เคยไหม ที่จัดบ้านไปเพียงไม่กี่วัน ก็กลับมารกอีก เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็กลับสู่สภาพเดิม

จนบางทีก็อยากจะลืม ๆ ข้าวของที่รุงรังไปเลย เพราะจัดไปเดี๋ยวก็กลับมาระเกะระกะอีกเช่นเคย

แต่รู้หรือไม่ว่า หากคุณจัดบ้านถูกวิธีเพียงครั้งเดียว มันจะเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล

“วิชาการจัดบ้าน สอนให้ฉันรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการและไม่ต้องการจริง ๆ ฉันจึงหย่ากับสามี และตอนนี้ก็มีความสุขมากขึ้นเยอะเลย”

ตอนหนึ่งของบทนำที่หนังสือ เรื่อง ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว by มาริเอะ คนโด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านอันดับหนึ่งของโลก เขียนไว้อย่างน่าประหลาดใจ

แค่การจัดบ้าน ทรงอิทธิพลต่อชีวิตขนาดนั้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความรกรุงรังของภายนอกสัมพันธ์กับความคิดภายใน

เคยเป็นเช่นนี้หรือไม่ เมื่อตกอยู่ใต้ภาวะกดดัน เช่น กำลังทำงานสำคัญมาก หรืออ่านหนังสือเตรียมสอบอยู่ แล้วจู่ ๆ ก็นึกคึก ลุกขึ้นมาจัดห้องให้เข้าที่ จนรู้ตัวอีกทีห้องกว่าจะจัดเสร็จก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนแล้ว จึงเสียเวลาทำงานสำคัญไม่ทัน หรืออ่านหนังสือสอบไม่ทัน

คุณไม่ใช่คนเดียวที่เป็นเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะ

“ห้องที่รก ก็คือสมองที่รก”

ความรกที่อยู่ตรงหน้าช่วยเบี่ยงเบนความคิดของเราไปจากต้นตอของความกังวลที่แท้จริง แทนที่จะอ่านหนังสือสอบ หรือทำงานสำคัญให้ลุล่วง ใจเรากลับไปมุ่งอยากเก็บกวาดห้อง

สภาพที่อยู่อาศัยจึงสัมพันธ์กับตัวบุคคล ทั้งในแง่นิสัย รูปแบบการใช้ชีวิต และระบบความคิด

หากคุณอยากจัดบ้าน

1. เริ่มต้นด้วยการทิ้ง

  • ทิ้งให้เกลี้ยงแบบรวดเดียวจบ

เพราะการจัดบ้านใหม่ทั้งหมด ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความคิดของคุณ เหมือนอยู่ในโลกที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงและไม่อยากกลับไปอยู่สภาพรกรุงรังอีก

การทิ้งข้าวของ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการจัดบ้าน เพราะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนความรู้สึกนึกคิดของเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที ดังนั้น ควรจะเริ่มด้วยการตั้งหน้าตั้งตาขนของทิ้งแบบครั้งใหญ่ ให้จบภายในครั้งเดียว จึงจะสามารถสร้างผลกระทบต่อตัวเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกว่าจะโยนของชิ้นไหนทิ้งดี

“เลือกของที่อยากเก็บเอาไว้ ไม่ใช่ของที่อยากกำจัดทิ้ง”

โดยให้ถือของชิ้นนั้นในมือแล้วถามตัวเองว่า มันปลุกเร้าความชื่นอกชื่นใจ หรือกระแสความสุขเวลาที่สัมผัสมันได้อยู่ไหม ถ้าได้ก็เก็บไว้  ไม่ได้ก็โยนทิ้งไป อย่าทำแค่เปิดดูผ่าน ๆ หรือกวาดตามอง แต่ต้องหยิบมาสัมผัสทีละชิ้นแล้วครุ่นคิด

