เกมการแข่งขันของพี่ไปรฯ ในตลาดขนส่งเอกชนที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

ความท้าทายในตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ประเทศไทยคือตลาดนี้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล และเปิดกว้างให้กับทุกคนสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดนี้จึงมีผู้เล่นเข้ามาร่วมแข่งขันในธุรกิจจำนวนมาก ทั้งผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่มีผู้ถือหุ้นเป็นนักลงทุนข้ามชาติ ผู้เล่นในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสที่หันลงมาเล่นธุรกิจขนส่งพัสดุเองจากการมองเห็นโอกาสที่เติบโตบนพฤติกรรมผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้พฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคคือโอกาส แต่ตลาดนี้มีความท้าทายคือ มีผู้เล่นในตลาดมากจนเกินไป และเกิดการแย่งชิงลูกค้า ผ่านสงครามราคาและอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ และหวังผลกำไรเมื่อนำมาหักลบกับต้นทุนในการดำเนินงาน

ต้นทุนของธุรกิจนี้เป็นต้นทุนที่ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก จากต้นทุนด้านคนที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นตามปริมาณงานในแต่ละวัน แต่ละเดือนได้

เพราะถ้าควบคุมรายได้ และต้นทุนไม่ดีพอหมายถึงผลประกอบการที่ขาดทุนตามมา

โดยเฉพาะในปีนี้ ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มองตลาดอีคอมเมิร์ซว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านหลังโพสต์โควิด และเกิดการจับจ่ายซื้อสินค้าในรูปแบบฟิสซิเคิลมากขึ้น

และเกิดการลดลงของการซื้อสินค้าออนไลน์จากกระเป๋าเงินที่ใช้จ่ายฟิลซิเคิลและออนไลน์เป็นกระเป๋าเดียวกัน

ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัว ที่กระทบการจับจ่ายของผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง

และในครึ่งปีหลัง 2566 ตลาดอีคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบจากผู้บริโภคออกมาท่องเที่ยวสิ้นปี จนเกิดการซื้อสินค้าที่น้อยลง เพราะสามารถเดินทางไปซื้อด้วยตัวเอง ประกอบกับผู้ซื้อไม่อยู่บ้าน หรือที่ทำงานเพื่อรับพัสดุจากการออกท่องเที่ยว

แม้จะมีแคมเปญดับเบิลเดย์กระตุ้นการซื้อก็ตาม

ความท้าทายในภาพรวมของธุรกิจขนส่งพัสดุและโลจิสติกส์ที่กล่าวมา ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของพี่ใหญ่อย่างไปรษณีย์ไทยที่มีอายุมากถึง 140 ปีในปีนี้ด้วยเช่นกัน

และ ดร. ดนันท์ยอมรับว่าไปรษณีย์ไทยยังมีความท้าทายอีกประการหนึ่งคือภาพจำของผู้บริโภคที่มองไปรษณีย์ไทยเป็นบริการที่ช้า จากความทรงจำในอดีตที่ไปรษณีย์ไทยเริ่มต้นให้บริการส่งจดหมายทั่วไป ที่ผู้รับผู้ส่งไม่เร่งรีบ

ทั้ง ๆ ที่ไปรษณีย์ไทยมีบริการส่งพัสดุในรูปแบบ EMS ที่มีความเร็วในการส่งไม่ต่างจากผู้ให้บริการขนส่งเอกชนอื่น ๆ ในค่าบริการระดับกลาง ๆ ที่ไม่ต่ำและไม่สูงสุดในตลาด

ต่างจากผู้ให้บริการขนส่งเอกชนอื่น ๆ ที่เข้ามาเปิดธุรกิจในรูปแบบขนส่งพัสดุด่วนเป็นบริการแรก ทำให้ผู้บริโภคเกิดความจำด้านขนส่งพัสดุที่รวดเร็ว

ประกอบกับผู้บริโภคมองไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งเกิดภาพจำของผู้บริโภคเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงยาก ไม่มีเสน่ห์ และไม่สะดวกเมื่อมาใช้บริการ

ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญให้ปีนี้ไปรษณีย์ไทยปรับโครงสร้างและปรับภาพให้ดูทันสมัย เด็กลง มีเสน่ห์ เข้าถึงง่ายผ่านบริการสะดวกรวดเร็ว และมีคุณภาพ เพื่อพาภาพลักษณ์จากองค์กรอายุ 140 ปี สู่องค์กรอายุ 14 ปีอีกครั้ง พร้อมกับรายได้และผลกำไรที่มั่นคงกลับมา

จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยได้ทรานส์ฟอร์มตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อแข่งขัน และสร้างจุดแตกต่างของตัวเองจากคู่แข่งในการให้บริการ เช่น

