ภาพ ‘โรงรับจำนำ’ ในความคิดของหลายคน คงจะหนีไม่พ้นตึกแถวที่ทาทับด้วยสีขาว-แดง พร้อมบรรยากาศด้านในที่ให้อารมณ์เหมือนกับฉากในหนังของหว่อง กาไว และให้หลงจู๊หรือผู้จัดการโรงรับจำนำมานั่งอยู่หลังกรงเหล็ก กับหน้าที่กดราคาเวลาที่คนเดินเอาของเข้ามาจำนำแบบเขินอาย
ไม่ปฏิเสธว่าเราก็เคยแอบคิดแบบนั้น
และด้วยภาพที่สร้างขึ้นมาในหัว การนัดคุยกันระหว่าง Marketeer กับโรงรับจำนำแห่งหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการทำธุรกิจในครั้งนี้ เราและพี่ช่างภาพอีกคนจึงขนแฟลชขนไฟไปเต็มที่เพื่อให้อุปกรณ์การถ่ายภาพที่มีช่วยเพิ่มความสว่างให้กับโรงรับจำนำ เพื่อผู้อ่านทุกคนจะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน
แต่สุดท้ายแฟลชและไฟที่ขนไปก็ไม่ได้ใช้ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่ตึกแถวที่ทาทับด้วยสีขาว-แดง แต่กลับเป็นสีส้มตัดสลับกับสีน้ำเงินที่ดูแล้วทันสมัย
ลูกกรงกลายเป็นกระจกบานใหญ่ที่ดูโล่งสบายตา
หลงจู๊หน้าโหดกลายเป็นพนักงานในชุดยูนิฟอร์มที่ทำให้เราสัมผัสได้ว่าเขามีมาตรฐานเกินกว่าที่จะกดราคาสินค้าตามใจตัวเองได้
และโรงรับจำนำที่เรากำลังพูดถึงนี้ก็คือ Cash Express
ที่ในอดีตก็คือโรงรับจำนำตึกแถวสีขาว-แดงเหมือนอย่างที่เราคุ้นตา แต่ด้วยการเข้ามาของ Generation ที่ 3 อย่าง ปรียาพร ตั้งเลิศสัมพันธ์ และ โสชฎา ตั้งเลิศสัมพันธ์ สองพี่น้องดีกรีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของไทย
ที่ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจจากที่บ้าน เปลี่ยนภาพลักษณ์โรงรับจำนำแบบเก่าให้ดูทันสมัย รีแบรนด์จนทำให้ได้ฐานลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ และทำให้ผู้คนได้มีความเข้าใจว่าที่จริงแล้วโรงรับจำนำไม่ใช่ที่สำหรับคนไม่มีเงิน
แต่เป็นเหมือนสถาบันทางการเงิน ที่มีทั้งกลุ่ม SME คนเริ่มทำธุรกิจใหม่ และคนทั่วไปเข้ามาเป็นลูกค้า
แม้จะไม่มีเวลารอเงินกู้จากธนาคาร ไม่มี statement สวยๆ เพื่อยื่นกู้ได้ แต่ก็สามารถนำทรัพย์สินที่มีมาแปลงเป็นเงินทุนได้เหมือนกัน
เหตุผลที่ธุรกิจอย่างโรงรับจำนำต้องทำแบรนด์
ไม่ใช่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จู่ๆ ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยอารมณ์ แต่เหตุผลที่ทำให้ปรียาพรและโสชฎาตัดสินใจเข้ามาสร้างแบรนด์ให้กับโรงรับจำนำที่มีมาตั้งแต่รุ่นอากงก็เพราะต้องการแก้ไข Pain Point ในธุรกิจที่มีมานาน
ตั้งแต่การตั้งชื่อแบรนด์ว่า Cash Express พร้อมกับโลโก้สีส้มน้ำเงินเพื่อสื่อถึงความสดใสและความเชื่อมั่น รวมถึงภาพของลูกศรชี้เข้า-ออก เพื่อต้องการจะบ่งบอกถึงการหมุนเวียน ว่าของชิ้นเดียวกันสามารถสร้างทั้งเงินเข้าและเงินออกได้
ซึ่งนอกจากโลโก้แล้ว Cash Express ก็ยังเปลี่ยนสถาปัตยกรรมที่ทำให้เราลืมภาพลักษณ์ของโรงรับจำนำหม่นหมองเหมือนภาพในหนังของหว่องกาไว เปลี่ยนลูกกรง ให้กลายเป็นกระจกบานใหญ่เพื่อความโล่งโปร่งสบาย
เปลี่ยนหลงจู๊จอมกดราคาให้กลายมาเป็นพนักงานใส่ยูนิฟอร์มที่สามารถพูดคุยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับราคาเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายได้
และนั่นก็ทำให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาใน Cash Express ไม่ต้องมองซ้ายมองขวาเหมือนกับเวลาเดินเข้าโรงรับจำนำแบบเดิมๆ อีกต่อไป
สร้างแบรนด์ใหม่ ก็มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น
หลังจากที่สองพี่น้องได้ใช้ Pain Point ของผู้คนกับความเป็นคนรุ่นใหม่มาทลายกรอบเดิมๆ ของโรงรับจำนำ ก็ทำให้ Cash Express ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามา
