ห้าง “โรบินสัน” คือ 1 ในศูนย์การค้าระดับตำนานในเมืองไทยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา “โรบินสัน” ผ่านร้อนผ่านหนาวมีการปิดสาขาที่ประสบปัญหาขาดทุน จนเมื่อ “โรบินสัน” ค้นหาช่องว่างตลาดที่จะทำให้ตัวเอง “อยู่รอด และ เติบโต” ก็ค่อยๆ ขยายสาขาทีละนิดทีละน้อย

คู่แข่งทางอ้อมที่คือ คู่แข่งตัวจริง

โดยช่องว่างที่ว่าคือหาก “เดอะมอลล์ VS เซ็นทรัล” คือมวยคู่เอกระดับเฮฟวี่เวทที่เน้นสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ในขณะที่ “บิ๊กซี VS เทสโก้ โลตัส” คือศูนย์การค้า HyperMarket ที่เน้นขนาดเล็ก “โรบินสัน” ก็ขอเป็นศูนย์การค้าตรงกลางที่ยังไม่มีคู่แข่งชัดเจน

วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บมจ. โรบินสัน บอกว่า ในธุรกิจศูนย์การค้า “โรบินสัน” ยังไม่มีคู่แข่งโดยตรง แต่ถ้าถามว่าคู่แข่งทางอ้อมคือใครก็ต้องยอมรับว่าคือ บิ๊กซี กับ  เทสโก้ โลตัส

เหตุผลที่ “โรบินสัน” ยกให้ 2 ห้าง HyperMarket คือคู่แข่งนั้นเพราะทั้ง “บิ๊กซี” และ “เทสโก้ โลตัส” ต่างขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดจำนวนมากซึ่งไม่ต่างจาก “โรบินสัน” ที่ให้พื้นที่ต่างจังหวัดคือทำเลทองของตัวเอง

โดย “บิ๊กซี” มีสาขาขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ต่างจังหวัดเกือบ 70 สาขา ส่วน “เทสโก้ โลตัส” มีถึงเกือบๆ 100 สาขา นับเฉพาะสาขาต่างจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ 8,000 – 15,000 ตารางเมตร

วุฒิเกียรติ บอกว่าเกมบุกของ “โรบินสัน” ทั้งรูปแบบ Department Store และ Shopping Mall เมื่อไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดต้องดูทันสมัยมีโรงภาพยนตร์และมีแบรนด์ชั้นนำ ที่ทั้ง 2 Hypermarket ไม่มีร่วมถึงศูนย์การค้า Local ท้องถิ่น และสุดท้ายคือต้องมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าคู่แข่ง

สรุปง่ายๆ คือ “โรบินสัน” เลือกที่จะวางตำแหน่งเป็นศูนย์การค้าจับกลุ่มคนฐานะระดับกลางในต่างจังหวัด ขณะที่ 2 ห้าง HyperMarket อย่าง “บิ๊กซี และ “เทสโก้ โลตัส” จะจับกลุ่มคนระดับล่างเน้นเกมสงครามราคา

แต่ใช่ว่า “โรบินสัน” จะไปทุกจังหวัด เพราะหากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงก็ต้องรู้ตัวดีว่าไม่ใช่สนามแข่งของตัวเอง อาทิจังหวัด โคราช ที่เป็นศึกยักษ์ชนยักษ์ที่มีทั้ง “เดอะมอลล์ + เซ็นทรัล+ เทอมินอล 21”

กลยุทธ์ โรบินสัน

3 Size เลือกใช้ให้เหมาสม

เพราะฉะนั้น “โรบินสัน” เน้นทำเลต่างจังหวัดที่ไม่มีศูนย์การค้าระดับใหญ่ และการแข่งขันไม่สูง แต่ต้องมีช่องว่างตลาดที่กว้างมากพอที่จะทำให้ตัวเองสอดแทรกเข้าไปสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นจังหวัด เพชรบุรี,มหาชัย, กำแพงเพชร และอื่นๆ

เมื่อรู้ยุทธ์ศาสตร์ตัวเอง “โรบินสัน” ก็จะกำหนดขนาดของศูนย์การค้าในจังหวัดนั้นๆ ว่าจะสร้างขนาด เล็ก,กลาง,ใหญ่ โดยวิเคราะห์จากจำนวนและรายได้เฉลี่ยของประชากรในจังหวัดนั้นๆ

กลยุทธ์ โรบินสัน

การขยายสาขาที่ต้อง ช้าลง

ถึงจะมี 3 ไซส์ให้เลือกใช้เพื่อความเหมาสมในแต่ละพื้นที่ แต่เวลานี้ “โรบินสัน” เลือกจะเน้นไปที่ 2 ไซส์หลักคือ15,000 – 25,000 ตารางเมตรเป็นหลักในการเปิดสาขาใหม่ๆ

เหตุผลง่ายๆคือ เป็นการทำธุรกิจที่ระมัดระวังมากขึ้น โดย วุฒิเกียรติ บอกว่า ถ้าเปิดสาขาขนาดเล็กแล้วได้ผลตอบรับดี การขยายพื้นที่สาขานั้นเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนอง Demand  ย่อมทำได้ง่ายกว่าที่จะทำให้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แล้วเมื่อรู้สึกว่าพื้นที่ศูนย์การค้าตัวเองมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น และเมื่อต้องการลดขนาดให้เล็กลงจะทำได้ยาก

เพียงแต่ถ้าหากสังเกตช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “โรบินสัน” มีการขยายสาขาเพียงแค่ 2 -3 สาขา/ปี ซึ่งก่อนหน้านั้น อัตราการขยายสาขาต่อปีอยู่ที่ 4 -5 สาขา

เหตุผลหลักมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ถึงกระนั้น “โรบินสัน” เองก็ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อถึงปี 2020 ตัวเองจะต้องมี 55 สาขาจากเดิมมี 46 สาขา และแน่นอน 9 สาขาที่เพิ่มขึ้นถูกเข็มทิศชี้เป้าไปที่พื้นที่ต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด

กลยุทธ์ โรบินสัน

ซึ่งในเรื่องทำเลที่ดินไม่ใช่ปัญหาสำหรับ “โรบินสัน” เพราะ วุฒิเกียรติ บอกว่าที่ดินที่มีอยู่ในมือ ณ เวลานี้เพียงพอสำหรับขยายสาขา แค่รอโอกาสและจังหวะในการลงทุนที่เหมาะสม

เพราะในธุรกิจศูนย์การค้านั้น ต้องวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของคู่แข่ง, ความพร้อมของตัวเอง, และจำนวนประชากรและรายได้ค่าเฉลี่ยต่อหัว สุดท้ายคือพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละจังหวัด

เพราะฉะนั้น “โรบินสัน” ต้องคิดรอบด้านก่อนจะเปิดสาขาใหม่ๆ


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online