ย้อนไปช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา Disruption และ Start-up คือคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกวงการ และบริษัทน้องใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ฝันใหญ่หวังก้าวไปเป็นบริษัทใหญ่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

ณ ช่วงเวลาดังกล่าวการล้มของบริษัทที่อยู่มานานแต่ไม่ปรับตัวมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Toy R Us ที่เจอ Disruption ถึง 2 ครั้ง จนที่สุดเกินเยียวยานำไปสู่การล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม จากนั้นสถานการณ์ของยักษ์ของเล่นค้าปลีกกำลังขึ้นตามลำดับ จนล่าสุดรุกตลาดใหม่เพื่อการคืนชีพ

Charles Lazarus

Toy R Us เริ่มต้นจากร้านเฟอร์นิเจอร์เด็กอ่อนชื่อ Children’s Bargain Town ในสหรัฐฯ ที่ Charles Lazarus ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนมาขายของเล่นเด็กเพื่อรับทหารอเมริกันที่กลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่างก็อยากสร้างครอบครัวหรือยุค Babyboom 

ปี 1957 ของเล่นในร้าน Children’s Bargain Town ขายดีจนแซงหน้าเฟอร์นิเจอร์เด็ก Charles Lazarus จึงหันมาขายของเล่นเต็มตัวและเปลี่ยนชื่อร้านเป็น Toy R Us พร้อมเดินหน้าขยายสาขา โดยใช้เจ้ายีราฟชื่อ Geoffrey เป็นมาสคอตมัดใจเด็ก ๆ

ถัดจากนั้น Toy R Us ก็ขยายสาขาไปทั่วสหรัฐฯ และต่างประเทศ จนเป็นร้านที่เด็ก ๆ ทั่วโลกต้องรบเร้าให้พ่อแม่พาเข้าไปซื้อของเล่นทุกครั้งที่เดินผ่าน ความก้าวหน้าดังกล่าวส่งห้างค้าปลีกของเล่นจากยุค Babyboom ทำ IPO ได้สำเร็จในปี 1980 

ข้ามมาในปี 2001 ก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการเปิดสาขาใหญ่แบบ Flagship Store ย่าน Time Square ของนครนิวยอร์ก ซึ่งมีจุดขายอยู่ที่มีทั้งชิงช้าสวรรค์และบ้านตุ๊กตาขนาดใหญ่ในร้าน ซึ่งเวลานั้นฮือฮามากเพราะเหมือนการยกสวนสนุกมาไว้ในร้านขายของเล่นนั่นเอง  

แต่แล้วขาลงของ Toy R Us ก็มาถึง โดยระลอกแรกคือปี 2005 หลังเด็กหันมาเล่นวิดีโอเกมมากกว่าของเล่น ตามด้วยระลอกสอง 

หลังประมาท ไม่เชื่อว่าพ่อแม่จะซื้อของจาก E-Commerce แทนการเข้าไปเลือกซื้อพร้อมลูก ๆ ในร้าน ที่สุดก็ขาดทุนอย่างหนัก และมีหนี้ท่วมสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 115,000 ล้านบาท) นำมาสู่การล้มละลายในปี 2018

เหตุการณ์ยักษ์ล้มดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแบรนด์ของเล่นที่วางขายอยู่ใน Toy R Us ด้วย โดยทำให้ Mattel Hasbro แบรนด์ของเล่นอเมริกันชื่อดัง รวมไปถึง Lego แบรนด์ตัวต่อประเทืองปัญญาสัญชาติเดนมาร์กขาดทุน พร้อมกันนี้ยังฉุดให้ตลาดของเล่นในสหรัฐฯ หดตัว 15-20% ตามสาขา Toy R Us ที่ต้องปิดไปด้วย 

หลัง Toy R Us ล้มละลาย นำมาสู่การปรับโครงสร้างและล้างหนี้ สถานการณ์ในตลาดของเล่นออนไลน์กลับสวนทาง เพราะ E-Commerce และ Social Media กลายเป็นช่องทางที่บรรดาลูกค้าของเล่นทั้งกลุ่มพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ซื้อมาสะสมมากขึ้น ๆ

ข้ามมาปี 2021 ช่วงที่โลกติดภาวะล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิดบริษัทที่ปรึกษาแบรนด์ WHP Global ก็เข้าซื้อกิจการ Toy R Us พร้อมแผนปรับโครงสร้างด้วยการพารุก E-Commerce และทยอยกลับมาเปิดสาขาที่ปิดไป

ล่าสุดกันยายนปีนี้ (2023) Yehuda Shmidman ประธานบอร์ดบริหารและซีอีโอของ WHP Global เผยว่าสถานการณ์ของ Toy R Us ดีขึ้นมาก โดยจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านตามสาขา 1,400 แห่งทั่วโลกใน 31 ประเทศ เพิ่มขึ้นมา 50%

และยังเดินหน้าเปิดสาขาแบบ Flagship Store ใหม่ 24 แห่งพร้อมกันนี้ยังจะได้เปิดสาขาในสนามบินและเรือสำราญ ตามแผน Air Land Sea เพื่อใช้ยอดขายจากตลาดของฝากที่พ่อแม่และคนในครอบครัวซื้อหาไปฝากลูก ๆ หลาน ๆ ยามเดินทางท่องเที่ยวด้วย

สาขาแรกตามแผนฟื้นฟูกิจการรอบใหม่ของ Toy R Us ซึ่งจับมือกับ Duty Free Americas จะเปิดพฤศจิกายนนี้ ที่สนามบินนานาชาติ Dallas Fort Worth โดยมีแนวโน้มว่าจะไปได้สวย

เพราะวิกฤตโควิดจบลงแล้วและผู้คนทั่วโลกต่างก็กลับมาเดินทางท่องเที่ยวจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เงินสะพัดในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งโรงแรมและของฝากตามไปด้วย/cnn, wikipedia



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online