เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน Big Camera ที่ปัจจุบันแม้จะครองบัลลังก์ผู้นำ แต่ก็ต้องปรับตัว

ครั้งหนึ่งในยุคที่ตลาดกล้องดิจิทัลเกือบจะล่มสลาย ด้วยกล้อง Smartphone ที่ ณ วันนั้นถือเป็นฟังก์ชันเสริม แต่ใครจะเชื่อว่าฟังก์ชันเสริมในวันนั้น 

ทำให้คนจำนวนมากเลิกซื้อกล้อง Compact แล้วใช้กล้องจาก Smartphone ถ่ายรูปแทน

เวลานั้นไม่ใช่แค่ค่ายผู้ผลิตกล้องที่สูญเสียรายได้มหาศาล ร้านค้ากล้องหลายแห่งได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กๆ ที่มีสายป่านยาวไม่พอ ทนแรงเสียดทานต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ไหวจนต้องปิดร้าน

กลายเป็นตะแกรงคัดกรอง ส่วนใหญ่เหลือรอดแค่ร้านขายกล้องขนาดใหญ่ที่มีเชนสาขา โดยหนึ่งในผู้อยู่รอด นั่นคือ Big Camera ที่ปัจจุบันคือร้านขายกล้องที่ใหญ่ที่สุดมีถึง 220 สาขาทั่วประเทศ และมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี

จนมาถึงในปัจจุบันที่กล้อง Mirrorless กลายเป็นสินค้าหลักมีสัดส่วนยอดขายถึง 67% ในตลาดกล้องดิจิทัลทั้งหมด

แต่แล้วความท้าทายครั้งใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อยอดขายภาพรวมตลาดกล้องดิจิทัลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเกิด “ติดลบ”

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลเพราะการแข่งขันในตลาด Smartphone ที่พัฒนากล้องแบบไม่หยุดนิ่ง และมีอยู่หลายแบรนด์ที่เลือกใช้ฟังก์ชันกล้องมาเป็น “จุดขาย” หลัก ได้ทำให้กลุ่มคนที่คิดจะซื้อกล้อง Mirrorless รุ่นเริ่มต้นราคาต่ำกว่า 25,000 บาท

หยุดการซื้อ แล้วหันมาใช้กล้อง Smartphone ถ่ายภาพทดแทน เพราะถ่ายเสร็จไม่ต้องเชื่อมต่ออัพรูปโชว์ Facebook ได้ทันที

“ปีหนึ่ง Smartphone ขายได้ 16-17 ล้านเครื่อง มันมหาศาลมาก ในขณะที่ตลาดกล้องยอดขายอยู่ที่ 3-4 แสนเครื่อง ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้เลย และด้วยยอดขายที่ต่างกันลิบลับ ผมว่า Smartphone ไม่น่าจะมากินยอดขายกล้อง Mirrorless”

“ที่สำคัญบรรดาค่ายกล้องก็ไม่ได้อยู่เฉย เพราะพัฒนาฟังก์ชันกล้องราคาต่ำกว่า 25,000 บาททั้งฟังก์ชันบิวตี้ และอีกหลายๆ อย่าง เพื่อใช้เทคโนโลยีฉีกหนีให้ดูเหนือชั้นกว่ากล้องจาก Smartphone” ธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊กคาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไขข้อข้องใจ ถึงเรื่องกล้อง Smartphone จะมากินยอดขายกล้อง Mirrorless

แล้วถ้าไม่ใช่ประเด็นนี้ อะไรคือต้นเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ยอดขายตลาดกล้องดิจิทัลอยู่ในสภาวะ “ติดลบ” ใน 9 เดือนแรก

หากสังเกตช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ เกือบทุกธุรกิจที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรงลงของคนไทย เพราะแม้แต่ตลาด Smartphone ที่ว่าแน่ๆ เติบโตทุกปี ปีนี้อาจจะเห็นยอดขายตกทั้งจำนวนเครื่องและมูลค่าตลาด

เพราะเจ้าใหญ่อย่าง Jaymart อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกว่า ปีนี้ตลาด Smartphone จะมีจำนวน 17 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีที่แล้ว 18 ล้านเครื่อง และในแง่มูลค่าอาจติดลบ 5-7 %

ตลาดกล้องดิจิทัลก็หนีไม่พ้นวิกฤตนี้เช่นกัน แม้จะใช้ยารักษาแรงเกรด A ด้วยโปรโมชั่นแต่ก็ยัง “เอาไม่อยู่”

