ร้านของเล่นแบกะดิน ที่พัฒนาไปสู่อาณาจักรโมเดลบนพื้นที่กว่า 1,200 ตรม.
จากบทสนทนาระหว่างเราและน้าบิ๊กคิกคาปู้ รุ่นพี่ในออฟฟิศที่ไม่ได้มีความเก่งแค่เรื่องของงานเขียน แต่ยังรวมไปถึงความรู้ในการขายโมเดลญี่ปุ่นและเซนเซย่า นำพาให้เรารู้จักกับเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่น้าบิ๊กเล่าให้เราฟังว่าเขาคือเจ้าของร้านขายโมเดลหลายพันตัว ที่เริ่มทำธุรกิจด้วยการปูเสื่อขายแบกะดินมาก่อน
จนถึงปัจจุบันร้านขายโมเดลที่ว่าก็กำลังมีดีลธุรกิจกับบริษัทผู้พัฒนาทางด้านอสังหารายใหญ่ของไทยอย่าง ทีซีซี แลนด์ อีกหนึ่งธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ หรือ ‘เจ้าของไทยเบฟฯ’
ด้วยการที่ทีซีซี แลนด์ จะมอบพื้นที่กว่า 1,200 ตรม. หรือเกือบ 1 ชั้นของพันธุ์ทิพย์บางกะปิ ให้ร้านโมเดลแห่งนี้ไปบริหารจัดการ โดยการสร้างเป็นอาณาจักรโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และด้วย Story ที่น่าสนใจขนาดนี้ Marketeer ไม่รอช้ารีบติดต่อไปพูดคุยกับเจ้าของร้านโมเดลที่ว่า จนทำให้เราได้รู้จักกับคุณ ปู เศรษฐกร เกษสม ที่กล้าตั้งชื่อร้าน แบบที่ใครฟังในแวบแรกก็ต้องสงสัยอย่าง ให้ไปเกิด
แล้วชื่อร้านนี้มันเกี่ยวข้องกับการขายโมเดลได้ยังไง ?
อะไรคือจุดพลิกผันที่ทำให้ร้านขายของเล่นแบกะดินกลายเป็นธุรกิจ ที่มีดีลกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ ?
วันนี้เราได้ไปหาคำตอบมาให้กับทุกคน ส่งตรงจากร้านให้ไปเกิดสาขาศรีนครินทร์ ที่อยู่บทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้แล้ว
จากข้าราชการลูกจ้าง ที่หาโอกาสออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง
ก่อนที่จะมาทำธุรกิจขายของเล่น เดิมทีคุณปูเคยเป็นลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยงานราชการอย่างกรมส่งเสริมการส่งออก ที่พอมีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจจากผู้ประกอบการที่เข้ามาติดต่อหลายราย
จนกระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าของธุรกิจชักชวนคุณปูให้ออกมาช่วยงานในตำแหน่งของผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งการลาออกมาครั้งนี้ทำให้เขาได้รู้จักกับเจ้าของโรงงานขายของเล่นจากจีนและนำเงิน 3,000-4,000 พันบาทไปซื้อของเล่นแล้วรับมาขายแบบแบกะดินต่อที่สวนหลวงร.9
เอาตระกร้าที่แบกของมาตั้งเป็นโต๊ะแล้ววางขาย ตั้งแต่ของเล่นใส่ถ่านก๊อกแก๊กทั่วไป หรือแม้กระทั่งไก่ไขลานราคาถูก ๆ ก็มี
เก็บเงินจากการขายแบกะดิน จนไปเปิดหน้าร้านบนห้างฯ ได้
ด้วยความที่ของเล่นจากจีนเป็นสินค้าที่เข้าถึงง่าย คู่แข่งที่อยู่บริเวณเดียวกันจึงมีมากถึง 3-4 ร้าน คุณปูมองว่าหากยังอยู่ตรงนี้ต่อไปคงจะต้องเจอกับปัญหาอะไรอีกหลาย ๆ อย่างเป็นแน่ จึงตัดสินใจนำเงินที่เก็บได้จากการขายของ ไปเปิดเป็นหน้าร้านบนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์
“ด้วยการโฆษณาต่าง ๆ ที่น่าสนใจของทางห้างฯ ทำให้ผมคิดว่ายังไงคงต้องมีคนมาเดินเยอะแล้วทำให้เราขายดีแน่ ๆ ผมเลยตัดสินใจทำสัญญาเช่า แม้จะรู้ว่าการทำร้านบนห้างฯ จะมีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขที่มากขนาดไหนก็ตาม
แต่พอเอาเขาจริงเขาไม่สามารถดึงคนให้มาเดินได้ ห้างฯเงียบ…..ร้านเราก็เลยพลอยขายไม่ได้ตามไปด้วย แต่สัญญามันเซ็นไปแล้ว ต้องจ่ายค่าเช่า 20,000 ทุกเดือน ค่าใช้จ่ายมันก็มี รายได้ไม่พอกับเงินที่ต้องจ่าย ทำไงละทีนี้ ?
