เศรษฐกิจญี่ปุ่น เจาะลึกต้นตอของปัญหาจะถดถอยไม่เลิกเลยหรือ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่ส่งออกอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเบอร์ต้น ๆ ของโลก เริ่มไม่วิ่งอยู่ในสปีดที่ตนเองเคยเป็นมา พวกเขาเริ่มอายุมาก เชื่องช้า และบางครั้งก็ถอยหลัง เหตุปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจของดินแดนต้นกำเนิดของซามูไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ใช่แล้วญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไม่โต ไม่โตไม่พอแถมติดลบด้วย นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าคนญี่ปุ่นแต่ละคนเริ่มไม่ได้สร้างผลิตภาพและใช้ทรัพยากรอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต อาจจะด้วยอายุของพวกเขามากขึ้น เทรนด์ของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนไป และคนเกิดใหม่ก็แทบจะไม่มี

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นไม่กี่ประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาก ๆ จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ สวนทางกับมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นดอกเบี้ยเอา ๆ นั่นทำให้เงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย และทำให้เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าแบบถึงที่สุด แน่นอนว่าพอเงินอ่อนค่าย่อมไม่ดีต่อการนำเข้าแน่นอน เพราะต้องใช้เงินเยอะขึ้นเพื่อซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ยังไม่พอในปัจจุบันอุตสาหกรรมเป็นหลักของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในระยะหลัง ๆ มานี้เริ่มถูกประเทศคู่แข่งอย่างจีน พัฒนาสินค้าในหมวดประเภทนี้มาแข่งและส่งออกขายทั่วโลกในคุณภาพที่ทัดเทียม แต่ราคาถูกกว่า ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นเสียรังวัดในการแข่งขันไปพอสมควร

และกับข่าวคราวล่าสุดที่ญี่ปุ่นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกด้วยขนาดเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ต้องมาเสียตำแหน่งให้กับเยอรมนีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2024 คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมยานยนต์ที่คนทั้งโลกใช้ และยังเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่งดงาม น่าหลงใหล น่าไปเยี่ยมชมให้ได้สักครั้งในชีวิต เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้

นาย ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นคนปัจจุบัน: The Government of Japan

เข้าใจโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะ คือ เน้นการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้น เราจะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมและบริการของญี่ปุ่นมีการพัฒนาอย่างมากในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โดยที่ญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่การส่งออกและการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายทางการเงินซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยที่ควบคุมความเป็นไปของเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยมีธนาคารกลาง คือ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ BOJ (Bank of Japan) ทำหน้าที่รับผิดชอบกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซื้อเข้าหรือขายคืนพันธบัตร หุ้นกู้ และรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและสำรองเงินตราต่างประเทศ เฉกเช่นเดียวกับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ

สิ่งหนึ่งที่หลายคนรับรู้ก็คือญี่ปุ่นนั้นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาตั้งแต่ปี 2008-2009 เพื่อจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การพึ่งพาปัจจัยภายนอก ปัจจัยทางวัฒนธรรมและโครงสร้าง อัตราเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัวกำลังกลืนกินเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ: The Japan Times

โดย BOJ มักจะใช้เครื่องมือผ่อนคลายเชิงปริมาณต่าง ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพมากที่สุด อย่างการใช้นโยบายให้อัตราดอกเบี้ยติดลบ  ซึ่งนโยบายการเงินของ BOJ นั้นมีเป้าหมายเพื่อให้ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศต่ำ ซึ่งก็แค่พยุงให้เศรษฐกิจของประเทศยังเดินต่อไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ก็คือ ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP มากที่สุดในโลก โดย 5 อันดับประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP มากที่สุดในโลกประกอบไปด้วย

  1. ญี่ปุ่น 262% ของ GDP
  2. เวเนซุเอลา 241% ของ GDP
  3. กรีซ 193% ของ GDP
  4. ซูดาน 182% ของ GDP
  5. เลบานอน 172% ของ GDP

จะสังเกตว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจติดทอป 5 ของโลก เว้นแต่ญี่ปุ่น ส่วน สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี อินเดีย มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา 121.7% ของ GDP
  • จีน 77.1% ของ GDP
  • เยอรมนี 77.8% ของ GDP
  • อินเดีย 89.3% ของ GDP

รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นก่อหนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พวกเขาไม่สามารถที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยนอกจากภาระหนี้สินที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบแล้ว กลุ่มบรรดาธุรกิจต่าง ๆ อาจจะล้มครืนลงไปได้ แถมต้นทุนค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นก็พลอยจะลำบากไปด้วย นั่นทำให้ญี่ปุ่นเลยติดกับดักดอกเบี้ยต่ำ (ข้อมูลปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.10%) พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าคนญี่ปุ่นจะฝากเงินก็ไม่ได้ดอกเบี้ย คนญี่ปุ่นจึงนิยมนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า และนี่แหละเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นยังสามารถก่อหนี้สาธารณะได้ เพราะไม่ใช่แค่ประชาชนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คือเจ้าหนี้หลักของรัฐบาลญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

 

อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำทำไมเศรษฐกิจถึงยังไม่มีทีท่าว่าจะดี

เป็นเวลานานเกือบ 2 ทศวรรษที่ญี่ปุ่นพยายามดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบ (นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Policy)) เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ หลังญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด (ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ) ประชาชนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี แม้นโยบายดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นได้ส่งต่อต้นทุนไปยังผู้บริโภค ผลักดันให้เกิดการขึ้นค่าแรงทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน  โดยเป้าหมายของ BOJ คือการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และเมื่อนั้นพวกเขาถึงจะพิจารณาเปลี่ยนการดำเนินกลยุทธ์จากผ่อนคลายเป็นเริ่มตึงตัว

จริงอยู่ที่การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนสร้างช่วยสร้างอุปสงค์ให้กับคนในประเทศ เพราะที่จริงแล้วทุกประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (ทุนนิยม+รัฐ แทรกแซงบ้างในสินค้าจำเป็น) ก็ต้องการให้การเติบโตของเศรษฐกิจมาจากการ “บริโภคภายในประเทศ” เป็นหลัก รวมไปถึงในบางประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวก็มักจะดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาได้

นาย คัตซึโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นคนที่ 32: Reuter

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมแม้ญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษก็แล้วแต่ทว่าเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แถมการเติบโตของ GDP ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ก็น่าจะหด ถ้าญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการปรับนโยบายทางการเงิน มีหลายสาเหตุที่การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ

  1. ปัญหาด้านประชากร เพราะญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น
  • ประเทศมีแรงงานที่ทำงานในระบบน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • ภาระภาษีตกอยู่กับคนวัยทำงานมากขึ้น ก็ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ
  • การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการ
  1. ปัญหาหนี้สิน ญี่ปุ่นมีหนี้สินภาครัฐสูง ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น
  • ภาระการชำระหนี้เป็นภาระต่อรัฐบาล ส่งผลต่อเงินทุนสำหรับการลงทุน
  • ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลต่อการลงทุนในประเทศ
  1. ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล้าสมัย ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น
  • ภาคธุรกิจมีการแข่งขันน้อย ส่งผลต่อประสิทธิภาพและนวัตกรรม
  • การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้งทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือและฟื้นฟูเมือง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวอาจมีความกังวลต่อความปลอดภัยและอาจชะลอการท่องเที่ยวออกไปก่อน

สงครามการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

  •     เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  •     ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้า
  1. ประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจไม่เพียงพอ

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจส่งผลข้างเคียงต่อ เศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น ปัญหาหนี้สิน ฟองสบู่

 

เยอรมนีขึ้นแท่นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกแทนญี่ปุ่น

สำนักข่าวชื่อดังอย่าง CNN รายงานว่า ด้วยการหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างกะทันหันอันมีสาเหตุมาจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลให้ญี่ปุ่นสู่ภาวะถดถอยและทำให้สูญเสียตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี (อดีตอยู่อันดับ 4)

*ข้อมูลจาก krungsri ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “Economic Recession” คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของประเทศนั้น หาก GDP ลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส

สอดคล้องกับคำแถลงของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่แถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นหดตัว -0.4% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 หลังจากหดตัว 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 3) ดังนั้น จึงเข้ากับความหมายของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หมายถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จากทั้งหมด 4 ไตรมาส

ซึ่งการหดตัวของ GDP ญี่ปุ่นในครั้งนี้สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาดมาก โดยในบรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่ Reuters ไปสำรวจต่างคาดว่า GDP ของญี่ปุ่นจะเติบโตอยู่ที่ 1.4% ต่อปีเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส (ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2023) ในขณะที่ทางฝั่งของเยอรมนีเจ้าแห่งเศรษฐกิจของยุโรป ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 GDP หดตัว -0.20% ทำให้มูลค่าของ GDP อยู่ที่ 4.509 ล้านล้านดอลลาร์

