ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก

คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 มูลค่าตลาดจะโตอย่างน้อย 2 เท่า จากปี 2017 ทั้งในไทยและทั่วโลกตลาดน้ำมะพร้าว

ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม

สาเหตุหลักมาจาก 1)เทรนด์การรักสุขภาพ ที่คนแสวงหาของที่มีประโยชน์ มาจากธรรมชาติ และ 2)ประโยชน์ของมะพร้าว ที่คนรับรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าว หรือน้ำมันมะพร้าว

 

ฉะนั้น จึงมี แบรนด์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม เกิดใหม่มากมาย เท่าที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ไม่น้อยกว่า 8 แบรนด์!!!

แต่สถานการณ์นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ไม่ใช่สินค้าที่ Dominate ตลาดมาก่อน จึงต้องต่อสู้กับศึกหลายด้าน

 

1.น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม vs น้ำมะพร้าวสด

มะพร้าว ถือเป็นผลไม้เพียงอย่างเดียว ที่สามารถเฉาะแล้วดื่มน้ำได้เลย ฉะนั้นเราคนไทยจึงเห็นรถเข็นขายมะพร้าวทั่วไปในราคา 15-30 บาท ถึงแม้จะได้น้ำน้อย แต่ก็สด และได้เนื้อไปตักกินเล่นอีกด้วย

 

ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม 2018
ภาพนี้ คือน้ำผลไม้ทั้งหมดที่ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ไทย โดยวงกลมสีแดงคือ ที่วางน้ำมะพร้าว

2.น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม vs น้ำผลไม้แบบอื่น

เมื่อผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพตัดสินใจ กินน้ำผลไม้แล้ว พวกเขายังมีน้ำผลไม้ให้ดื่ม ไม่น้อยกว่า 20 แบบ ได้แก่ ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล องุ่น สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มะขาม มะเขือเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย ลองดูรูปข้างบนก็ได้..

ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม จะโดดเด่นท่ามกลางสินค้าที่ใกล้เคียงกันได้

 

3.น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม vs กันเอง

โอเค เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจจะซื้อ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม พวกเขายังต้องเจอกับตัวเลือกมากมาย อย่างในสยามพารากอน ก็เจอน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มของไทย อยู่ 8 แบรนด์ ถ้าเป็นในเซเว่น ก็จะเจอ 2-3 แบรนด์

ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็พยายามชูจุดเด่น เช่น ของแท้ 100%, มีเนื้อมะพร้าว, ไม่ผสมน้ำตาล, ไม่ผสมน้ำมะพร้าวเข้มข้น หรือ ทำน้ำมะพร้าวรสชาติแปลกๆ เช่น ช็อคโกแลต เป็นต้น

ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม

 

ในเมื่อมี เหตุผลแย้งเยอะขนาดนี้ แต่ทำไม ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ยังโตได้อยู่ ?

1.การเข้ามาของผู้เล่นใหม่

ลองมาเปรียบเทียบแต่ละแบรนด์กัน (เรียงจากซ้ายไปขวา)

-Koh Coconut (108 และ 78 บาท) เป็นน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มที่ใช้มะพร้าวไทย แต่ส่งไปขายที่ไอร์แลนด์ ราคาจึงสูงกว่าชาวบ้านเพราะเป็นแบรนด์นอก
-Malee Coco (69.75 บาท) น้ำมะพร้าว จากแบรนด์มาลี ไม่เติมน้ำตาล

-Foco (69 บาท) เน้นทำน้ำมะพร้าวที่รสชาติแตกต่าง เช่น น้ำพะพร้าวเผา สูตรน้ำผึ้ง สูตรน้ำทับทิม เป้นต้น

-Chaokoh (70 บาท) น้ำมะพร้าว จากตราชาวเกาะ
-CocoMax (71 บาท) โคโค่แม็กซ์ แบรนด์นี้ทำหลายแพ็คเกจจิ้ง และ เน้นทำโปรผ่านเซเว่น
-UFC Refresh อีกแบรนด์ที่เน้นตลาดต่างประเทศ โดยมีหลายรสชาติ ตั้งแต่ มะนาว แตงโม และชาเขียว
-Chabaa แบรนด์น้ำผลไม้ที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ดังเท่า Malee Tipco โดยมีโรงงานรับทำ OEM ด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่กำลังทำตลาด เช่น โคคู หรือ Zico ของโคคาโคล่า และแบรนด์ท้องถิ่นอีกมากมาย

 

2.ความอยากลองของผู้บริโภค

เวลามีอะไรออกใหม่ คนก็อยากไปลอง ยิ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มยิ่งลองง่าย ลองก็เอามารีวิวกันไป ฉะนั้นในแรก หากทำการตลาดที่ดีระดับหนึ่งก็สามารถเพิ่มยอดขายได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายความอร่อย/ถูกปาก จะทำให้คนจะหยิบเป็นครั้งที่สอง