ผมก็เลยตัดสินใจกลับไปขายที่สวนหลวงร.9 เหมือนเดิมในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ พอตอนเช้าตีสี่ก็ขับรถมาที่ห้างฯแล้วมาจัดของใหม่
จากที่เคยลงทุนค่าเช่า ค่าตกแต่งไปร่วมแสนเพื่อหวังทำให้เป็นหน้าร้านดึงคนเข้ามา คราวนี้มันก็เป็นได้แค่ที่สต็อกของที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในทุกเดือน
สำเพ็ง…..แค่เปลี่ยนเวลาราคาก็ถูกลงกว่าเกือบครึ่ง
“นอกจากโรงงาน สำเพ็งก็ยังเป็นอีกแหล่งที่ผมใช้รับของมาขาย ตอนนั้นต้องไปแทบทุกวัน ไปทีก็ทั้งวันเลย เพราะมันมีร้านขายเยอะมาก แล้วแต่ละร้านก็ราคาไม่เท่ากัน ผมต้องเดินเทียบราคาแล้วจดบันทึกเอาไว้ ดูว่าร้านไหนราคาเท่าไหร่ ต้องซื้อยังไงถึงจะได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด”
ทำอย่างนี้ได้เพียงสองเดือน คุณปูก็เริ่มรู้สึกว่าต้นทุนที่รับมามันน่าจะสามารถทำราคาได้ถูกกว่านี้อีก จึงได้เริ่มลอง Search ใน Google เพื่อหาแหล่งใหม่
และก็ทำให้เขาพบกับตลาดสำเพ็งตอนกลางคืน ,โลเคชั่นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเวลาที่เปลี่ยนไป
จากนั้นคุณปูก็ใช้วิธีซื่อ ๆ ด้วยการโทรหาร้านที่รับของมาในตอนกลางวันแล้วถามถึงรายละเอียดในตลาดตอนกลางคืนว่าเป็นยังไง
แน่นอนว่าไม่มีใครยอมบอก
แต่ถึงอย่างนั้นคุณปูก็ยังไม่ย่อท้อ พยามค้นหาข้อมูลต่อไป จนได้ข้อมูลจากลูกจ้างของร้านค้าตอนกลางวัน ว่าถ้าจะมารับของตอนกลางต้องทำแบบนี้ ๆ และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขับรถมา จนได้พบกับความจริงว่า ตัวเองโง่มาตั้งนาน
เพราะราคาของตลาดสำเพ็งตอนกลางคืน ถูกกว่าตอนกลางวัน 10-30% และร้านค้าตอนกลางคืนก็ขายส่งให้กับร้านตอนกลางวันเนี่ยแหละ !