จงเก็บไว้เพียงของที่มีคุณค่าทางจิตใจและกำจัดของที่เหลือทิ้งไปให้หมด แล้วชีวิตของคุณจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

2. จัดทีละหมวดหมู่

เป็นขั้นตอนในการกำจัดข้าวของที่เป็นส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนเลือกว่าจะเก็บอะไรเอาไว้ ให้รวบรวมของทุกชิ้นในหมวดหมู่เดียวกันมากองรวมกันไว้ เช่น เมื่อต้องจัดตู้เสื้อผ้าก็ให้ค้นทุกห้องในบ้าน เอาเสื้อผ้าทุกชิ้นที่หาเจอมากองรวมกันไว้บนพื้น อย่าให้หลุดรอดสายตาไปได้ จะช่วยให้เห็นชัดเจนว่าเรามีข้าวของอยู่มากแค่ไหน และช่วยให้เห็นของที่คล้าย ๆ กัน จากนั้นก็หยิบขึ้นมาทีละชิ้นเพื่อพิจารณา

  • ต้องทำอย่างไรหากทิ้งของไม่ลง

คนจำนวนมากมีปัญหากับการตัดใจทิ้งของที่ยังใช้งานได้ (คุณค่าในแง่ประโยชน์ใช้สอย) ของที่บรรจุข้อมูลอันเป็นประโยชน์ (คุณค่าในแง่ข้อมูล) และของที่ชวนให้ระลึกถึงความหลัง (คุณค่าในแง่ความผูกพันทางจิตใจ) ยิ่งถ้าได้มาอย่างยากลำบาก การทิ้งก็จะกลายเป็นงานสุดหินไปเลย

การตัดสินใจของมนุษย์เราแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกัน คือ การตัดสินใจตามสัญชาตญาณ และการตัดสินใจตามหลักเหตุผล จึงมักเกิดปัญหาเมื่อต้องเลือกของสักชิ้นทิ้ง เช่น สัญชาตญาณบอกเราว่าไม่ได้ชอบของชิ้นนั้น แต่ฝั่งเหตุผลก็จะยกสารพัดข้ออ้างมาบอกว่า “เสียดาย อาจต้องใช้มันทีหลัง” ทำให้การทิ้งเป็นเรื่องยาก

เวลาเจอของที่ตัดใจทิ้งยาก ให้ลองพิจารณาว่า ทำไมเราถึงมีของชิ้นนั้นตั้งแต่แรก ได้มันมาเมื่อไหร่ และมีความหมายต่อคุณอย่างไร ตัวอย่าง ถ้ามีเสื้อผ้าที่ซื้อมาแต่ไม่ได้ใส่ ให้ลองพิจารณาดูว่าซื้อมาจากที่ไหนเพราะอะไร ถ้าซื้อมาเพราะคิดว่ามันสวยตอนอยู่ในร้าน เท่ากับว่าชุดได้ทำหน้าที่มอบความพึงพอใจให้คุณเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ตอนที่ซื้อ จึงควรบอกกับมันว่า “ขอบคุณที่ช่วยมอบความสุขให้ตอนที่ซื้อ”

การทำเช่นนี้ยังจะทำให้คุณแปลกใจเมื่อพบว่าตัวเองครอบครองข้าวของที่ทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วมากแค่ไหน การปล่อยข้าวของไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ จะช่วยให้คุณจัดระเบียบสิ่งของที่มีอยู่ได้ดีขึ้น

3. จัดบ้านให้ดีต้องมีลำดับ

ลำดับที่ดีที่สุดคือ เริ่มจากเสื้อผ้า ตามด้วยหนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และปิดท้ายด้วยของที่มีคุณค่าทางจิตใจ แค่เรียงลำดับการทิ้งก็ช่วยเร่งกระบวนการตัดสินใจให้เร็วขึ้นได้แบบผิดหูผิดตา

