ระเฑียร ศรีมงคล ถึงเวลาส่งไม้ต่อให้ พิทยา วรปัญญาสกุล นำทัพ KTC บุกตลาดบัตรเครดิต
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเปลี่ยนผู้นำทัพขององค์กรคนใหม่
จาก ระเฑียร ศรีมงคล ที่สร้างความแข็งแรงให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการทำงาน 12 ปีของเขา
เป็น พิทยา วรปัญญาสกุล ลูกหม้อเก่าแก่ที่ร่วมงานกับเคทีซีนานถึง 26 ปี
ทำไมองค์กรจึงกล้าให้ความไว้วางใจเธอ
“ถึงแม้จะเป็นบริษัทที่มีทีมงานแข็งแกร่ง แต่ถ้าเราไม่ได้ผู้นำที่ดีพอ เป้าหมายที่วางไว้ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ”
คือความเห็นจากระเฑียร
แล้วองค์กรใหญ่แห่งนี้มีวิธีการคัดเลือกผู้นำอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่พิทยามั่นใจว่าบนโลกใบเก่าที่ไม่สามารถทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ได้นั้นเธอสามารถนำทีมไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน
การเดินทางของเคทีซีจะเริ่มต้นอีกครั้งพร้อมสานต่อเรื่องราวดี ๆ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องโดยทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มี พิทยา เป็นผู้นำ
“The story continues…the next journey begins”
ปีนี้ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นำกองทัพสื่อมวลชน และทีมผู้บริหารลัดฟ้าไปแถลงข่าวไกลถึงกรุงอิสตันบูล มหานคร 2 ทวีป ประเทศทูร์เคีย ในประเด็น
“เคทีซีพร้อมส่งไม้ต่อให้กลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ดีเอ็นเอเดิม ‘The story continues…the next journey begins’”
โดยมี ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะครบกำหนดการขยายเวลาเกษียณอายุ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ไปส่งมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ต่อ พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร “เคทีซี”
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ระเฑียรให้ความเห็นถึงวิธีคิดในการเลือกผู้นำคนต่อไปของ KTC ว่า
“ผมเคยพูดมาตลอดว่า เคทีซี เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เรามีทีมงานที่ดี ดังนั้น ไม่ว่าใครมาเป็น CEO ก็มั่นใจว่าธุรกิจจะยังคงสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แต่พอมาเจอเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ของโลก บริบทใหม่ ๆ ของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราถึงตระหนักว่าแม้จะเป็นบริษัทที่มีทีมงานที่เก่งแต่ถ้าไม่ได้ผู้นำที่ดีพอ ก็อาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้”
ก่อนหน้านี้อาจจะมีรายชื่อของหลายคนที่ถูกเสนอขึ้นมาให้เป็นผู้นำคนใหม่ของ เคทีซี แต่มีหลายเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการบริษัทเลือกพิทยา
“เพราะกระบวนการคัดเลือก CEO ของเราเรื่องของ Hard Skill อาจจะไม่ใช่หัวใจที่สำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องเป็นคนที่มี Leadership Operating System หรือเรียกว่า มี Leadership OS ที่ดี”
เขาอธิบายว่า Leadership OS ประกอบไปด้วย
1. ต้องสร้าง Trust หรือศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร ลูกค้า และ Stakeholder ทุกกลุ่ม
การที่จะสร้าง Trust ภายในองค์กรได้ สิ่งที่ต้องมีคือ 1. ต้องเป็นคนที่ห่วงใยบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนใต้บังคับบัญชา หุ้นส่วนธุรกิจ และพาร์ตเนอร์ 2. ต้อง Provide Psychological Safety ทำให้ลูกน้องกล้าที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ 3. ต้องเป็นคนที่มี Reliability คือเป็นคนที่ชัดเจน ไม่โลเลพูดกลับไปกลับมา 3. ต้องเป็นคน Fair คือคนทำมากต้องได้มาก คนที่ไม่ทำต้องได้น้อย ทั้ง 3 เรื่องคือลักษณะของผู้นำที่จะสร้าง Trust ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้
2. ต้องมีความชัดเจน ผู้นำของ เคทีซี ต้องรู้ว่าเราจะไม่ทำในสิ่งที่ผิด ไม่ทำอะไรที่สร้างปัญหาให้สังคม ต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองคิดและสิ่งที่ตัวเองพูด และต้องสร้าง Value ที่ดีให้สังคมและองค์กร
“Value หรือ Culture เป็นสิ่งที่ไม่ได้เขียนเป็นตัวหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวคน เคทีซี ที่หากคุยกับใครสักคน เราจะรู้เลยว่านี่เป็นคนเคทีซี เพราะคน เคทีซี จะคิดแบบนี้ และทำแบบนี้”
3. ต้องสร้าง Momentum สามารถทำในสิ่งที่เราทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และตอบสนองต่อไปได้ในอนาคต และการที่จะมี Momentum ต้องเป็นคนที่มี
1. Motivation สร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจให้กับทีมงานได้ รวมทั้งต้องมีความมั่นใจในผู้ใต้บังคับบัญชา
2. Confidence คือต้องมีความมั่นใจในผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องมีความมั่นใจในงานที่ตัวเองจะทำ
3. Empowerment วันนี้เราขึ้นมาเป็นใหญ่ วันหนึ่งก็ถึงเวลาที่ต้องลง เป็นวัฏจักร ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าเรามีผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะขึ้นมาต่อจากเราได้ในอนาคต
