สมศักดิ์ บุญคำ (ไผ)  เด็กหนุ่มจากจังหวัดร้อยเอ็ด คือ Founder & CEO ของ Local Alike   platform การทำธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่สามารถทำรายได้เติบโตมาจนก้าวข้ามจุดคุ้มทุน และพร้อมขยับเป้าหมายสู่ระดับโลก

กว่า 6 ปี ที่เขาและเพื่อนๆเริ่มทำธุรกิจนี้อย่างมุ่งมั่น อดทน และในเร็วๆนี้จะมีการลงทุนรอบใหม่เข้ามาหลังจากเมื่อปีที่แล้ว “Local Alike” คว้าเงินรางวัลกว่า 11.4 ล้านบาท จากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของ Booking.com

ไผจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเคมีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นก็ได้ไปเป็นวิศวกรในบริษัทแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมนี

“เป้าหมายในชีวิตของผมในตอนนั้นก็คือต้องการให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้ความสามารถและทักษะของตัวเองทำงานหารายได้ให้ได้มากที่สุด เลยไปทำงานที่เยอรมนี 1 ปี ก่อนกลับมาประจำที่เมืองไทย”

 ในช่วงเวลานั้นสิ่งที่รบกวนจิตใจเขาตลอดเวลา คือภาพความยากจนของผู้คน ที่ได้พบเจอเมื่อได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เลยย้อนกลับไปนึกถึงตัวเองในวัยเด็กว่าถ้าไม่มีโอกาสเหมือนคนเหล่านี้ชีวิตก็คงยังลำบากอยู่แน่นอน

จากวิศวกรเงินเดือนนับแสนสู่เด็กฝึกงานเงินเดือนไม่ถึงหมื่น   

ภายใต้หมวกวิศวกรเขามั่นใจว่าน่าจะทำอะไรให้สังคมมากกว่ามาทำงานให้กับองค์กรเอกชน ดังนั้นเมื่อทำได้ประมาณ 3 ปีมีเงินเก็บพอที่จะซื้อทรัพย์สินช่วยเหลือที่บ้านได้ระดับหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจทิ้งเงินเดือนนับแสนบาท ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Management)  วิชาที่ยังใหม่มากในช่วงเวลานั้นจาก Presidio Graduate School สหรัฐอเมริกา 

 พร้อมๆกับการหารายได้พิเศษในร้านอาหารไปด้วย ก่อนที่จะกลับมาฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยอมรับเงินเดือนเด็กฝึกงานเดือนละประมาณ 7 พันบาท เพราะอยากเรียนรู้วิธีคิดและวิธีการทำงานของ “สมเด็จย่า” ในการทำงานช่วยเหลือชาวเขา   โดยได้เข้าไปรับผิดชอบโปรเจ็กต์ในเรื่องโฮมสเตย์ ของหมู่บ้านที่อยู่ในโครงการดอยตุง  หลังจากนั้นก็ได้เป็นพนักงานประจำดูในเรื่องพัฒนาธุรกิจต่างๆให้กับโครงการ

การได้ไปทำงานกับชาวบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด ที่จะพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นตัวกลางเชื่อมการท่องเที่ยวจากชุมชนสู่นักท่องเที่ยวที่เห็นความสำคัญของการเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง

 “จุดหนึ่งผมคิดว่ารายได้เรื่องการท่องเที่ยวในบ้านเราแต่ละปีสูงมาก แต่สัดส่วนที่ลงมายังชุมชนจริงๆนั้นยังน้อยอยู่  ทำอย่างไรทีชาวบ้านจะได้โอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งจากเงินก้อนนี้”

การไปเรียนด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนทำให้เข้าใจว่าบิสสิเนสโมเดลในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนว่าต้องเป็นอย่างไร และพยายามวางแผนในการทำงานกับชุมชน เพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง พร้อมเกิดองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

 

4 โมเดลวิน-วินทั้งคู่

วันนี้ Local Alike  ได้แนวทางพัฒนาออกมาเป็น  4 โมเดลหลักคือ

1.ทำงานด้านที่ปรึกษา ปัจจุบัน Local Alike มีองค์กรเอกชนที่จ้างให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการท่องเที่ยวของชุมชนเครือข่ายหลายแห่ง เช่นบริษัทไทยแอร์เอเชีย  ตลาดหลักทรัพย์,  ซีพีเอฟ,  เอสซีจี  ฯลฯ

“ องค์กรเหล่านี้ทำเรื่องกิจกรรมเพื่อชุมชนอยู่แล้ว และเขาก็พยายามหาโครงการ CSR ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยการทำงานร่วมกับเรา”

นอกจากนั้นยังมีการจัดทริปท่องเที่ยวหรือกิจกรรมให้กับพนักงานหรือลูกค้าขององค์กรด้วย อย่างเช่นบริษัทไทยแอร์เอเชียต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีโครงการ English on air ให้พนักงานไปสอนภาษาอังกฤษให้ชาวบ้านในชุมชนทำมาแล้ว 3ปีมีคนสมัครมาสอนเพิ่มขึ้นทุกปี

