นับตั้งแต่ปี 2013-2022 มีข้อมูลว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มต้องการย้ายไปอาศัยและทำงานในยุโรป โดยจากสถิติของ Pew Research Center ที่สำรวจขึ้นในปี 2022 พบว่าคนอเมริกันช่วงอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่สนใจที่จะย้ายไปอยู่ยุโรปมากที่สุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 38% รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-24 ปี โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 35%
สาเหตุที่คนอเมริกันในช่วงอายุดังกล่าวสนใจที่จะย้ายไปอยู่ยุโรปมีหลายปัจจัย เช่น ต้องการหางานที่ดีกว่า ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และต้องการหนีจากวัฒนธรรมการทำงานที่เคร่งเครียดในอเมริกา นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่มองว่ายุโรปเป็นทวีปที่ปลอดภัย มีเสรีภาพ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
อย่างในเนเธอร์แลนด์มีคนอเมริกันย้ายเข้าไปอาศัยอยู่เพิ่มขึ้นจาก 15,500 คนเป็น 24,000 คน ในโปรตุเกสเกือบ 10,000 คน (เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว) ที่สเปนเพิ่มขึ้นจาก 20,000 คนเป็น 34,000 คน ส่วนในฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน) ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
เหตุผลอีกเรื่องหนึ่งของการอยากย้ายประเทศก็อาจจะมาจากนโยบายทางการเมือง จากการสำรวจของ Gallop ในปี 2018 พบข้อมูลว่าในสมัยที่บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีจำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันที่ต้องการย้ายประเทศอยู่ 11% ถัดมาพอ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งตัวเลขดีดขึ้นมาเป็น 16% และล่าสุด โจ ไบเดน ตัวเลขเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 17% เมื่อพิจารณาลึกลงไปจะพบว่ากลุ่มคนที่พิจารณาย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเสรีนิยมหรือคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ รวมไปถึงเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองที่เอื้อให้เกิดความน่าอยู่ในประเทศมากน้อยแค่ไหน
Tracy Metz หัวหน้าสถาบัน John Adams หน่วยงานด้านวัฒนธรรมอเมริกัน-ดัตช์ กล่าวว่า “สิ่งที่เราได้ยินมาตลอดคือ Work-Life Balance ที่ยุโรปดีกว่าที่อเมริกามาก” คนอเมริกันทำงานหนักอยู่ที่ 1,811 ชั่วโมงต่อปี (37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในขณะที่ชาวยุโรปเพียง 1,571 ชั่วโมงต่อปี ส่วนคนฮอลแลนด์ทำงานเพียง 1,427 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น
American Millenials ที่มา: Business Insider
จากการสำรวจของสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 2023 รายงานว่าสหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 332,487,185 คน แบ่งตามกลุ่มอายุดังนี้
0-17 ปี: 72,722,000 คน (22.2%)
18-34 ปี: 91,393,000 คน (27.5%)
35-54 ปี: 90,928,000 คน (27.4%)
55-64 ปี: 58,865,000 คน (17.7%)
65 ปีขึ้นไป: 29,581,000 คน (9.2%)
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาคือกลุ่ม Millennials (อายุ 25-40 ปี) ตามมาด้วยกลุ่ม Generation Z (อายุ 18-24 ปี) และกลุ่ม Baby Boomers (อายุ 55-74 ปี) โดยกลุ่มประชากรเด็ก (อายุ 0-17 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มีจำนวนลดลงเล็กน้อย
สิ่งนี้บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง ในหลายประเทศทั่วโลกตัวเลขเป็นเช่นเดียวกับอเมริกา ผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนการเกิดต่ำลง และผู้คนในวัย Millennials เริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อหลายสิ่งทำให้พวกเขาเหนื่อยหน่าย ทิศทางการย้ายถิ่นฐานไปในที่ที่มีสวัสดิการดีกว่า ความปลอดภัยสูงกว่าอย่างยุโรปก็อาจทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของอเมริกาต้องหันมามองเรื่องในบ้านของตัวเองมากขึ้น
ทำไมคนอเมริกันถึงอยากย้ายไปยุโรป
มีหลายเหตุผลที่คนอเมริกันรุ่นใหม่ต้องการย้ายไปอยู่ยุโรป ยกตัวอย่างเช่น
บรรยากาศทางการเมือง คนอเมริกันเสรีนิยมจำนวนมากไม่แยแสกับบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา พวกเขาอาจรู้สึกว่าประเทศกำลังแตกแยกและแตกแยกมากขึ้น และคุณค่าของพวกเขาไม่ได้ถูกนำเสนอ ในทางกลับกันยุโรปมักถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่ก้าวหน้าและอดทนมากกว่า
*มาตรการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ดีจากรัฐบาล (Safety Net) โดยทั่วไปประเทศในยุโรปมีมาตรการความช่วยเหลือพื้นฐานทางสังคมที่แข็งแกร่งกว่าสหรัฐอเมริกา หมายความว่ามีการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้นในเรื่องต่าง ๆ เช่น สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการว่างงาน สิ่งนี้ดึงดูดใจให้คนอเมริกันเสรีนิยมที่เชื่อว่าทุกคนควรสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นเหล่านี้ได้ย้ายมาอยู่ที่ยุโรป
ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ประเทศในแถบยุโรปมักมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีกว่าที่สหรัฐอเมริกา ผู้คนมักจะทำงานน้อยลงและมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สิ่งนี้สามารถดึงดูดใจชาวอเมริกันเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับเวลาว่างและต้องการใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น
คุณภาพชีวิต ที่ยุโรปประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยวัดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุขัย ระดับการศึกษา และคุณภาพสิ่งแวดล้อม
การศึกษา ในยุโรปมีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก สิ่งนี้สามารถดึงดูดใจชาวอเมริกันเสรีนิยมที่สนใจศึกษาต่อ ตามการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 โดย QS World University Rankings มีมหาวิทยาลัยในยุโรปติดทอป 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกด้วยกันทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่
- University of Oxford (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 2
- University of Cambridge (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 3
- Imperial College London (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 7
- ETH Zurich (สวิตเซอร์แลนด์) อันดับที่ 8
นโยบายสนับสนุนการย้ายถิ่นฐาน ประเทศในยุโรปมีนโยบายการย้ายถิ่นฐานแบบเสรีมากกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความว่าผู้คนจะอพยพไปยุโรปได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะไม่มีข้อเสนอให้มาทำงานหรือสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นั่นอยู่แล้วก็ตาม
*Safety Net ในยุโรปหมายถึงระบบสวัสดิการทางสังคมที่รัฐบาลจัดให้เพื่อรองรับประชาชนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การตกงาน เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ ว่างงาน ฯลฯ โดยวัตถุประสงค์ของการมีระบบนี้ขึ้นมาก็คือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ระบบ Safety Net ในยุโรปประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
- เงินอุดหนุนการว่างงาน: รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ที่ตกงานชั่วคราวเพื่อให้สามารถดำรงชีพได้
- สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร: รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ปกครองเพื่อช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร
- สวัสดิการการรักษาพยาบาล: รัฐบาลให้บริการการรักษาพยาบาลฟรีหรือถ้าต้องจ่ายก็น้อยมาก ๆ แก่ประชาชนทุกคน
- สวัสดิการบำนาญ: รัฐบาลจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ
- สวัสดิการสำหรับผู้พิการ: รัฐบาลให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้พิการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ
ระบบ Safety Net ในยุโรปได้รับการยกย่องว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงและแทบจะดีที่สุดในโลก โดยช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีแม้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
วัฒนธรรมการทำงาน อเมริกา vs ยุโรป
ที่มา: European Parliament
- วัฒนธรรมการทำงาน
เรามาเจาะเรื่องวัฒนธรรมกันเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจกันอีกสักเล็กน้อยท่านผู้อ่านต้องเข้าใจแบบนี้ว่า
วัฒนธรรมการทำงานในยุโรปและอเมริกาแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยในยุโรปนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้างผ่อนคลายและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากกว่า ในขณะที่อเมริกามีวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้างเข้มข้นและให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า
ตัวอย่างเช่น ในยุโรป พนักงานมักจะทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมักจะมีเวลาว่างเพื่อพักผ่อนและใช้เวลากับครอบครัว ในขณะที่พนักงานในอเมริกามักจะทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (อาจถึง 48 ชั่วโมง) และมักจะทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อบรรลุเป้าหมาย
นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำงานในยุโรปยังให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมากกว่า ในขณะที่วัฒนธรรมการทำงานในอเมริกาให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นรายบุคคลมากกว่า
- ค่าจ้างและสวัสดิการ
ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงานในยุโรปและอเมริกาก็แตกต่างกันเช่นกัน โดยพนักงานในยุโรปมักจะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการสูงกว่าพนักงานในอเมริกา พนักงานในยุโรปมักจะได้รับ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ที่สูงกว่าพนักงานในอเมริกา นอกจากนี้ พนักงานในยุโรปยังได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร และวันหยุดพักผ่อนมากกว่าพนักงานในอเมริกาอีกด้วย
- กฎหมายแรงงาน
โดยทั่วไปแล้วกฎหมายแรงงานในยุโรปมักจะคุ้มครองสิทธิของพนักงานมากกว่ากฎหมายแรงงานในอเมริกา
อย่างในยุโรป พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้โดยไม่จำกัดจำนวนวัน ในขณะที่กฎหมายของอเมริกาไม่กำหนดจำนวนวันลาป่วยขั้นต่ำที่พนักงานต้องได้รับ แต่รัฐต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในอเมริกากำหนดให้พนักงานได้รับโควตาวันลาป่วยอย่างน้อย 10 วันหลังจากทำงานครบ 1 ปี โดยจำนวนวันลาป่วยจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น พนักงานที่ทำงานครบ 5 ปีอาจได้รับวันลาป่วยอย่างน้อย 15 วัน เรื่องนี้ดูจะยังน้อยกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำที่พนักงานสามารถลาป่วยได้ตามจริงปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน นอกจากนี้ พนักงานในยุโรปยังมีสิทธิลาคลอดได้นานกว่าพนักงานในอเมริกา
คนอเมริกันส่วนหนึ่งมองว่าการไปอยู่ยุโรปก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เพราะพวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work From Anywhere) โดยมีหลายคนก็ WFA มาตั้งแต่ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ แล้ว ดังนั้น แปลว่าใครที่โชคดีหางานที่บริษัทอนุญาตให้ WFA ได้การใช้ชีวิตในต่างประเทศก็เป็นไปได้มากขึ้น และประเทศในทวีปยุโรปก็มีข้อเสนอที่ดึงดูดให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ย้ายประเทศ
อย่างที่เนเธอร์แลนด์อนุญาตบริษัทต่าง ๆ สามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 30% ของจำนวนรายจ่ายที่เป็นค่าแรงของแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ ด้านโปรตุเกส ชาวต่างชาติสามารถขอวีซ่าพำนักในประเทศได้โดยขอแค่มีรายได้เพียง 150% ของค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ (ประมาณ 1,100 ยูโร หรือ 1,190 ดอลลาร์ต่อเดือน)
ที่สเปน รัฐเสนอให้มีการเก็บภาษีในอัตราคงที่ที่ 24% สำหรับชาวต่างชาติที่มีรายได้ที่เกิดขึ้นในสเปน และอีกหลาย ๆ ประเทศก็กำลังเปิดตัววีซ่า “Digital Nomad” สำหรับคนที่ทำงานอิสระด้านเทคโนโลยี
เหตุผลเหล่านี้ก็น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะบอกว่าทำไมประเทศเหล่านี้ถึงได้รับชาวต่างชาติที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในยุโรปจะอ้าแขนต้อนรับคนทั่วไปให้เดินทางเข้าออกประเทศของพวกเขาได้อย่างอิสระ
อย่างที่อิตาลี รัฐตั้งเป้าที่จะดึงดูดให้ “บุคคลที่มีรายได้สูง” เข้ามาพำนักในประเทศโดยออกมาตรการให้คนต่างชาติต้องจ่ายภาษีเงินได้ที่ 100,000 ยูโรต่อปี โดยไม่สนใจว่าจะมีรายได้มากหรือน้อย ฝรั่งเศสมีข้อยกเว้นที่ซับซ้อนและมุ่งเป้าไปที่ผู้บริหารธุรกิจจากต่างประเทศเป็นหลัก (ฝรั่งเศสเน้นดึงดูดนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศมากกว่า) ส่วนเยอรมนีนั้นไม่มีข้อจำกัดเลยเพราะตอนนี้เยอรมนีมีปัญหาด้านเศรษฐกิจค่อนข้างหนักและขาดแคลนแรงงานฝีมือจำนวนมาก
ปัจจุบันปัญหาสมองไหลและพลเมืองย้ายถิ่นฐานก็เป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆ ประเทศที่นโยบายการบริหารสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชนไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า คุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องเหล่านี้จะเป็นโจทย์ใหญ่แน่นอนสำหรับรัฐบาลที่ต้องหาวิธีมาดึงดูดให้พลเมืองคุณภาพยังอยู่และทำงานให้กับบ้านเมืองของตัวเอง เพราะมิเช่นนั้นประเทศนั้น ๆ ก็น่าจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงัก จีดีพีไม่เติบโตอย่างแน่นอน
อ้างอิง
https://www.economist.com/europe/2023/08/28/why-europe-is-a-magnet-for-more-americans
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