“บราเดอร์” คาดปิดงบปี 2561 เติบโต 7% แต่งตั้ง “ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ” รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด มองตลาดไอที 62 ยังทรงตัวบวกลบไม่เกิน 3% ส่วนบราเดอร์ตั้งเป้าโต 5% รับมือความท้าทายตลาด ใช้กลยุทธ์ 3C โฟกัสลูกค้า ช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงตัวองค์กร ประกาศขึ้น Top 3 ทุกเซกเมนต์
โทโมยูกิ ฟูจิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2561 (ปีงบประมาณ เม.ย. 61-มี.ค. 62) บริษัทคาดว่ามีการเติบโต 7% นอกจากนี้ในช่วง 6 ปีหลังนับตั้งแต่ 2013 มีอัตราการเติบโต 1.6 เท่าของรายได้ โดยบราเดอร์ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ 40% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
โดยปีนี้บราเดอร์ใช้คอนเซ็ปต์ “Towards the Next Level” เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายกระแสเศรษฐกิจ ส่วนปรัชญายังคงเดิมคือ “at your side”
อย่างไรก็ตาม บราเดอร์ ยังได้แต่งตั้งให้ “ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ” ดำรงตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด’ เป็นผู้อำนวยการคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคม 2562 เนื่องจากผลงานที่ทำให้บริษัทได้ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องพิมพ์ในประเทศไทยในช่วงปี 2557 โดยก่อนหน้านี้ ธีรวุธทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปและฝ่ายการตลาด ตั้งแต่ปี 2551
ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ตลาดไอที (IT Retail) ปี 2562 มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพริ้นเตอร์ ที่เต็มไปด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ บริษัทจึงตั้งเป้าเติบโต 5% และมองว่าการเติบโตเพียง 5% ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในปี 2562
เนื่องจากมองว่าภาพรวมตลาดไอทีปี 2562 ยังคงทรงตัว เติบโตหรือติดลบไม่เกิน 3%
ธีรวุธกล่าวถึงแนวทางการทำธุรกิจในปี 2561-2563 ว่า บริษัทจะทรานส์ฟอร์ม 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Business transform, Operational Transform และ Talent Transform ด้วยกลยุทธ์ ‘3C’
ตั้งแต่ Customer (ลูกค้า) Channel Partner (ช่องทางการจัดจำหน่าย) ไปจนถึง Company (ตัวองค์กร)
Customer คือการให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยบริการหลังการขายที่ดี อีกทั้งปีนี้ธีรวุธตั้งเป้าจะขยายตลาดไปยัง ‘ลาว’ อย่างจริงจัง แม้ว่าบราเดอร์จะเข้าไปทำตลาดในลาวตั้งแต่สิบปีก่อน แต่ปีนี้บริษัทมองว่ายอดขายในลาวเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะปี 2561 ที่ยอดขายเติบโตถึง 30% ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าเติบโต 50%
Channel Partner ปัจจุบันบริษัททำธุรกิจการขายผ่าน Business Partner 100% แต่ภาพรวมตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้พาร์ตเนอร์มีปัญหาในการปรับตัว โดยบริษัทแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานฝ่ายขายเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขายในกลุ่มธุรกิจองค์กร, การขายแบบ Contractual Business และ Online Business
สุดท้าย Company คือการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อก้าวติดทอป 3 ในธุรกิจพริ้นเตอร์ทุกเซกเมนต์
ส่วน วรศักดิ์ ประดิษฐ์กุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทจะนำกำลังคนไปพัฒนาด้าน Training Chatbot รวมทั้งคิดกลยุทธ์งานบริการอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทขยายขีดความสามารถในการพัฒนางานบริการได้มากขึ้น
ทั้งนี้ บราเดอร์มีโรงงานการผลิต 19 แห่ง และบริษัทสาขาสำนักงานตัวแทนการขาย 43 แห่ง ใน 4 ประเทศ โดยมีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ฉลาก สแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลและจักรเย็บผ้า ส่วนในประเทศไทยบราเดอร์มีศูนย์บริการครบ 77 จังหวัด
Marketeer FYI
ส่วนแบ่งการตลาด ‘พริ้นเตอร์’ Brother ปี 2561
อิงค์เจ็ท มัลติฟังก์ชัน 20.6% / อันดับ 3 ในตลาด
พริ้นเตอร์ขาวดำมัลติฟังก์ชัน 48% / อันดับ 1 ในตลาด
พริ้นเตอร์สีมัลติฟังก์ชั่น 30.4% / อันดับ 1 ในตลาด (อันดับ 2 ในปี 2560)
โมโนเลเซอร์พริ้นเตอร์ 29.1% / อันดับ 2 ในตลาด (อันดับ 3 ในปี 2560)
เครื่องพิมพ์เลเซอร์สี ไม่มัลติฟังก์ชัน 18.4% / อันดับ 3
ที่มา: GFK
ตลาดไอที กลุ่มพริ้นเตอร์ ปี 2561
ตลาดเติบโตลดลง 3%
ปี 2560 1.35 ล้านเครื่อง
ปี 2561 1.25 ล้านเครื่อง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



