Marketeer เจอกับ “คุณแพร  ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” กรรมการอำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN (ซึ่งวันนี้เป็นอดีตไปแล้ว) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

วันนั้นเธอได้ฉายภาพยุทธศาสตร์และเป้าหมายของอมรินทร์ ที่จะกลับมาในภาพใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม แสดงถึงไฟและพลังงานในตัวที่มีอยู่เต็มเปี่ยม

แต่หลังจากนั้นเพียง 5 เดือนก็เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดแม้แต่พนักงานก็ตกใจกันหมด เมื่อเธอและสามี โชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ พร้อมทั้งคุณแม่ เมตตา อุทกะพันธ์ุ ถอนตัวออกจากการเป็นผู้บริหารทุกตำแหน่งเมื่อวานนี้ 17 ตุลาคม 2566

โดยมีผลโดยทันที

ย้อนเวลากลับไปบนถนนสายนี้ของระริน ผู้หญิงแกร่งของ อมรินทร์กรุ๊ป

หลังจากผ่านวิกฤตมาแล้วหลายรอบ ตั้งแต่คุณพ่อ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์  ผู้ก่อตั้ง เสียชีวิต ภาระทั้งหมดตกอยู่บนบ่าของเธอซึ่งเป็นลูกสาวคนโต

แต่โชคดียังเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเฟื่องฟู อมรินทร์ กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย มีสำนักพิมพ์มากมาย มีหนังสืออยู่ในมือกว่า 10 หัว ก่อนที่จะทยอยปิดในเวลาต่อมาจนปัจจุบันเหลือประมาณ 5 หัว คือ แพรว บ้านและสวน ชีวจิต สุดสัปดาห์ และ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

เมื่อยุคดิจิทัลคืบคลานเข้ามาแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของค่ายนี้คือการกระโดดเข้าสู่ On Air ด้วยการเข้าไปประมูลช่องทีวีดิจิทัล “อมรินทร์ทีวี 34” เมื่อปี 2557 ด้วยเม็ดเงิน 3,320 ล้านบาท หวังจะช่วยชุบชีวิตจากการถูกดิสรัปต์ของสิ่งพิมพ์

แต่การแข่งขันกันสูงของช่องทีวีที่มีมากเกินไป ทำให้อมรินทร์ต้องเจอศึกหนักและความเจ็บปวดจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ปี 2559 บริษัทวัฒนภักดี โดย 2 พี่น้อง ฐาปน และปณต สิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้อมรินทร์เริ่มหายใจได้คล่องขึ้น

ระรินเคยเล่าว่า ฐาปนและปณตเข้ามาช่วยซัปพอร์ตด้านการเงินเป็นหลัก แต่ด้านการบริหารงานนั้นปล่อยวางไว้ในมือเธอเหมือนเดิม จนกระทั่งอมรินทร์กลับมาสร้างเม็ดเงินกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา

และในปี 2565 ยังสร้างรายได้และกำไรสูงสุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

สะท้อนถึงความสามารถของเธอและทีมงานได้เป็นอย่างดี

ระรินบอกว่าในช่วงแรก ๆ ที่สื่อสิ่งพิมพ์หัวใจของ “ครอบครัว” และ “องค์กร” ถูกดิสรัปต์นั้น กังวลและกลัวมากเหมือนกัน แต่ก็ต้องทำใจและตัดความกลัวออกไปให้ได้

“ถ้าตัดความกลัวได้ทำให้เรากล้าที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสนุกไปกับมัน”

วันนั้นดูเหมือนว่าเธอตัดความกลัวออกไปหมดแล้วยังสนุกกับมัน

จาก On Print เริ่มบุกหนักงาน On Ground คือจัดอีเวนต์และงานแฟร์ มากขึ้น เร่งสร้างตัวเลข Online รวมทั้งขยี้ในเรื่อง On Air จนเรตติ้งเพิ่มขึ้น

เธอยังมั่นใจจนกล้าตั้งเป้าหมายรายได้ถึง 6,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

ก่อนจะประกาศข่าวช็อกวงการ

คงเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดีกันต่อไปว่าในช่วงเวลาที่ท้าทายของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อทีวี รวมทั้งอีเวนต์ใหญ่ ๆเช่นบ้านและสวนนั้นใครจะมาเป็นผู้นำทีมคนต่อไป



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online