การเก็บเสื้อผ้าให้แยกออกเป็นหมวดหมู่ย่อย ดังนี้

  • ชิ้นบน (เสื้อเชิ้ต เสื้อกันหนาว)
  • ชิ้นล่าง (กางเกง กระโปรง)
  • เสื้อผ้าที่ควรใช้ไม้แขวนเสื้อ (เสื้อแจ๊กเก็ต เสื้อโค้ต สูท)
  • ถุงเท้า
  • ชุดชั้นใน
  • กระเป๋าถือ
  • เครื่องแต่งกายอื่น ๆ (เข็มขัด หมวก)
  • เสื้อผ้าสำหรับโอกาสพิเศษ (ชุดว่ายน้ำ เครื่องแบบ)
  • รองเท้า

จำไว้ว่าอย่าลดขั้นเสื้อผ้าให้เป็นชุดอยู่บ้าน เพราะช่วงเวลาที่อยู่บ้านก็ถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเช่นกัน ไม่ควรเก็บเสื้อผ้าที่คิดว่าไม่อยากใช้แล้วเพียงเพราะคิดว่าไม่มีใครมองเห็นตอนเราอยู่บ้าน การจัดบ้านก็จะสูญเปล่า เพราะการใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นทั้งที่ใจจริงอยากจะสร้างพื้นที่และรูปแบบการใช้ชีวิตในฝัน ก็ควรหันมามองตัวเองในแง่บวกให้มากขึ้นด้วยการใส่เสื้อผ้าที่ตนชอบจริง ๆ

ในการเก็บหนังสือ ก็ให้ทำเช่นเดียว เอาหนังสือทั้งหมดมาวางบนพื้น แล้วลองสัมผัสโดยไม่ต้องเปิดอ่านเนื้อหาภายใน แล้งดูว่ายังตื่นเต้นและมีความสุขเมื่อได้สัมผัสหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ จำเป็นต้องใช้มันหรือเปล่า

สาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่ยอมทิ้งหนังสือคือคิดว่า ‘สักวันฉันจะอ่านเล่มนี้’ ยอมรับให้ได้ว่าสุดท้ายแล้วหนังสือที่คุณมีโอกาสอ่านมันน้อยมาก

หน้าที่ของหนังสือคือมีไว้อ่านและถ่ายทอดข้อมูลไปสู่ผู้อ่าน การวางหนังสือทิ้งบนชั้นเฉย ๆ ย่อมไม่ก่อให้เกิดความหมายใด ๆ จงเก็บไว้เฉพาะเล่มที่คุณรักจริง ๆ หรือที่เป็นหนังสือขึ้นหิ้ง

การ คัดแยกเอกสาร หลักการง่าย ๆ คือทิ้งให้เกลี้ยง หากไม่ได้อยู่ใน 3 หมวดหมู่ต่อไปนี้ทิ้งไปได้เลย นั่นคือ กำลังใช้งานอยู่ ต้องเก็บไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง และต้องเก็บไว้ตลอดไป แต่ต้องเก็บไว้ในที่เดียวกัน อย่าให้กระจัดกระจาย

ส่วนของจิปาถะ เก็บไว้เฉพาะของที่ชอบ ไม่ใช่เผื่อไว้ เพราะข้าวของเล็กน้อยกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการใช้ชีวิต จึงควรพิจารณาไปทีละชิ้นและคัดแยกอย่างเหมาะสม เรียงลำดับตามนี้

  • แผ่นซีดีและดีวีดี
  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
  • เครื่องสำอาง
  • เครื่องประดับ
  • ของสำคัญ (พาสปอร์ต บัตรเครดิต)
  • อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (กล้องดิจิทัล สายไฟ ทุกอย่างเกี่ยวกับไฟฟ้า)
  • เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน
  • ของใช้ในครัวเรือน (ของใช้แล้วทิ้ง เช่น ยา ผงซักฟอก กระดาษชำระ)

 

ของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นหมวดหมู่สุดท้ายที่ทิ้งได้ยากที่สุด เมื่อคิดว่าต้องโยนทิ้งไป ความกลัวจะสูญเสียความทรงจำอันมีค่าก็ถาโถมเข้ามา ถ้าเราเก็บสารพัดข้าวของที่กระตุ้นให้นึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ควรจะลืมไปตั้งนานแล้ว ไม่ว่าเรื่องราวในตอนนั้นจะยอดเยี่ยมสักแค่ไหน เราก็ไม่สามารถอยู่กับอดีตได้ ความสุขในปัจจุบันต่างหากสำคัญกว่า เมื่อต้องตัดสินใจ ก็ให้ทำเหมือนทุกครั้งคือหยิบขึ้นมาถือเเล้วถามตนเองว่า “ของชิ้นนี้ยังปลุกเร้าความสุขให้เราได้ไหม”

4. กำหนดตำแหน่งตายตัวให้ข้าวของภายในบ้าน

เพื่อให้ของแต่ละชิ้นมีที่ทางของมันเอง ข้าวของประเภทไหนวางไว้ตรงไหนต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน  จากนั้นก็ดูว่าของแต่ละชิ้นอยู่ประเภทใดก็นำไปจัดเก็บตามประเภทนั้น  ไม่ต้องจัดเก็บให้ซับซ้อน จัดวางในจุดที่เรียบง่าย มองเห็นได้ภายในแวบเดียว เมื่อเห็นได้ถนัดตายังจะช่วยให้เราเลิกซื้อของมากเกินความจำเป็น

5. เลิกวางของทับกันแล้วหันมาเก็บของในแนวตั้ง

ถ้าวางของทับกันเป็นกองจะกินพื้นที่ไม่มีที่สิ้นสุด ของพวกนั้นจะกองรวมกันไปตลอดและสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะสังเกตของที่เพิ่มขึ้นได้ยาก ถ้าเก็บในแนวตั้ง เมื่อข้าวของเพิ่มขึ้นจะสังเกตเห็นได้ทันทีว่าเราเริ่มสะสมข้าวของเยอะเกินความจำเป็นอีกแล้ว อีกทั้งการวางของกองทับกันนั้นยังกดทับชิ้นที่อยู่ด้านล่างทำให้เสื่อมสภาพไว

6. แค่จัดบ้านก็เปลี่ยนชีวิตได้

การยึดติดอยู่กับอดีตและความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ระหว่างที่แยกข้าวของคุณจะพบกับการตีกันของความคิด ถ้าเจอสิ่งของที่ตัดใจทิ้งได้ยากให้ถามว่า “นี่เรายึดติดอยู่กับอดีตหรือกังวลเกี่ยวกับอนาคตใช่ไหม” เมื่อถามแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะเริ่มเข้าใจรูปแบบความคิดของตัวเอง

คนเรามีรูปแบบความคิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การยึดติดอยู่กับอดีต ความต้องการความมั่นคงในอนาคต และทั้งสองรูปแบบผสมกัน

เพราะโดยปกติมนุษย์มักไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการคืออะไร จึงทำให้ซื้อข้าวของไม่จำเป็นมามากมาย แล้วจมอยู่กับข้าวของนั้น

การเผชิญหน้าในตอนคัดเลือกของทิ้ง ยังพาให้เราได้เรียนรู้ตัวตนของเราในอดีต

‘ข้าวของพวกนี้เป็นของเรา มันมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะการตัดสินใจในอดีตของตัวเราเอง’

จะสับสนและลังเลน้อยลงเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญของชีวิต

บ้านที่เป็นระเบียบเรียบร้อยจะส่งผลดีต่อทุกแง่มุมของชีวิต

เพราะเมื่อบ้านของคุณเป็นระเบียบก็เท่ากับว่าสิ่งต่าง ๆ และอดีตของคุณถูกจัดให้เป็นระเบียบ

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online