันของธุรกิจโรงหนังยังคงมีคู่แข่งด้วยกัน 2 รายเช่นเดิม และทั้งคู่ได้ขยายอาณาจักรโรงหนังของตัวเองออกไปในทำเลที่ตั้งต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาให้บริการในโรงหนัง เพื่อสร้างจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งอีกฝ่ายหนึ่ง
โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 เครือ Major มีสาขาในประเทศ 169 สาขา 779 โรง ใน 64 จังหวัด
และ SF มีโรงหนัง 66 สาขา รวม 400 โรง ใน 28 จังหวัด
พร้อมกับพาตลาดรวมโรงหนังเติบโตถึง 7,000 ล้านบาทในปีนี้
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