บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยความคืบหน้าแผนพัฒนาธุรกิจเรือธงสู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านภายในปี 2568 ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ขับเคลื่อนการเติบโตของ 4 ธุรกิจเรือธง “ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหน่วยงาน Corporate Venture Capital” เพื่อสร้างสรรค์พลังงานที่ยั่งยืนและโซลูชันพลังงานสะอาด ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับทุกคน

บ้านปูสร้างการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากร ต่อเนื่องกว่า 10 ปี นับแต่การเริ่มเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก 

สมฤดี ชัยมงคล Chief Executive Officer บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับจากนี้พอร์ตโฟลิโอพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานจะเติบโตอย่างมาก ขณะเดียวกันยังนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ 

4 ธุรกิจเรือธง และ 1 หน่วยงาน กับเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต 

  • ธุรกิจเหมือง ปัจจุบันไม่มีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด
  • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์  บ้านปูเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) โครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) และโครงการ “High West (ไฮเวสต์)” เป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ

โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี 2568 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในทศวรรษ 2573 

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน  ล่าสุดเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เพื่อ Synergistic Value กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม 

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

  • ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ ดังนี้ 

ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต  4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ 

นอกเหนือจาก 4 ธุรกิจเรือธงแล้ว ในปี 2565 บ้านปูได้จัดตั้งหน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู  หน่วยงานนี้จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน 

ที่ผ่านมาได้ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน Warburg Pincus ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดในต่างประเทศ กองทุน Heyokha Makha ที่จะส่งเสริมการทำโครงการเหมืองแร่แห่งอนาคต และกองทุน Smart City ของ Eurazeo ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในสตาร์ทอัป AirCarbon Exchange (ACX) แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับโลก

นอกจากนี้ หน่วยงานสำคัญ (Key Enabler Units) ที่เป็นทัพขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรบ้านปูตลอดเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมา หน่วยงานมีหน้าที่ดูแลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนการสร้างแบรนด์และสื่อสารองค์กร เพื่อส่งมอบ ‘อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน’ (Smarter Energy for Sustainability) 

  • การพัฒนาที่ยั่งยืน 

บ้านปูตั้งเป้าหมายทางธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Sustainable Development Goals: SDGs ของสหประชาชาติ  มุ่งให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 1.1 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568 และลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบสุทธิเชิงบวกหลังสิ้นสุดการทำเหมืองภายในปี 2568

นอกจากนั้น ในปีนี้บ้านปูได้จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตามแนวปฏิบัติของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม 

  • การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

วัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู ฮาร์ท” ยึดมั่นในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Diversity & Inclusion) 6,000 คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บนพื้นฐานของการเปิดกว้างและความเคารพซึ่งกันและกัน สร้างบ้านปูให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยจัดตั้งหน่วยงาน Banpu Academy ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมพร้อมผู้บริหารและพนักงาน 

  • เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม 

บ้านปูยังคงเดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อย่างชาญฉลาดทั่วทั้งองค์กร สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กร เปลี่ยนผ่านธุรกิจจำนวนหลายโครงการ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น แอปพลิเคชัน NiXT Care ที่ใช้เรียกดูข้อมูลจากอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น มิเตอร์ไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้า และอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานทุกแห่งได้อย่างสะดวก เพื่อนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และวางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว 

  • การดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม 

โดยให้ความสำคัญกับ “การสร้างเสริมศักยภาพและพลังให้กับคน” (Human Empowerment) ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิต ด้วยการเดินหน้าโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม โครงการค่ายเพาเวอร์กรีน และสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู 

  • การสร้างแบรนด์และสื่อสารองค์กร

ที่ผ่านมา บ้านปูสื่อสารแบรนด์และองค์กรผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับจัดงานสัมมนาด้านความยั่งยืน ‘Sustrends 2024’ จัดโครงการ ‘Infinite Cafe Powered by Banpu NEXT’ ป๊อปอัปคาเฟ่ที่ใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร และจัดแคมเปญ ‘เพลงรักจากพลังงานสะอาด’ จัดทำบทเพลง ‘เป็นเธอ (Brighter Sky)’ ด้วยโซลูชันพลังงานสะอาดในทุกขั้นตอนการผลิตเพลง  

“ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนของผู้บริหารและพนักงานบ้านปู ที่ทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) และหลัก ESG ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บ้านปูสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน นอกจากนั้น บ้านปูตั้งเป้าภายในปี 2568 EBITDA ต้องมาจากพลังงานสีเขียว 50% ของ EBITDA ทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเเท้จริง” สมฤดี กล่าวปิดท้าย  



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online