เอสซีจี จะจัดเป็นเวิร์คชอปเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆให้กับคลับของผู้ถือหุ้นกู้ มีการจัดทริปให้กับทางสมาชิกของรอยัลออร์คิด ของการบินไทยโดยไปหมู่บ้านเล็กๆทางภาคเหนือที่ทานมังสวิรัติทั้งหมู่บ้าน

 CPF (บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ร่วมพัฒนาชุมชน 2 พื้นที่ในเครือที่บางหญ้าแพรก จ. สมุทรสาคร และปากน้ำประแส จ. ระยอง  

สำหรับชุมชนต่างๆที่ Local Alikeลงไปพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเมื่อแข็งแรงระดับหนึ่งก็จะถูกส่งไปในโมเดลของทีมบริษัททัวร์  เพื่อให้เขาดูว่ารูปแบบการท่องเที่ยวของชุมชนนั้นๆกลุ่มลูกค้าเป้าหมายควรจะเป็นใคร

2.ตั้งเป็นบริษัททัวร์  ซึ่งจะมีความแตกต่างจากบริษัททัวร์ทั่วไป เพราะทีมงานต้องลงไปทำงานกับชาวบ้านนานหลายเดือน เพื่อรับรู้ถึงความต้องการจริงของชาวบ้าน หาจุดขายที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา และต้องโน้มน้าวให้เขาเข้าใจที่จะเปลี่ยนวิธีคิดในบางเรื่อง 

เมื่อชุมชนนั้นเข้มแข็งมากขึ้นก็จะถูกส่งชื่อไปอยู่ใน Market Place กลายเป็นพาร์ทเนอร์กันในระยะยาว

3.โมเดล Market Place ตอนนี้มีประมาณ 100 เส้นทาง โฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวรายบุคคลซึ่งโดยแพลตฟอร์มของ Local Alikeที่เป็นสตาร์ทอัพ สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก  

 “สตาร์ทอัพการท่องเที่ยวเมืองไทยมีรูปแบบ Market Place เกิดขึ้นหลายราย ทุกคนพยายามทำทัวร์ให้คนท้องถิ่นมาขาย แต่จะมาตายเรื่องการจัดการ เพราะเวลานักท่องเที่ยวจองมา แต่ปรากฏว่าคนท้องถิ่นไม่สามารถทำให้ทริปเกิดขึ้นได้จริง นั่นหมายถึงว่าชุมชนยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเข้มแข็งจริงๆ”

4.โมเดลกองทุน เป็นต้นทุนก้อนหนึ่งที่ต้องเอารายได้จากการท่องเที่ยว หรือขององค์กรอื่นๆที่ต้องการสนับสนุน มาช่วยเหลือชุมชนให้เข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตกำลังวางแผนหารายได้ด้วยการเป็นพันธมิตรกับบริษัทบัตรเครดิตต่างๆด้วย 

ทุกโมเดลทำรายได้หมด โดยเฉพาะในส่วนของที่ปรึกษาและบริษัททัวร์ ที่สามารถทำรายได้ปีละประมาณโมเดลละ 20 ล้านบาท  ส่วนMarket Place เพิ่งเริ่มแต่มีลูกค้าแล้วประมาณ 1พันราย

Local Alike

Culture และBranding ต้องแข็งแรง

ไผเล่าว่า “ตอนเริ่มโครงการนี้เราก็พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ปรากฏว่าทำได้ยาก ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง และส่วนใหญ่เขาจะคิดว่าฉันทำงานหนักอยากเที่ยวแบบสบายมากกว่าซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะeducate ตลาดให้โตขึ้น ”

Market Place  กำลังมีนักลงทุนมาลงเงินก้อนใหม่คาดว่าเดือน 2 เดือนนี้จะรู้ผลที่แน่นอน

ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นรอบ  Seed หรือเปล่า เพราะเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่พอสมควร และเท่าที่รู้ สตาร์ทอัพที่ยังอิงอยู่กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมครั้งนี้น่าจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด เราเรียกVC กลุ่มนี้ว่าอิมแพ็ก อินเวสเตอร์ เป็นนักลงทุนเพื่อผลกระทบทางสังคม ซึ่งอาจจะมีวิธีคิดที่ต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่มองเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก”

ด้วยความที่โมเดลซึ่ง Local Alikeไม่ได้เป็นแบบสตาร์ทอัพเพียวๆเป้าหมายไม่ได้ต้องการโตแบบก้าวกระโดด เพราะต้องการสร้างชุมชนให้แข็งแรงด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาส่วนอุปสรรคของของเขาในตอนนี้คือการขยายทีมงานจาก 30 คนเพิ่มเป็น 40-50 คน

“คือจะกลายเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่ทำให้ผมต้องทำหลังบ้านเยอะมาก  ผมต้องการหาคนที่มาช่วยบริหารทีมทำอย่างไรให้ทีมอยู่ได้ มีปรัชญาในการทำงานที่เหมือนกันรวมทั้งทำอย่างไรให้คนเจนวายที่มีความคิดที่หลากหลาย มาทำงานร่วมกันในเป้าหมายเดียวกันให้ได้

ไผย้ำว่าตอนนี้เขาให้ความสำคัญในเรื่อง Culture และBranding  เป็นอย่างมากเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา และเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ Local Alikeเติบโตอย่างยั่งยืนเหมือนกัน

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online