“Empowerment คือการที่เราสนับสนุนลูกน้อง ทำให้เขาเติบโต แล้วกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าดำเนินการทำงานอะไรก็ตามแต่ได้ในวันที่ไม่มีเรา”
4. ต้องมี Connection ทั้งกับพนักงาน Stakeholder Partner และสื่อมวลชน
ทั้งหมดคือด้าน Soft Skill ที่ระเฑียรมั่นใจว่าพิทยามี ส่วนในเรื่องของ Hard Skill นั้นเขาบอกว่า พิทยาเป็นคนที่มีความเข้าใจและเป็นคนที่รู้เรื่อง Strategy รู้กลยุทธ์ขององค์กรเป็นอย่างดี
เมื่อถามว่าที่ CEO คนใหม่ว่าอะไรที่ทำให้เธอกล้าขึ้นมารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้
พิทยาตอบว่า “คน” และ “ทีมผู้บริหาร”
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เคี่ยวกรำคนและทีมงานอย่างเข้มข้น มีคนเก่งบวกประสบการณ์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการเข้าใจในดีเอ็นเอ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของเรา เพื่อจับมือไปด้วยกันสู่เป้าหมายที่วางไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า”
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก กฎระเบียบใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจที่ออกมา เธอมองว่าทุก ๆ ปี เคทีซี ก็เจอเรื่องพวกนี้มาโดยตลอด แต่สามารถผ่านมาได้อย่างแข็งแรง ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่ต้องเตรียมรับมือ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานตลอดเวลา
“พี่อยู่การตลาดมา 20 กว่าปี พอถึงตอนนี้เราเริ่มมาสัมผัสแต่ละแผนก เรายิ่งรู้ความเก่งของเขาจริง ๆ ทำให้มั่นใจว่าเขาสามารถนำทัพไปพร้อม ๆ กับเราได้”
ที่ผ่านมา ระเฑียร เป็นเจ้านายที่เก่งมาก จะสร้างแรงกดดันกับตัวเองหรือเปล่าเพราะพนักงานอาจคาดหวังไว้สูง
“ไม่กดดันค่ะ แต่มันทำให้เรายิ่งมุ่งมั่นที่จะต้องทำผลงานให้ดีอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายกำไร 10,000 ล้านบาทอาจจะทำไม่ได้ในปี 2570 ตามที่คุณระเฑียรเคยวางไว้ เพราะต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจในช่วงเวลานี้มีความยาก ความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ธุรกิจโตขึ้นกว่าเดิมแน่นอน”
เธอยอมรับว่าระเฑียรคือโมเดลที่ดี
“ในช่วง3-4 เดือนที่ผ่านมาเมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องรับตำแหน่ง ทำให้ได้ทำงานใกล้ชิดกับคุณระเฑียรมากขึ้น แกเป็นคนที่ลงในรายละเอียดมาก ลงรีวิวเองในหลาย ๆ เรื่องในทุกอาทิตย์ ใครจะคิดว่าซีอีโอลงมาทำ แต่มันคือหัวใจ และเป็นสิ่งที่พี่ต้องทำต่อไปเช่นกัน”
พิทยายังกล่าวว่า
“ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของเคทีซีคือการปลูกฝังค่านิยมองค์กร (Core Value) ให้คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน ได้แก่ 1. กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2. ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ 3. ทำสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ รวมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นจากภายในเคทีซีไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้น และสังคม”
เคทีซียังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดยเคทีซีจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซีซึ่งมีการเติบโตที่ดีมาตลอดปี 2566 เชื่อมั่นว่ายังสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ต่อไป สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจะยังเติบโตได้จากฐานลูกค้าใหม่และพอร์ตปัจจุบัน ซึ่งเป็นพอร์ตที่นับว่ามีคุณภาพ
ส่วนของสินเชื่อ “เคทีซีพี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคทีซีเห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้มากในปี 2567 จากความร่วมมือในการขยายฐานสมาชิกกับธนาคารกรุงไทย
ส่วนธุรกิจ MAAI by KTC (มาย บายเคทีซี) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management-CRM) และแพลตฟอร์มลอยัลตี้แบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (Loyalty Platform) ที่เราบ่มเพาะมาระยะหนึ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เรามุ่งจะสร้างการเติบโตในปีหน้า”
“การนำพาธุรกิจเคทีซีต่อจากนี้จะตั้งอยู่บน 3 องค์ประกอบคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เริ่มจาก คน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เราดูแลและให้ความสำคัญมาตลอด ในปีหน้าจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง โดยเน้นการสร้างความเป็นผู้นำเพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับกระบวนการจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยยึดสมาชิกเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าใจความต้องการของสมาชิกและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งปรับปรุง”
