อุตฯ ก่อสร้างในไทย ปี 66-67 กลับมาโต 4.5-5.5% ต่อปี ชดเชยช่วงชะงักโรคระบาด ยานยนต์ไฟฟ้าปัจจัยสำคัญส่งเสริมการเติบโตของเหล็กโครงสร้าง หัวใจสำคัญภาคอุตฯ ก่อสร้าง

 

ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 66-67 คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.5-5.5% ต่อปี ชดเชยช่วงที่ตกลงไปตอนวิกฤตโรคระบาด เซกเมนต์ที่จะเติบโตสูงสุด ได้แก่ การก่อสร้าง, วิศวกรรมโยธา, ผลิตพลังงาน, ขนส่ง, ผลิตบรรจุภัณฑ์เหล็กและโลหะ ซึ่งทุกอุตฯ ข้างต้นมีเหล็กโครงสร้างเป็นองค์ประกอบสำคัญ

อุตฯ ก่อสร้าง มาร์เก็ตแชร์ 27% ของ GDP ปี 65 เงินลงทุนมาจากภาครัฐ 58% เอกชน 42% ส่วนปี 66 จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจากภาครัฐ 8.3 หมื่นล้านบาท

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยบริโภคเหล็กและเหล็กกล้า ปีละ 18 ล้านตัน แบ่งเป็นนำเข้า 10 ล้านตัน ผลิตในประเทศ 8 ล้านตัน มูลค่าการนำเข้า 450,000 ล้านบาท

มาร์เก็ตแชร์อยู่ในอุตฯ ก่อสร้าง 55% และอุตฯ ยานยนต์ 20-30% การผลิตและบริโภคเหล็กยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพราะนอกจากจะช่วยลดแรงงานและระยะเวลาในการก่อสร้าง เหล็กยังเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีการปล่อยคาร์บอนในการผลิตเหล็กต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

 

ยานยนต์ไฟฟ้าโตกระฉูด

บริษัทข้ามชาติลงทุนผลิตในไทย สะสม 2.7 แสนคัน

จดทะเบียนใหม่ ก.ค. 66 6,904 คัน 373.20% YoY
จดทะเบียนใหม่ ม.ค.-ก.ค. 66 49,949 คัน 469.61% YoY
จดทะเบียนสะสม ณ 31 ก.ค. 66 81,863 คัน 307.54% YoY
ส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยจากบีโอไอ ปี 2565-66 14 โครงการ จาก 13 บริษัทข้ามชาติ กำลังผลิตสะสม 276,640 คัน
YoY: ช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก, บีโอไอ/สิงหาคม 2566

 

กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเหล็กโครงสร้างหลังจากนี้ นอกจากไทยจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป หรือรถยนต์น้ำมัน สูงที่สุดอันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 11 ของโลก

 

การทรานส์ฟอร์มไปสู่อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า แม้จะมีการใช้ชิ้นส่วนประกอบต่อคันที่น้อยลง แต่โครงสร้างหลักก็ยังเป็นเหล็ก ทั้งผู้ผลิตเหล็กมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

ส่งเสริมให้เหล็กมีความแข็งแรงขึ้น แต่น้ำหนักเบาลง เมื่อผลิตเป็นรถยนต์ ก็ได้รถที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นต้น

 มร. เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวเสริมถึงภาพรวมอุตฯ ก่อสร้างว่า สถานการณ์การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว รวมถึงการสานต่อโครงการก่อสร้างที่ล่าช้าไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด

เมกะโปรเจกต์ ปี 66 ที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สายไฟ เส้นลวด สายเคเบิล ท่อและท่อร้อยสาย อย่างเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลัง ปี 65

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอุตฯ ก่อสร้างในไทย ปี 66 ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ อาทิ ราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปูนซีเมนต์และเหล็กซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังวิกฤตโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของอุตฯ ก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงสามารถผลักดันให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเติบโตตามไปด้วย

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เสริมท้ายว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ล้วนมีความเสี่ยงและอันตรายในทุกขั้นตอน การทำงานจึงต้องยึดความปลอดภัยของสาธารณะเป็นสำคัญ

แนะนำภาครัฐควรร่วมมือกับภาควิชาชีพ เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอย่างจริงจังและเคร่งครัด เช่น การจัดให้มีคณะผู้ตรวจอิสระ ที่มีความรู้และอำนาจในการเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างต่าง ๆ

 

20-22 ก.ย. 66 ไทยจะมีงาน B2B เพื่อกระตุ้นอุตฯ ก่อสร้างจัดโดย เมสเซ่ ดุสเซดอล์ฟ เอเชีย อย่างงาน Wire & Tube Southeast Asia 2023 – GIFA & METEC Southeast Asia 2023

ณ ไบเทคบางนา ผู้ผลิตซัปพลายเออร์ รวมถึงผู้ให้บริการโซลูชันที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม เข้าร่วมกว่า 400 ราย จาก 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ ออสเตรีย จีน เยอรมัน อิตาลี ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ตอบโจทย์ B2B ทั้งธุรกิจก่อสร้าง, ยานยนต์, พลังงาน, ก๊าซ, โรงงานผลิต-ขึ้นรูปโลหะ และเหล็กกล้า คาดการณ์แทรฟฟิกผู้เข้าร่วมงาน 7-9 พันคน สัดส่วนมาจากต่างประเทศ 40%



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online