พอตัวเลขออกมาแบบนี้ก็เท่ากับยืนยันชัดเจนว่าญี่ปุ่นได้ตกมาอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกรองจากเยอรมนี เนื่องจากการหดตัวของ GDP 2 ไตรมาสติดกันทำให้ขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ 4.23 ล้านล้านดอลลาร์ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

สาเหตุของการเสียตำแหน่งในครั้งนี้หลัก ๆ มาจากการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจมวลรวมของญี่ปุ่น มีการลดลง 0.9% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เนื่องจากประชาชนชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับราคาอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าอื่น ๆ ที่สูงขึ้น ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่การบริโภคภายในประเทศของญี่ปุ่นลดลง

ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลกอย่าง Toyota เริ่มแสดงให้เห็นว่าในโลกแห่ง EV พวกเขาไม่ค่อยอยากจะเล่นในสนามนี้ และนั่นทำให้ชื่อของค่ายรถจากญี่ปุ่นค่อย ๆ เฟดออกไปเรื่อย ๆ เมื่อพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต: Nippon.com

นีล นิวแมน นักกลยุทธ์การลงทุนที่ Japanmacro บอกกับ CNN ว่าญี่ปุ่นนำเข้าพลังงานพื้นฐาน 94% และอาหาร 63% ดังนั้น เงินเยนที่อ่อนค่าจึงมีส่วนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ญี่ปุ่นเป็นประเทศไม่มีทรัพยากรพลังงาน จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเเป็นหลัก)

เศรษฐกิจญี่ปุ่น วันนี้และวันหน้า

ค่าเงินเยน ของญี่ปุ่นร่วงลง 6.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นปี 2024 ซึ่งทำให้เงินเยนญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ความแข็งแกร่งแย่ที่สุดในบรรดาสกุลเงินที่ใช้โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 10 ประเทศ

“การบริโภคภาคประชาชนอ่อนแอเป็นพิเศษ [และ] ความคาดหวังของตลาดว่าจะทรงตัว” “น่าเสียดายที่เหตุการณ์นี้จะเลวร้ายลงโดยเริ่มต้นในเดือนมกราคมหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในทะเลญี่ปุ่น ผู้คนหยุดใช้จ่ายในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี การใช้จ่ายในภาคเอกชน (I = Investment) ก็ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยลดลงอยู่ที่ 0.3% เช่นเดียวกับการลงทุนที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนก็ร่วงลง 4%

พอเป็นแบบนี้ก็แว่ว ๆ ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่นอาจเริ่มมีการพิจารณาหันมาใช้กลยุทธ์นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อดึงเงินทุนจากต่างประเทศกลับเข้ามา

อีกทั้งอาจมีการพิจารณาปรับลดการก่อหนี้สาธารณะลง ส่วนปัญหาที่ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ต้องเผชิญ ก็คือการเข้าสู่สังคมผู้อายุ และอัตราการเกิดน้อยลง ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ต่ำลงเรื่อย ๆ ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ากว่า 15 ปีที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะไปจบลงเมื่อใด และพวกเขาจะรอดจากภาวะเงินฝืดได้หรือไม่ คนที่แก้ก็จะมีแค่นายกรัฐมนตรี คิชิดะ และ นายคัสซึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติของญี่ปุ่นเท่านั้น

เรื่อง: ณัฐศกรณ์ แสงลับ

อ้างอิง

https://www.reuters.com/markets/asia/japans-economy-slips-into-recession-weak-domestic-demand-2024-02-15/

https://www.theguardian.com/world/2024/feb/15/japan-recession-economy-falls-behind-germany-worlds-largest

https://edition.cnn.com/2024/02/14/economy/japan-economy-recession-hnk-intl/index.html

https://asia.nikkei.com/Economy/Japan-s-GDP-to-be-overtaken-by-Germany-in-2023-IMF-forecasts

https://www.scbeic.com/th/detail/product/boj-010223

https://tradingeconomics.com/japan/gdp-growth

https://tradingeconomics.com/germany/gdp-growth-annual

https://www.wsj.com/world/asia/japan-economy-shrank-slightly-in-final-quarter-of-2023-d026592a#:~:text=Although%20the%20economy%20weakened%20late,trillion%2C%20at%20current%20exchange%20rates.

https://www.worldeconomics.com/Country-Size/Germany.aspx#:~:text=The%20official%20estimate%20for%20Germany’s,date%20GDP%20base%20year%20data.

https://asia.nikkei.com/Economy/Japan-s-GDP-to-be-overtaken-by-Germany-in-2023-IMF-forecasts

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online