และแม้จะได้ของถูกกว่าเดิมแล้ว แต่ด้วยนิสัยของพ่อค้าทำให้เขาคิดว่าจริง ๆ มันน่าจะมีถูกกว่านี้ได้อีกสิ ! คุณปูเลยอาศัยทักษะส่วนตัวอย่างการ ‘กล้าพูดกล้าถาม’ เข้าไปถามพ่อค้าขายส่งในตลาดสำเพ็งตอนกลางคืนว่า
“พี่ถ้าผมซื้อเยอะกว่านี้ จะลดราคาได้อีกไหม” และนั่นก็ทำให้เขาได้พบกับแหล่งรับของแห่งใหม่ นั่นก็คือสินค้าที่ขึ้นมาจากท่าเรือ
ซึ่งของที่ขึ้นจากท่าเรือที่ว่าก็ไม่ได้มีแค่ของเล่นจีน แต่ยังรวมไปถึงของหลุด QC และของเล่นจากญี่ปุ่นอีกด้วย
เริ่มมองหาตลาดใหม่ เพราะตลาดเดิมที่มีอยู่ สู้กันด้วยราคาที่มีแต่ตายกับตาย
ด้วยความกว้างขวางของพ่อค้าขายส่งที่รับของมาจากท่าเรือ จึงทำให้มีพ่อค้าหน้าใหม่เข้ามาในวงการมากขึ้น และนั่นก็ทำให้คู่แข่งของคุณปูมีมากขึ้นตามไปด้วย
ในเมื่อรับมาจากแหล่งเดียวกัน ราคาต้นทุนที่เท่ากัน การแข่งขันจึงอยู่ที่การ ‘ตัดราคา’ ใครขายถูกกว่าก็มีลูกค้ารายปลีกเข้ามาซื้อ ใครขายแพงกว่าลูกค้าก็จะถามว่า “ทำไมร้านข้าง ๆ ถูกกว่าร้อยนึงล่ะ”
คุณปูรู้ดีว่า ถ้าหากยังเล่นอยู่ในตลาดที่ใช้กลยุทธ์ของสงครามราคา ก็คงมีแต่ตายกับตายเป็นแน่ แต่ในเมื่อพอมีฐานลูกค้าและคอนเน็คชั่นของการขายของเล่นอยู่ เขาจึงไม่อยากจะเลิกทำธุรกิจนี้ไป
และเลือกที่จะมองหาทางออกใหม่ นั่นคือการขายของเล่นแบบ ‘ลิขสิทธิ์’ นั่นเอง
แม้จะเป็นสินค้าราคาแพง แต่อย่าลืมของเล่นนั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นั่นเท่ากับว่าคนที่จะซื้อได้นั้นต้องมีกำลังซื้อ และถึงจะแพง แต่หากเทียบในเรื่องคุณภาพของงาน คนกลุ่มนี้ก็ยังยอมที่จะจ่ายอยู่ดี
เจอแหล่งรับของแห่งใหม่ ที่ทำให้ความเป็นพ่อค้าลงลึกไปกว่าเดิม
เมื่อเปลี่ยนกลยุทธ์ที่เน้นขายงานญี่ปุ่น แหล่งในการรับสินค้าจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เรียกว่านับศูนย์ใหม่ก็คงจะไม่ผิด เพราะคุณปูเริ่มใหม่ด้วยวิธีการไป Search ใน Google เหมือนเดิม จนทำให้เขาได้พบกับแหล่งขายมดแดงอย่างคาเมนไรเดอร์ที่เป็นคนญี่ปุ่นมาขายเอง
และกับแหล่งที่สองก็จากการที่คนญี่ปุ่นมาขายส่งด้วยตัวเองเช่นกัน ซึ่งคุณปูก็ไม่รอช้ารีบขับรถไปรับของจากแหล่งที่สองที่ว่านี้ทันที
แต่พอเมื่อไปถึงกลับไม่พบว่ามีคนอยู่ที่ร้าน แถมโทรไปเบอร์เลขหมายปลายทางก็ยังปิดเครื่องไม่มีใครรับสาย
ด้วยความที่อยากได้งานญี่ปุ่นราคาถูกคุณปูก็ยังไม่ย่อท้อ เดินทางไปยังแหล่งที่ว่าต่ออีก 7 วัน และผลลัพธ์ก็เหมือนเดิมคือยังไม่พบใครที่ร้านเลยสักคน จนทำให้คุณปูแอบคิดขึ้นมาในหัวว่า “หรือร้านมันเจ๊งไปแล้ววะ”
แต่ความจริงแล้วเขากลับมาพบข้อมูลทีหลังว่า ด้วยความที่เจ้าของร้านเป็นคนญี่ปุ่นเขาจึงลงมาไทยแค่ 5 วันต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นถึงจะไป 7 วันติดกัน แต่ถ้า 7 วันนั้นอยู่ใน 25 วัน ที่เขาไม่ได้ลงมา ยังไงก็ไม่เจออยู่ดี
เมื่อรู้แบบนี้ ครั้งที่ 8 คุณปูจึงไม่พลาด ไปปุ๊ปก็เจอกับแม่ค้าชาวไทยที่มีครอบครัวอยู่ญี่ปุ่นอย่างที่ตั้งใจไว้ ที่ไม่ได้พบแค่ของเล่นงานลิขสิทธิ์ญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาถูกกว่าของที่ขายบนห้างฯมากกว่าครึ่ง