 

ราคาสูสีกันมาก เพราะกรรมวิธีคล้ายๆ กัน

ที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มมีราคาสูสีกันมาก ก็เพราะว่าขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เพียงปอกเปลือก แล้วกะเทาะ ก็ได้น้ำข้างในแล้ว แพ็คใส่ขวด

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หลายแบรนด์จ้างโรงงานทำ (OEM) เหมือนๆ กัน ต่างแค่สูตรน้ำตาล แต่งกลิ่นนิดหน่อย ฉะนั้นสินค้าที่ออกมาก็ไม่ได้มีคุณภาพ ไม่ได้มีนวัตกรรมแปลกใหม่อะไร

 

เทพผดุงพรมะพร้าว จึงขอไม่แตะตลาดไทยมากนัก…

เทพผดุงพรมะพร้าว เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาฐในเรื่องมะพร้าว ทำไลน์สินค้าที่เกี่ยวกับมะพร้าวครบมาก ตั้งแต่ กะทิ น้ำมะพร้าว มะพร้าอบกรอบ วุ้นมะพร้าว.. แต่รายได้ของเทพผดุงพรมะพร้าว มีสัดส่วนในประเทศเพียง 20% เท่านั้น อีก 80% เป็นการส่งออกทั้งหมด

คุณอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ กล่าวว่า “เพราะมะพร้าวเป็นสินค้าที่คนไทยหาซื้อกันง่าย ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีราคาสูงกว่า จึงเจาะตลาดไทยได้ยาก ฉะนั้นสินค้าของเราจึงขายดีมากในประเทศที่ผลิตมะพร้าวได้น้อยอย่างสหรัฐฯ และยุโรป”

 

ซึ่งลองคิดดู มันก็จริง.. ชาวสวนที่ปลูกมะพร้าวมีช่องทางจำหน่ายเยอะมาก

-ง่ายสุดก็ขายในตลาดท้องถิ่น ขนใส่กระบะมาขายได้เลย

-ถ้าอยากสบาย ก็ขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่อาจโดนกดราคาเล็กน้อย

-ถ้าอยากขายปริมาณมากๆ ก็ขายให้โรงงานน้ำมะพร้าว ที่รับซื้อปริมาณมาก

-แต่ถ้าอยากได้รายได้ดี ก็รวมกลุ่มกันจ้างรถบรรทุกมาเปิดท้ายขายในกรุงเทพ ก็สามารถทำได้ เพราะมะพร้าวนั้นทนทาน เก็บได้นาน และเอามาขายแยกเป็นลูกได้อีกต่างหาก

คนไทย จึงหาซื้อมะพร้าวทั้งลูกได้ง่ายมาก แถมกะทิสดก็มีขายเป็นถุงในตลาด

 

Demand มากกว่า Supply

จากเหตุผลด้านบน บริษัทอย่าง เทพผดุงพรมะพร้าว จึงต้องนำเข้ามะพร้าวถึง 20-30% ต่อปี โดยนำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซีย เพราะปริมาณมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอมาแปรรูปนั่นเอง

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ พื้นที่การปลูกลดลง เพราะชาวสวนเลือกไปปลูกอย่างอื่นที่ได้ราคาดี และใช้เวลาน้อยกว่า โดยการเริ่มปลูกมะพร้าวใหม่อีกครั้งอาจต้องกินเวลาถึง 3-4 ปีทีเดียว

ฉะนั้น เมื่อปริมาณมะพร้าวมีจำกัด การนำสินค้าไปเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออก จึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าการแข่งขันด้านราคาในประเทศไทย สำหรับเทพผดุงพรมะพร้าว

 

เมื่อลุยต่างประเทศแล้ว ก็ไปให้สุดทาง

ปัจจุบัน เทพผดุงพรมะพร้าว ก็ทำไลน์สินค้าอื่นที่นอกเหนือจากมะพร้าว เช่น น้ำจิ้มไก่ ซอสผัดอาหาร และ ผงปรุงอาหาร ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถือเป็นสินค้าที่ตลาดต่างต้องการมาก ไม่ว่าจะเป็นคนไทยในต่างประเทศ ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และคนที่อยากลองทำอาหารไทย อีกด้วย

 

บอกได้ยากว่า ในอนาคต ตลาดน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม จะไปไกลขนาดไหน?

คนเมืองรักสุขภาพ อาจจะหันมาดื่มกันมากขึ้น และ แบรนด์ที่ครองตลาด คือแบรนด์ที่รสชาติดีที่สุด น้ำตาลน้อยที่สุดก็ได้

หรือ คนอาจตระหนักสุขภาพมากขึ้นจริง จนหันไปซื้อแบบเป็นลูกมาทำกินเองก็เป็นได้

 

คงต้องให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินแล้วล่ะว่า น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม จะทดแทน น้ำมะพร้าวแท้ๆ ได้มากน้อยเพียงใด…


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online