ผลิตภัณฑ์และบริการของเคทีซี ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น เคทีซียังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) ในโครงสร้างระบบด้านไอที รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัย ความเสถียร ยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการดำเนินงานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ เคทีซียังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการที่ปัจจุบันเคทีซีได้ใช้ AI อยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือการเริ่มศึกษาทดลองและใช้ Generative AI ในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ
จาก ระเฑียร ศรีมงคล ถึง พิทยา วรปัญญาสกุล
สำหรับแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่าง ๆ ในปี 2567 จะประกอบไปด้วย
ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี ตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ เติบโต 15% จากปี 2566 โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอปฯ “KTC Mobile” ต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมต่าง ๆ เองได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
สำหรับการบริหารพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิตจะทำงานแบบเชิงรุก เพื่อให้สมาชิกมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และเป็นพอร์ตลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยใช้ระบบมาร์เก็ตติ้ง ออโตเมชัน (Marketing Automation) เป็นเครื่องมือการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าแบบเซกเมนต์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี เรายังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี
สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ
1. สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที รวมทั้งจะพัฒนากระบวนการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของเคทีซีและของพาร์ตเนอร์
2. สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิก “เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นการ “รูด โอน กด ผ่อน” โดยจะเพิ่มฟังก์ชันการเบิกถอนและใช้วงเงินผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ให้รองรับการโอนเงินไปยังบัญชีพร้อมเพย์ เพิ่มเติมจากการโอนเงินเข้าบัญชีได้หลากหลายธนาคารในปัจจุบัน รวมทั้งจะยังคงจัดแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ที่โดนใจสมาชิกมาตลอด 10 กว่าปี เพื่อส่งเสริมและตอบแทนให้ผู้ที่ใช้สินเชื่ออย่างมีวินัย ได้รับสิทธิ์ลุ้นเคลียร์หนี้กับเคทีซี”
สำหรับ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ได้ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ
1. เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
2. ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้า ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร อย่าง NEXT ถุงเงินและเป๋าตัง โดย “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเดียวของธนาคารกรุงไทย ที่สามารถทำรายการอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินทันที
3. ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้กับจุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย”
ในส่วนของ MAAI by KTC ในปี 2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลตฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ แพลตฟอร์ม MAAI ยังมีการนำเสนอโมเดลการให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยพันธมิตรร้านค้าบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะพัฒนาเชิงกลยุทธ์ใน 3 เรื่องหลักคือ
1. ต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์ม ฟีเจอร์หรือฟังก์ชันใหม่ ๆ ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
2. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอปฯ MAAI by KTC ให้ง่าย สะดวกและดียิ่งขึ้น
3. ขยายร้านค้ารับแลกคะแนน MAAI ให้ครอบคลุม
อีกเรื่องสำคัญที่เคทีซีทำมาตลอดและจะทำต่อไปคือ การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์และสร้างความไว้วางใจแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” ที่เชื่อมต่อการชำระแบบคิวอาร์เพย์ (QR Pay) และการชำระผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ (Device pay) ซึ่งโดดเด่นด้านนวัตกรรมความปลอดภัยครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยรูปลักษณ์ของบัตรที่โปร่งแสงและไม่มีหมายเลขบนบัตร
อีกทั้งเลขหลังบัตรที่เปลี่ยนทุกครั้ง (Dynamic CVV/CVC2) การออก “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” ยังเป็นความตั้งใจของเคทีซีในการช่วยลดปริมาณขยะบัตรพลาสติกอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เคทีซียังได้รับการต่ออายุการรับรองระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO/IEC 27001:2013 และระบบบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ISO/IEC 27701:2019 รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนี SETTHSI และสมาชิก FTSE4Good Index Series อย่างต่อเนื่อง”
โปรดติดตามตอนต่อไป “The story continues…the next journey begins”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