อย่างเข็มขัดแปลงร่างที่บนห้างฯขายกัน 3,500 แต่คุณปูรับมาแค่ 1,200 บาท และสามารถทำไปขายต่อได้ในราคาที่มากถึง 2,500 บาทเลยทีเดียว
ใช้ความสนิท เข้าไปตัดสินค้าจากแหล่งก่อนพ่อค้าคนอื่น
ด้วยความเป็นลูกค้าชั้นดี ที่มาซื้อของจากแหล่งแม่ค้าญี่ปุ่นบ่อยในปริมาณที่เยอะ คุณปูจึงกลายเป็นลูกค้าคนสนิท ที่ใช้ความสนิทหาต้นทุนในการรับสินค้าที่ถูกและดีกว่าเดิม
“ป้าพอจะขายได้ถูกกว่านี้ หรือพอจะลดให้ผมบ้างได้ไหม” เป็นประโยคคำถามที่ทำให้แม่ค้าญี่ปุ่นที่ว่ายอมพาคุณปูไปรับสินค้า
จากที่เคยต้องมาตัดของรวมกับพ่อค้าคนอื่นที่ตลาด ก็กลายเป็นคอนโดของแม่ค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่พักของหลังจากที่เรือส่งสินค้ามาถึงไทยแล้วนำของเล่นมากองไว้ที่นี่ คราวนี้เขาจึงกลายเป็นพ่อค้าที่ได้ของเล่นดีกว่าพ่อค้าคนอื่น ๆ
ดูของมาเยอะแค่ไหน แต่ก็ยังโดนย้อมแมวยกลังจนเกือบเจ๊ง
สี่เท้ายังรู้พลาด คุณปูยังรู้พลั้ง แม้จะมีประสบการณ์ในวงการของเล่นมาเกือบ 4 ปี แต่เขาก็ยังถูกย้อมแมวขายแบบยกลัง คนขายบอกว่าทั้งลังเป็นของหายาก เป็นงานละเอียด และตัดใจขายให้คุณปูแบบเท่าทุนสุด ๆ ที่ 50,000 บาท
แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะตอนแกะลังมานั่งตีราคาปลีกแต่ละชิ้นราคากลับไม่คุ้มทุน พ่อค้าคนนั้นบอกว่าอยู่ที่ 50,000 บาท แต่เอาเข้าจริงมันแทบจะไม่ถึงหมื่นด้วยซ้ำ
“วิกฤต” คือคำที่คุณปูพูดกับเราหลังเล่าเรื่องนี้จบ แม้จะ 50,000 จะดูไม่ใช่เงินจำนวนมากเท่าไหร่ แต่มันเกือบจะทำให้ธุรกิจของคุณปูพังครืดไม่เป็นท่า
เพราะธุรกิจของคุณปู คือการขายของเล่นที่ใช้เงินสดหมุนทั้งนั้น ไม่มีการจ่ายแบบเครดิต ไม่เคยมีการกู้หนี้ยืมสิน แต่พอเจอปัญหาถ้าจะไปยื่นกู้แบงค์ก็ไม่ได้แล้ว เพราะตอนนั้นเขาไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีหลักฐานมายืนยันการกู้ยืมหรือขอสินเชื่อต่าง ๆ ได้
แต่ตอนนั้นยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้กับทางห้างฯ ซึ่งติดสัญญากับที่ห้างฯไว้ ไหนจะค่าเช่าในตลาดนัดเศรษฐีย่านตึกเนชั่นที่เป็นหน้าร้านอีกแห่ง รวมไปถึงโลเคชั่นแรกในการขายของอย่างสวนหลวงร.9 อีก
ทางออกของคุณปูในตอนนั้นจึงเป็นการตัดสินใจขายทุกอย่างที่มีอยู่ทิ้งไปทั้งหมด ไม่ใช่แค่ของเล่นสะสมที่เขาเคยเก็บมา แต่ยังรวมไปถึงรถยนต์ที่ใช้ทำมาหากิน แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่อะไรขายได้ ก็จะเอาไปเปลี่ยนเป็นเงินทั้งหมด
ถามว่าทำไมต้องขายขนาดนั้น? “ตอนนั้นมันไม่มีเงินแล้วจริง ๆ รายจ่ายก็เยอะ ไม่ใช่แค่รายจ่ายในธุรกิจ แต่ยังรวมถึงรายจ่ายในครอบครัวที่ผมต้องเลี้ยงดูแม่และน้องหลังจากที่พ่อเสียไป
ตอนนั้นอารมณ์สะสมมันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่ความคิดที่ว่าทำยังไงถึงจะอยู่รอดก็เท่านั้นเอง”
ตัดสินใจขายทุกอย่างทิ้ง แล้วเอาเงินที่มีทั้งหมดขึ้นไปญี่ปุ่น!