“Big Camera เองใช้โปรโมชั่นรุนแรงมากในปีนี้หากเทียบกับปีอื่นๆ ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการซื้อทั้งลดราคา, การผ่อน 0% ที่นานกว่าเดิม สุดท้ายคือการซื้อกล้องแถมเลนส์ หรือลดราคาเลนส์ไปถึง 50% หากซื้อพร้อมกล้องรุ่นใหม่”

ในแง่ของร้านค้าเองหากเลือกได้ก็ไม่อยากทำโปรโมชั่นราคารุนแรง เพราะนอกจากกำไรจะน้อยลงแล้วนั้นผลร้ายที่ตามมาคือโครงสร้างราคาสินค้าในตลาดจะเสียระบบ และทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการเฝ้ารอสินค้าราคาถูก

แต่..ในเมื่อสินค้าคงค้างสต๊อกสูง ทางออกที่ทำได้ก็คือการลดราคาสินค้า แต่ประเด็นแม้จะลดราคาแล้วก็ยังไม่สามารถทำให้ตลาดกล้องดิจิทัลเติบโตได้ใน 9 เดือนแรกของปี 2018

ถึงอย่างไรธนสิทธิ์ก็ยังเชื่อว่าเมื่อจบปี 2018 ตลาดกล้องดิจิทัลในเมืองไทยก็น่าจะกลับมามียอดขายเท่ากับปีที่แล้ว คือประมาณ 8,600 ล้านบาท เพราะใน 3 เดือนสุดท้ายของปีจะเป็นฤดูกาลขายกล้อง เพราะลูกค้ามักจะซื้อกล้องใหม่เพื่อนำไปถ่ายรูปตอนไปเที่ยว หรือซื้อเป็นของขวัญ 

ขณะเดียวกัน นอกจากต้องแก้เกมเรื่องกำลังซื้อที่หายไป ร้านกล้องอย่าง Big Camera ยังต้อง Action อีกรอบเพื่อต่อกรกับบรรดาคู่แข่งร้านค้าที่ขายกล้องและเลนส์ประเภทหิ้วเข้ามา

เพราะไม่ว่าจะทั้งรูปแบบร้านค้าออนไลน์และแบบมีหน้าร้านที่ขายสินค้ากล้องเครื่องหิ้วมานั้น สามารถทำราคาขายกล้องและเลนส์ได้ถูกกว่าBig Camera 15-20%

“มีการคุยกับค่ายกล้องในไทย จึงมาสรุปวิธีแก้ไขเรื่องนี้ ด้วยการให้ศูนย์บริการหลังการขายของแต่ละแบรนด์มีนโยบาย คือ หากกล้องเครื่องหิ้วหรือเลนส์หิ้วมีปัญหาแล้วนำมาซ่อมจะต้องมีการชาร์จค่าเปิดเครื่องซ่อม 3,000-4,000 บาท

“อีกทั้งค่ายกล้องหลายค่ายก็มีการปรับอายุการรับประกันให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ 1 ปี มาเป็น 18 เดือนหรือ 2 ปี”

ถึงอย่างไรธนสิทธิ์ก็ยอมรับว่า แม้จะมีกฎเหล็กนี้ ก็ยังมีลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ยังนิยมกล้องและเลนส์หิ้วที่มีราคาถูกกว่า

ในขณะที่แผนการขยายสาขานั้น Big Cameraบอกว่าปัจจุบันก็มีร้านที่เปิดใหม่และสาขาร้านที่ปิดตัวลงไปเพราะยอดขายไม่ดี ซึ่งบวกลบกับการเปิดร้านสาขาใหม่ๆ แล้วนั้นในแต่ละปี Big Camera ก็จะมีสาขาในมืออยู่ที่ 220-230 สาขา

โดยพื้นที่หลักในการขยายสาขาก็ยังเน้นไปที่ศูนย์การค้าและห้างค้าปลีก Modern trade

ส่วนช่องทางออนไลน์นั้นแม้ Big Cameraจะมีบริการ แต่ยอดขายกลับไม่หวือหวาเพราะเวลานี้ยังไม่ถึง 3% จากรายได้ทั้งหมด

เพราะธนสิทธิ์ก็ยังเชื่อว่าแม้เทคโนโลยีการซื้อขาย e-commerce กำลังแทรกซึมทุกพฤติกรรมการซื้อ แต่คงไม่ใช่สินค้าอย่างกล้องดิจิทัล

ที่ก่อนตัดสินใจซื้อลูกค้าต้องหยิบและทดลองเทคโนโลยี ฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ว่าถูกใจตัวเองมากน้อยแค่ไหนก่อนจะตัดสินใจควักเงินจ่าย

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online