ซึ่งนั่นหมายถึงคนรุ่นใหม่ ที่มีความเข้าใจมากขึ้นว่าโรงรับจำนำคืออะไร และทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าโรงรับจำนำ ไม่ได้รับจำนำแค่ทองกับเพชรเหมือนกับรุ่นพ่อรุ่นแม่เท่านั้น แต่ยังเปิดรับนาฬิกา กระเป๋า แว่นตา หรือของแบรนด์เนมต่างๆ ด้วยเหมือนกัน
และจากอดีตที่โรงรับจำนำในเครือจะใช้ชื่อของโลเคชั่นนั้นๆ มาตั้งเป็นชื่อโรงรับจำนำอย่างเช่น โรงรับจำนำอุดมสุข หรือโรงรับจำนำวัชรพล แต่เมื่อเปลี่ยนทุกที่ให้กลายมาเป็นชื่อของ Cash Express ก็ทำให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้นว่าทั้งหมดเป็นเจ้าของเดียวกัน
นำไปสู่การขยายฐานลูกค้าที่โรงรับจำนำแต่ละแห่งจะไม่ได้มีเพียงแค่คนบริเวณนั้นเดินเข้ามาอีกต่อไป ส่งผลให้เมื่อขยายสาขาแห่งใหม่ ก็ไม่ต้องใช้เวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือเหมือนกับในอดีต
เพราะมีป้ายของแบรนด์ Cash Express เป็นตัวช่วยการันตีถึงความน่าเชื่อถืออยู่ที่ข้างหน้าร้านแล้ว
ใครจะคิดว่าวันหนึ่งธุรกิจอย่างโรงรับจำนำจะหันมาทำออนไลน์
นอกจากการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับร้านเพชรมากกว่าโรงรับจำนำ อีกสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเซอร์ไพรส์ไม่แพ้กันก็คือทีวีบริเวณด้านหน้าที่เปิดฉาย TVC และ Infographic ของ Cash Express
ก็ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งธุรกิจอย่างโรงรับจำนำจะมี TVC เป็นของตัวเอง !
และไม่ใช่เท่านี้ แต่ยังรวมไปถึงการทำการตลาดออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ประเมินราคาออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ราคาคร่าวๆ ก่อนว่าตรงกับที่คาดหวังไว้หรือไม่
หากไม่ก็จะได้ไม่ต้องเดินทางมาให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย หรือกับฟีเจอร์คำนวณดอกเบี้ยออนไลน์ที่ทำให้ลูกค้าสามารถประเมินดอกเบี้ยและระยะเวลาความคุ้มค่าต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยและสร้างบริการให้ผู้คนเข้าถึงง่ายขึ้นนี้ก็ทำให้ Cash Express มีฐานลูกค้าที่เป็นคนทั่วไปและกลุ่ม SME มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และเพื่อทำให้เห็นภาพของการรีแบรนด์กันอย่างชัดเจนมากขึ้น Marketeer จึงได้ลองรีวิวขั้นตอนต่างๆ ของโรงรับจำนำ Cash Express มาให้ทุกคนได้ลองดูกัน ตั้งแต่วิธีการพิมพ์ลายนิ้วมือที่ทำให้ลูกค้าไม่ต้องมานั่งล้างหมึกพิมพ์ที่นิ้วโป้ง การเก็บรักษาของที่มาจำนำที่ทำให้ของในนั้นอยู่อย่างปลอดภัย หรือแม้แต่ขั้นตอนต่างๆ ข้างหลัง ที่น้อยคนนักจะได้เห็น
สิ่งที่ได้จากบทสนทนาด้านบน ไม่ใช่เพียงแค่ความสนุกที่ได้เรียนรู้แนวคิดในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจดั้งเดิมของสองคนรุ่นใหม่ ที่นำไปสู่การขยายฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเท่านั้น
แต่ยังหมายรวมไปถึงทัศนคติของการไม่หยุดนิ่ง
เพราะแม้โรงรับจำนำจะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้จัดอยู่ในโซน Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูง แต่ทั้งคู่ก็รู้ดีว่าในยุคที่ดิจิทัลและออนไลน์เข้ามา การอยู่เฉยๆ ก็เท่ากับการก้าวถอยหลังโดยอัตโนมัติ
และในวันที่เริ่มก้าวก่อนใคร ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็นโรงรับจำนำอีกหลายๆ ที่ลุกขึ้นมาทำแบรนด์เป็นของตัวเอง เหมือนอย่างที่ Cash Express ทำก็เป็นได้
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