หลังจากมีเงินก้อนที่ได้จากการขายของที่มีอยู่ คุณปูบอกว่าทุกอย่างก็เริ่มโอเคขึ้น ระบบในธุรกิจเริ่ม Flow ไปได้เหมือนเดิม ประจวบเหมาะกับลูกชายของแม่ค้าญี่ปุ่นที่กล่าวไปในตอนแรกจะขึ้นไปญี่ปุ่นอีกรอบ
ด้วยความที่สนิทกันและเป็นลูกค้ากันมานานพอสมควร คุณปูเลยเอ่ยปากถามอยากจะขอตามขึ้นไปด้วย
นี่จึงถือเป็น win-win situation ที่นอกจากคุณปูแล้ว แม่ค้าญี่ปุ่นก็ยังได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าส่งของเยอะ ตู้ส่งสินค้าก็จะปิดไวขึ้น ของก็จะมาถึงไทยเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
ยอดไลค์เพจจาก 500 เป็น 4,000 ใน 5 วันตอนอยู่ญี่ปุ่น
ในขณะที่พ่อค้าคนอื่น ๆ รวมถึงแม่ค้าคนญี่ปุ่นที่พาขึ้นไปเลือกของเล่นแล้วรีบแพ็กใส่ลังเพื่อส่งกลับไทยแล้วเดินไปหาของในร้านต่อไป
แต่คุณปูกลับยอมเสียเวลาไม่ถึง 5 นาทีเพื่อถ่ายรูปและอัพลงเพจให้ไปเกิด (ชื่อนี้มีความหมายว่าคุณปูจะขายส่งแล้วให้พ่อค้าคนอื่นได้แจ้งเกิดกันต่อไป) พร้อมกับแคปชั่นในทำนองว่า “ของส่งตรงจากญี่ปุ่น”
แค่ง่าย ๆ เท่านี้ ไม่ต้องอาศัยการถ่ายรูปที่สวยอะไรมากมาย ยอดไลค์เพจให้ไปเกิดก็เพิ่มขึ้นจาก 500 เป็น 4,000 ในเวลาแค่ 5 วัน
และไม่ใช่แค่กระแสในเพจเท่านั้น เพราะเมื่อกลับมาถึงไทยก็มีผู้คนกว่า 50 มารอต่อคิวเพื่อซื้อของเล่นญี่ปุ่น ที่คุณปูไปหิ้วกลับมา จนสามารถสร้างยอดขายต่อครั้งได้มากถึง 50,000 บาท
โลเคชั่นปัจจุบันที่แต่ก่อนเป็นที่ร้าง ๆ ไม่มีร้านมาเปิดแม้แต่ร้านเดียว
เมื่อได้รับฟีดแบคที่ดีจากการที่หิ้วของมาขาย และสามารถดึงคนให้เข้ามาที่ร้านได้ทุกครั้งที่ของเล่นถึงไทยจนบางครั้งห้างฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ที่ไม่ค่อยมีคนเข้ามาเดินยังตกใจว่าทำไมถึงมีคนมารอต่อคิวได้ขนาดนี้
แต่ถึงอย่างนั้นคุณปูก็ยังถูกทางห้างฯ ยกเลิกสัญญาเช่า ด้วยเหตุผลที่ว่าปิดร้านบ่อยเพราะต้องบินไปดูของที่ญี่ปุ่น
นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณปูต้องมองหาทำเลในการทำหน้าร้านใหม่ ซึ่งบริเวณเดียวกับห้างฯที่ว่าคือตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ แหล่งรวมของเล่นมือสองมากมาย แต่คุณปูกลับไม่เลือกตรงนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า
“คนขายเยอะนั่นก็หมายถึงคู่แข่งที่เยอะขึ้นไปด้วย แล้วถ้าหากผมจะขยายร้าน มันก็คงจะไม่พื้นที่มากพอให้ขยับขยายไปไหน ก็เลยขับรถเซอร์เวย์แถวนั้นต่อไป จนมาเจอกับที่ปัจจุบัน ที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นนะ ข้างหน้าเป็นโพรงหญ้าเลย ข้าง ๆ ก็ไม่มีร้านอะไรมาเช่าเลยสักร้าน การเดินทางก็ไม่ได้สะดวกมากมาย
แต่ที่ตัดสินใจเลือกตรงนี้ เพราะมันมีที่ให้เราได้ขยับขยาย และที่สำคัญคือถึงจะไกลยังไง แต่ผมเชื่อว่าฐานลูกค้าในแฟนเพจก็ยังตามมาอยู่ดี”
