ป๊อปมาร์ท ชี้ ตลาดอาร์ตทอยส์ไทยศักยภาพสูง มั่นใจรายได้ป๊อปมาร์ท ประเทศไทย ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนในหนึ่งปี
ช่วงโควิดที่ผ่านมาสินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบมาก เเต่ไม่ใช่กับ Art Toy ของเล่น ของสะสมผู้ใหญ่ ที่ยอดขายไม่ตกลงในช่วงโควิดที่ผ่านมา
จากกระแสป๊อปคัลเจอร์ (POP Culture) ที่กลายเป็นกระแสยอดนิยม ส่งผลให้ธุรกิจอาร์ตทอยส์ โดยเฉพาะตลาดอาร์ตทอยส์ในไทย ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทย ที่มักจะกว้านซื้อเก็บทุกคอลเลกชัน ต่างจากประเทศอื่นที่ซื้อเพียง 2-3 ชิ้น เเล้วสะสมแบบไม่กำหนดคอลเลกชัน
ป๊อบมาร์ท แบรนด์ธุรกิจอาร์ตทอยส์จากคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน ในรูปแบบกล่องสุ่ม (Blind Boxes) สัญชาติจีน เป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมของเล่น จึงรีบคว้าโอกาสบุกตลาดอาร์ตทอยส์ไทย ต่อจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
มร.จัสติน มูน ประธาน ป๊อบมาร์ท อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า ตลาดอาร์ตทอยส์หรืองานศิลปะของประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี มีการขยายตัวของกลุ่มประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมาป๊อบมาร์ทมีจำหน่ายในช่องทาง Shopee และ Lazada อยู่ก่อนเเล้ว ผลตอบรับที่ดีเกินคาด ยอดขายมากกว่าที่คาดไว้ 5-6 เท่า ทำให้ป๊อบมาร์ทตัดสินใจลงทุนในไทยอย่างเป็นทางการ อีกทั้งบริษัทเผยข้อมูลว่า ไทยคือชนชาติแรกที่เมื่อเปิดประเทศหลังโควิด เป็นลูกค้าหลักที่เข้าซื้อสินค้าหน้าร้านในประเทศจีนเเละเกาหลีมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย ป๊อปมาร์ทได้ร่วมทุนกับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Minor Lifestyle ในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างเครือข่ายการขายแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่ครบวงจร เนื่องจากภูมิภาคนี้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อสูง ตลาดออฟไลน์-ออนไลน์มีการเติบโตในทิศทางที่ดี ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างในการรับวัฒนธรรมและสินค้าจากต่างประเทศ
กลยุทธ์การตลาดแบบกล่องสุ่มสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้า โดยเฉพาะคนไทยที่ส่วนใหญ่ารซื้อขายเกิดความคึกคักอย่างมากในตลาดไทย
มร.จัสติน เปิดเผย ผลการดำเนินธุรกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ว่าซื้อเพื่อการสะสมให้ครบทุกคอลเลกชัน ช่วยให้กระแสนิยมอาร์ตทอยส์ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,814 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 19.3% นอกจากนี้ กำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วยังเพิ่มขึ้นเป็น 535 ล้านหยวน หรือคิดเป็น 42.3%
ด้านรายได้ในต่างประเทศ (นอกจีน) คิดเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมด ในปีนี้รายได้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 139.8% อยู่ที่ 376 ล้านหยวน นอกจากนั้น บริษัทยังทำกำไรได้สูงถึง 78.89 ล้านหยวน คิดเป็นอัตราการเติบโต 183% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ครึ่งปีแรกของ 2566 ป๊อปมาร์ทขยายสโตร์ไปรวมทั้งสิ้น 432 ร้านทั่วโลก (อยู่ในจีน 400 สาขา) ขยายตู้ขายอัตโนมัติเพิ่ม 2,328 ตู้ อีกทั้งฐานลูกค้าปรับตัวสูงตาม
ป๊อบมาร์ทในเอเชียดำเนินธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และไทยเป็นลำดับล่าสุด เเละภายในหนึ่งปี ป๊อปมาร์ท ประเทศไทย ตั้งเป้าขึ้นเป็นสาขาที่สร้างรายได้อันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่องทางการจำหน่ายทั้งหมด แบ่งได้เป็น หน้าร้าน POP MART ตู้ขายอัตโนมัติ (Roboshops) แพลตฟอร์มออนไลน์ เเละการขายส่งให้ร้านค้าปลีกอื่นทั้งในและต่างประเทศ
