ยันฮี และ รพ. บางมด ผู้นำตลาดศัลยกรรมความงามในไทยที่เกิดจากโพลีคลินิก
ถ้าต้องการสวยด้วยมือหมอเชื่อว่าชื่อโรงพยาบาลยันฮีและโรงพยาบาลบางมดคือ 2 ตัวเลือกที่น่าสนใจของหลายคน
แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ได้ง่าย
ไม่น่าเชื่อว่าทั้ง 2 โรงพยาบาลนี้มีจุดเริ่มต้นจากโพลีคลินิกเล็ก ๆ ย่านชานเมือง
จากยันฮีโพลีคลินิกในตึกแถว 2 คูหาสูง 4 ชั้น ย่านพระราม 7 ของ นพ. สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา และ ทพญ.ลดาวดี 2 สามีภรรยาที่รับรักษาโรคทั่วไปและทำฟัน
(ใช้ชื่อว่า “ยันฮี” เพราะตั้งอยู่หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเดิมคือ การไฟฟ้ายันฮี)
จากนั้นเริ่มมองหาจุดขายในเรื่องการลดความอ้วนและลดน้ำหนัก
เมื่อคนไข้มากขึ้นก็ขยายเป็นโรงพยาบาลยันฮี จาก 30 เตียง เป็น 400 เตียง
โดยดึงเรื่องการทำศัลยกรรมที่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปเข้ามาเป็นจุดขายที่สำคัญ
ส่วนโรงพยาบาลบางมด นพ. สุรสิทธิ์ อัศดามงคล ผู้ก่อตั้ง เดิมเป็นหมอชนบทอยู่ที่โคราช หลังจากนั้นมีโอกาสมาเปิดคลินิกในย่านบางมด เมื่อประมาณ 40 ที่แล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญจากที่รับรักษาโรคทั่วไปขยายไปทำศัลยกรรมเพราะแถวถนนธนบุรี-ปากท่อ เป็นหนึ่งในที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดของประเทศ
นพ. สุรสิทธิ์เลยไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อที่จะได้ช่วยคนไข้ที่มีอยู่มาก ในการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ
เมื่อชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเลยเปิดเป็นศูนย์เกี่ยวกับความงาม Cosmetics
ในยุคแรก ๆ ของการเริ่มทำศูนย์ศัลยกรรมความงามของทั้ง 2 โรงพยาบาลนี้ไม่ได้ง่าย เพราะในยุคนั้นคนไทยทั่วไปมองว่าการทำหน้าเป็นเรื่องน่าอาย คนไทยถูกสอนให้พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่
ดังนั้น คนที่อยากทำตา 2 ชั้น ทำจมูก หรือเสริมหน้าอก ต้องแอบ ๆ บินไปทำในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อเมริกา
รวมทั้งข้อจำกัดของแพทยสภาที่มีกฎระเบียบห้ามโฆษณา ดังนั้น การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ๆ
แต่นายแพทย์ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 โรงพยาบาลเชื่อว่าลึก ๆ ลงไปทุกคนอยากสวย อยากดูดี และต้องปลอดภัยด้วย
เมื่อสังคมไทยเปิดกว้างกับเรื่องนี้มากขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น คลินิกความงามก็ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วเมือง
ลูกค้าเองก็พร้อมโชว์ พร้อมแชร์ภาพลักษณ์ใหม่ของตัวเองอย่างภูมิใจ
สิ้นปี 2565 โรงพยาบาล ยันฮี ทำรายได้รวมได้ถึง 2,063 ล้านบาท เป็นรายได้ที่เติบโตหลังวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างสวยงาม
เช่นเดียวกับมีผลกำไรเป็นบวก 257 ล้านบาท หลังจากติดลบมาตลอดระยะ 3ปี
วันนี้ โรงพยาบาลยันฮียังใช้ความเข้มแข็งของแบรนด์ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง สมุนไพร น้ำกัญชา และเครื่องดื่มผสมวิตามิน
ส่วนโรงพยาบาลบางมด รายได้ปี 2565 ประมาณ 500 ล้านบาท คาดการณ์ปี 2566 จะทำได้ประมาณ 600-700 ล้านบาท
และยังมั่นใจประกาศทุ่มเงินลงทุนอีก 3,000 ล้านบาท สร้าง รพ. ศัลยกรรมครบวงจรใหม่ ภายใต้ชื่อศูนย์ Bangmod Aesthetic & Wellness Hospital ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับพื้นที่เดิม คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2569
เส้นทางของ 2โรงพยาบาลแห่งนี้จะสวยงามแค่ไหน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