กำลังจะขยาย แต่ต้องหยุดไว้ก่อนเพราะทีซีซีแลนด์มาขอเจรจา
หลังจากเปิดร้านสาขาไปได้สักพัก ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ธุรกิจมีรายได้จากการขายของเล่นที่คุณปูหิ้วมาเอง 5% ส่วนอีก 95% คือการให้ผู้ขายคนอื่นมาเช่าตู้วางโมเดล
ที่ต้องเปิดให้คนอื่นมาเช่าตู้ เพราะโมเดลแต่ละชิ้นล้วนมีราคาที่ค่อนข้างสูง ลำพังหากจะให้คุณปูลงทุนซื้อโมเดลเองทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว เอาแค่ตู้เล็ก ๆ ในรูปด้านล่างนี้ก็ปาไป 50,000 บาทแล้ว
และด้วยความเป็นพ่อค้าที่อยู่ในวงการมานาน รวมถึงแบรนด์ให้ไปเกิดที่ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าก็อยากจะมาเช่าตู้ขายโมเดล หรือกับลูกค้าทั่วไปที่อยากจะมาเดินซื้อ คุณปูเลยมีแพลนที่จะขยายพื้นที่เปิดให้เช่าตู้ไปอีกล็อค แต่แพลนนี้ก็กลับต้องมาหยุดไป
เพราะมีโปรเจ็คใหญ่ที่ไม่คาดฝันมาติดต่อ
ซึ่งโปรเจ็คที่ว่าก็คือการที่ทาง ทีซีซี แลนด์ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาของเจ้าสัวเจริญ อยากจะให้คุณปูมาช่วยพัฒนาอสังหาฯ ในเครือของบริษัท ซึ่งนั่นก็คือพันธุ์ทิพย์บางกะปิ
เพราะพันธุ์ทิพย์สาขาบางกะปิในปัจจุบันนั้นไม่ค่อยจะมีคนเข้ามาเดินสักเท่าไหร่ ทางผู้บริหารจึงอยากจะให้คุณปูมาเป็น Magnet ดึงคนเข้าห้าง ด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะให้สถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งรวมโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอนุญาติให้คุณปูตั้งชื่อให้กับมันว่า “ให้ไปเกิดแลนด์”
ด้วยวิธีที่ให้คุณปูเป็นคนจัดสรรพื้นที่ทั้ง 1,200 ตรม. หรือเกือบหนึ่งชั้นด้วยตัวเอง และจะเก็บค่าเช่าในราคาที่ถูกกว่าคนทั่วไป พร้อมกับเงื่อนไขที่คุณปูบอกว่ามัน Flexible กับเขามาก ๆ ไม่วุ่นวายเหมือนกับนโยบายของห้างฯ ทั่วไป
และคุณปูจะแบ่งพื้นที่ทั้ง 1,200 ตรม. เป็น 2 ส่วน
60% แรกคือเอามาเปิดให้ไปเกิดแลนด์ที่เป็นสินค้าของคุณปูเอง โดยมีการติดต่อกับดีลเลอร์จากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง
และส่วนที่สองอีก 40% จะเป็นร้านพันธมิตรต่างๆ เข้ามาเช่าพื้นที่ โดยจะมีสินค้าที่หลากหลาย ในวงการโมเดล-ฟิกเกอร์ มากยิ่งขึ้น
ซึ่งคุณปูได้คำนวณแล้วว่า แม้ร้านให้ไปเกิดแลนด์จะให้พื้นที่มากถึง 60% แต่ตัวเขาเองนั้นแทบไม่ต้องเสียค่าที่เลย
เพราะค่าเช่าของอีก 40% นั้นพอดีกับค่าเช่าอีก 60% ที่ต้องจ่ายให้ทางห้างฯพอดี
ส่วนกำไรก็มาจากการขายของเล่นของตัวเองและการเปิดให้เช่าตู้ ทีแอบแย้มกับ Marketeer ว่าโปรเจ็คนี้จะเปิดในช่วงต้นปีหน้า
และก็อย่างที่บอก ว่าใครจะไปคิดล่ะว่าร้านขายของเล่นก๊อกแก๊กแบกะดิน จะกลายมาเป็นอาณาจักรโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่ใช้เวลาในการเดินทางฟันฝ่าอุปสรรคมาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



