ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ 3 -4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พบเห็นชินตานั้นคือมีหลายธุรกิจไร้อัตราการเติบโต บางธุรกิจถึงขั้น “ติดลบ” แต่คงไม่ใช่ธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่า 29,300 ล้านบาทที่ยังเติบโตสวนกระแส 8-10% ในทุกๆ ปี

  สิ่งที่น่าสนใจในการเติบโตนี้มาจากวิถีแห่ง Lifestyle ที่เปลี่ยนไปเมื่อคนไทยเลือกใช้ชีวิตโสดกันมากขึ้น ในขณะที่คู่แต่งงานก็ไม่นิยมที่จะมีลูก สุดท้ายคือสังคมคนสูงวัยที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง

และทุกวิถีชีวิตที่กล่าวนั้นต่างเลือกเลี้ยง หมา แมว เป็นเสมือนเพื่อนชีวิตหรือบางคนผูกพันยกสถานะเสมือนเป็นลูกน้อยของตัวเอง ก็มีให้เห็นมากมาย

ตลาดสัตว์เลี้ยง

ยุคปฎิรูปโรงพยาบาลสัตว์

โดยหนึ่งใน Segment ที่เป็น Red Ocean นั้นคือ โรงพยาบาลและคลินิกที่ปัจจุบันมีถึงเกือบๆ 2,000 แห่งทั่วประเทศโดยแบ่งเป็นของภาครัฐ 30% ที่เหลือ 70% คือกลุ่มเอกชน

และเมื่อการแข่งขันสูงทำให้โรงพยาบาลสัตว์หลายแห่งเลือกจะปฎิวัติตัวเอง จากเดิมหมอนอกจากทำหน้าที่รักษาแล้วนั้นยังต้องทำ การตลาด,ทำบัญชีการเงิน แต่เวลานี้โรงพยาบาลหลายแห่งเลือกที่จะจ้างนักการตลาดมืออาชีพ, คนดูแลการเงิน ฯลฯ

เพราะทุกโรงพยาบาลรู้ดีว่า ควรมีมืออาชีพในด้านต่างๆ มาดูแลในเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด โดยเฉพาะด้านการตลาดที่เข้มข้นมากขึ้นหากเทียบกับในอดีต เพราะธุรกิจนี้โอกาสหารายได้ประตูยังเปิดกว้างมาก สะท้อนจากตัวเลขข้อมูลด้านล่าง

ตลาดสัตว์เลี้ยง

จะเห็นว่า Demand ทั้งสองอย่างเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน โดยสัตว์เลี้ยงยอดนิยมยังเป็นน้องหมาที่มีจำนวน 8.2 แสนตัว อันดับสองคือน้องแมว 3 แสนตัว อันดับสามคือ กระต่าย ที่เหลือคือสัตว์อื่นๆ

แน่นอนอีกหนึ่ง “จุดตัด” ที่เวลาสัตว์เลี้ยงแสนรักไม่สบายเจ้าของจะใช้วิธีการเลือกโรงพยาบาลไหนในการรักษานั้น จะพิจาราณาอยู่ 3 ข้อ 1. โรงพยาบาลนั้นมีทีมแพทย์ที่ชำนาญและรักสัตว์มากแค่ไหน 2. ความสะดวกสบาย 3. เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย

เอกชน ขยายสาขา เพราะรู้ว่าคนยอมจ่าย

ซึ่งต้องยอมรับว่าการจะหาให้ครบทุกข้อนั้น ต้องเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับ Hi end ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาทิเช่น โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ, โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ RTB, โรงพยาบาลสัตว์ บางกอก ฯลฯ

โดยโรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ต่างจากโรงพยาบาลรักษาคน อาทิเช่นมีหมอเฉพาะทางของแต่ละโรค,มีห้องพักหรูให้แก่เจ้าของกับสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วยกัน, มีเครื่องมือแพทย์เทคโนโลยีระดับสูง มีการแบ่งแยกสัตว์ป่วยชัดเจน

จากข้อมูลโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อระบุว่า ค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลสัตว์ระดับ Hi – End จะสูงขึ้นมากอยู่ที่เกือบๆ 10,000 บาท/สัตว์ 1 ตัว/ ปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยในภาพรวมของการรักษาอยู่ที่ 1,770 บาท

ถึงค่ารักษาจะแพงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 8 เท่า แต่สนามโรงพยาบาลสัตว์เอกชนก็ยังเดินเกม “ขยายสาขา” ต่อเนื่อง เพราะรู้ดีว่าผู้บริโภคยินยอมที่จะควักเงินจ่ายให้สัตว์เลี้ยงตัวเองเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

จึงไม่แปลกที่จะเห็นเบอร์หนึ่งอย่างโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อที่เปิดมา 23 ปีเวลานี้มีถึง 12 สาขาที่ลงทุนด้วยตัวเองส่วนอีก 2 สาขาจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร โดยถ้าเป็นสาขาเล็กลงทุนเองจะอยู่ที่ 20 ล้านบาท ขนาดกลางอยู่ที่ 30 ล้านบาท และขนาดใหญ่ 50 ล้านบาท

มากไปกว่านั้นยังเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่จะได้เงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งหมดก็เพื่อเป้าหมายรายได้ 1,500 ล้านบาทในปี 2023 


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online