สินค้าอาร์ตทอยส์จะนำเสนอทั้งหมด 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดปกติ (Regular), ขนาดใหญ่ (Big) และขนาดใหญ่พิเศษ (MEGA) ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมขนาด MEGA มากที่สุด แม้จะมีราคาสูงที่สุดก็ตาม เพราะเป็นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่ชอบสะสม โดยเฉพาะรุ่น MEGA SPACE MOLLY คาดว่าจะเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ สร้างแรงกระเพื่อมให้อาร์ตทอยส์ไทยขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ได้
ราคาเริ่มตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด แต่เป็นราคาที่สูงกว่าสิงคโปร์ 10% อันเนื่องมาจากภาษี
ส่วนรุ่น Limited Edition สำหรับสโตร์แห่งแรกนี้จะมีเพียง 140 ตัวเท่านั้น ผู้ที่จะสามารถซื้อได้ ต้องมียอดใช้จ่ายภายในร้านถึง 10,000 บาท จึงจะมีสิทธิซื้อสินค้าลิมิเต็ดได้
“ความสำเร็จของป๊อบมาร์ทในฐานะผู้นำธุรกิจอาร์ตทอยส์นั้น ปัจจัยหลักมาจากการมีฐานลูกค้าชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ และธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย การเเข่งขันไม่รุนเเรง เพราะค่อนข้างเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม รวมถึงการที่ป๊อปมาร์ทมีโรงงานผลิตของตนเอง สามารถควบคุมการผลิตได้” มร.จัสตินกล่าว
ซึ่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ผ่านมาของป๊อปมาร์ทเป็นเพราะการเปลี่ยนแผนการผลิตสินค้า จากเดิมที่ฟิกเกอร์จะมุ่งเน้นเจาะกลุ่มนักสะสมชาย หน้าตาสินค้าอาจไม่ถูกใจลูกค้าผู้หญิง อีกทั้งยังขายในราคาที่สูง เเต่เมื่อเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่อ่อนหวาน ราคาถูกลง ถูกใจผู้หญิง ส่งผลให้สัดส่วนลูกค้ากลายเป็นเพศหญิง 70% เป็นจุดเปลี่ยนให้ป๊อปมาร์ทมียอดขายกระโดดจากคู่เเข่ง
สำหรับประเทศไทย บริษัทจะเปิดร่วมงานกับนักออกแบบและศิลปินที่หลากหลายมากขึ้น ต่างจากตลาดในประเทศญี่ปุ่นที่จะสร้างจากตัวละครแอนิเมชันขึ้นมาเป็นฟิกเกอร์ เเต่ไทยจะสร้างจากงานศิลปะของศิลปินเป็นหลัก กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงแตกต่างกับประเทศอื่น
โดยที่อาร์ตทอยส์จะเเบ่งการผลิตออกได้เป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย ผลิตจากตัวศิลปินโดยตรง ร่วมงานกันเป็นโปรเจกต์ไป และ Collaboration
บริษัทจะสร้าง Iconic Crossovers กลยุทธ์ที่ใช้เพิ่มเสน่ห์ให้แก่ผลงานอาร์ตทอยส์ของป๊อปมาร์ทซึ่งมีจำนวนจำกัด ดังเช่นผลงานที่ผ่านมา อาทิ Molly x Snoopy, Labubu x Spongebob ฯลฯ นอกจากนั้น การร่วมมือกับสตูดิโอและแบรนด์ระดับโลกอย่าง Inner Flow, Silent Trick, Gone ฯลฯ ยังช่วยสร้างความตื่นเต้นและมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค
ป๊อปมาร์ทนิยามตนเองเป็นเสมือนห้องจัดแสดงผลงานศิลปะ ที่รวมผลงานทรงคุณค่าของเหล่าศิลปินและนักออกแบบจากทั่วทุกมุมโลก สร้างความสัมพันธ์กับคอมมูนิตี้นักออกแบบด้วยการเปิดเวทีเฟ้นหาศิลปิน Largest Art Toys Show in ASIA อยู่ตลอด
นอกจากแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทย ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ที่บริษัทลงทุนไปมากกว่า 10 ล้านบาท ป๊อปมาร์ทวางแผนเปิดสาขาที่ 2 ต่อเนื่องในปลายปีนี้ รวมถึงเปิดร้านค้าปลีกและป๊อปอัปเพิ่มอีก 20 แห่ง ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (POP MART ROBOSHOP) อีก 50 ตู้ทั่วประเทศ
ป๊อปมาร์ท แฟลกชิปสโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งอยู่ชั้น 1 พื้นที่ 169 ตารางเมตร ประกอบด้วยโซนที่หลากหลาย อาทิ
- คอลเลกชันกล่องสุ่ม (Blind Box Collections) คอลเลกชันที่หายากที่สุด
- คอลเลกชันสุดพิเศษ SKULLPANDA Hoar Frost Thailand Limited Edition มีเพียง 140 ชิ้นเท่านั้น เฉพาะที่แฟลกชิปสโตร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ประเทศไทย
- คอลเลกชันเฉพาะช่วงเปิดร้าน ได้แก่ SKULLPANDA Dark Maid Figurine, Labubu Diver’s Manual, Labubu Shepherd Figurine, Hirono Unknown journey และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งวางจำหน่ายเฉพาะช่วงเปิดร้านเท่านั้น
- คอลเลกชัน MEGA ได้แก่ MEGA SPACE MOLLY 400% & 1,000%
- คอลเลกชันอื่น ๆ อาทิ POP BEAN, Big Figure และ Inner Flow Collection
พบกันได้เเล้วที่ชั้น 1 เซ็นทรัลเวิลด์ (ข้างร้าน SHAKE SHACK)
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