– การขยายจุดให้บริการจากพันกว่าจุดบริการเป็น 30,000 บริการ ให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย

– เจาะตลาด Niche Market รับส่งพัสดุที่มีราคาสูง เช่น ทอง พัสดุที่มีความเปราะบางในการส่ง เช่น แก้ว ผลไม้ ปลากัด ปลาสอด ปลาหางนกยูง ต้นไม้ โดยร่วมมือกับกรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การพัฒนารูปแบบการส่งถึงมือผู้รับไม่เกิดความเสียหาย และสนับสนุนเกษตรกรในการขายและส่งผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ และพัสดุขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เป็นต้น

– การทำ CRM เชื่อมโยงผู้ซื้อกับผู้ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการส่งสินค้า ซึ่งไปรษณีย์ไทยมองว่าเป็นบริการที่สร้างโอกาสด้านการเติบในอนาคตเป็นอย่างดี

– เข้าถึงรุ่นใหม่ สร้างภาพลักษณ์ให้ดูเด็ก และเรียนรู้แนวทางการตลาดการสื่อสารไปยังกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ด้วยการประกวดแผนการตลาดผ่านโครงการ J-MAT Brand Planning Competition และ การจัดทำแสตมป์ NFT

– ปรับโครงสร้างบุคลากร ในการเพิ่มทีมขน ทีมขาย และทีมแคร์ เพิ่มมา 4 เท่า เพื่อดูแลลูกค้าอีคอมเมิร์ซ ให้บริการลูกค้าแบบ Interactive มีการติดตามและรีพอร์ตพัสดุเมื่อถึงมือผู้รับ ลดโอกาสที่จะเกิดข้อร้องเรียน แก้ปัญหาการบริการที่รวดเร็ว

– การให้บริการตัวกลางระบบเซ็นเอกสารดิจิทัล และจัดเก็บเอกสารดิจิทัล รวมถึงการพริ้นเตอร์เอกสารดิจิทัลถึงผู้รับ ผ่านบริการพร้อมโพสต์

– การแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การส่งแม่นยำขึ้น

– ให้ความสำคัญกับ CRM ผ่านระบบสมาชิกในชื่อ โพสต์ แฟมิลี ให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าที่เป็นสมาชิกในการใช้บริการไปรษณีย์ไทย และพรีวิเลจอื่น ๆ

ในปัจจุบันโพสต์ แฟมิลี มีสมาชิก 600,000 ราย และคาดการณ์สิ้นปี 1 ล้านราย โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มฐานลูกค้าที่สำคัญที่มีรอยัลตี้ และสร้างการเติบโตในระยะยาวได้เป็นอย่างดีอีกกลุ่มหนึ่ง

แม้ไปรษณีย์ไทยจะมีการปรับตัวแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านรายได้และผลกำไรที่ลดลง

จนเกิดภาวะขาดทุนในช่วงปี 2564-2565

เมื่อดูรายได้ย้อนหลังพบว่า

ปี 2563 รายได้ 24,210 ล้านบาท กำไร 385 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้ 21,734 ล้านบาท ขาดทุน 1,624 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้ 19,714.27 ล้านบาท ขาดทุน เกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากโครงการ Early Retire ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่

และถ้าไม่รวม Early Retire ไปรษณีย์ไทยขาดทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

ก่อนที่จะพลิกขึ้นมาเป็นกำไรในครึ่งปีแรก 2566 ที่ทำรายได้ 10,833.31 ล้านบาท กำไร 157.72 ล้านบาท

รายได้ทั้งหมดนี้มาจาก

กลุ่มบริการ ขนส่งและโลจิสติกส์ 44.11%

กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04%

กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60%

กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35%

บริการการเงินและอื่น ๆ 2.84%

 

และ ดร. ดนันท์คาดการณ์ว่าปิดปี 2566 ไปรษณีย์ไทยจะสามารถทำรายได้ 20,000 ล้านบาท และกำไร 300 ล้านบาท

พร้อมกับวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านแนวทาง 1-4-0 ประกอบด้วย

1 – การเป็นที่หนึ่งเรื่องคุณภาพ พร้อมส่งมอบคุณค่าด้วยบริการ

4 – มีเส้นทางการขนส่ง ประกอบด้วยทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางอากาศ  และทางดิจิทัล

และ 0 ประกอบด้วย Zero Complaint ลดข้อร้องเรียนเป็นศูนย์ ด้วยการตั้งทีมแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด และ Net Zero เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 เช่นการปรับสู่รถ EV และการผลิตไฟฟ้าสะอาดขึ้นมาเองผ่านโซลาร์รูฟ เป็นต้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online