หาก Huawei คือแบรนด์ใหญ่ฝั่งเอเชียที่ครองพื้นที่สื่อได้มากสุดในไตรมาสแรกปีนี้ จากข่าวและความเคลื่อนไหวต่างๆ มากมาย Facebook ก็คือแบรนด์ที่คว้าตำแหน่งดังกล่าวของฝั่งชาติตะวันตก โดยในกรอบเวลาเดียวกัน Social Network อันดับหนึ่งของโลก มีข่าวออกมารัวๆ ทั้งการเตรียมเปลี่ยนเน้นการสนทนาแบบส่วนตัวตามพฤติกรรมผู้ใช้ และเหตุระบบครั้งใหญ่เมื่อ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Facebook ถูกจับตามองอีกครั้ง หลัง Chris Cox ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) ประกาศลาออก

เพราะเป็นการลาออกของผู้บริหารระดับสูงที่อยู่กับองค์กรมานาน และคาดกันว่าเป็นหนึ่งในตัวเต็ง CEO คนต่อไป การลาออกของ CPO วัย 36 ปี ทวีความน่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะ Facebook เองไม่ได้แจ้งสาเหตุแน่ชัด และในวันเดียวกัน Chris Daniels ผู้บริหารอีกคนที่ดูแล WhatsApp–Chat App ในเครือก็ตัดสินใจแบบเดียวกัน

แยกทางเพราะเห็นต่างเรื่องปรับไปเป็น Single Privacy Focused Platform

Facebook เชื่อมโยงคนทั่วโลกให้ใกล้กันมากขึ้นด้วยการแบ่งปันข้อมูล และความเคลื่อนไหวให้ผู้ใช้คนอื่นๆ ใน Platform ได้ทราบในเวลาเดียวกัน ซี่งยังเป็นการเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารทั้งของคนทั่วไปและแบรนด์ แต่การเปิดเผยข้อมูลแบบสาธารณะนี้ก็มีข้อเสีย

เพราะเปิดช่องให้ Hacker นำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบได้ง่ายขึ้น เหมือนที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองนำข้อมูลของผู้ใช้เกือบ 90 ล้านคน ไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ประกอบกับผู้ใช้เองก็หวั่นว่าข้อมูลสำคัญรั่วไหลหรือ Facebook ส่งต่อข้อมูลให้บริษัทอื่นไปใช้โดยไม่แจ้งให้ทราบก่อน

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ Mark Zuckerberg–CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook จึงประกาศว่าราว 2-3 ปีจากนี้จะปรับให้ Facebook กับ App ในเครือทั้งหมดคือ Instagram, WhatsApp และ Messenger สามารถสนทนากันแบบเป็นส่วนตัวผ่านการเข้ารหัสมากขึ้น

ส่วนประวัติการสนทนาจะหายไปในเวลาไม่นาน เพื่อลดภาระของ Server ที่มีอยู่ในหลายประเทศ และลดความเสี่ยงในการถูกเจาะข้อมูล  

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่อ้างจากแหล่งข่าวใน Facebook ระบุว่า ทั้ง Chris Cox และ Chris Daniels ต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะเกรงว่าอาจทำให้ Facebook เสื่อมความนิยมลงไป จนส่งผลต่อ Platform อื่นๆ ในเครือด้วย

รายงานของ The New York Times ยังระบุอีกว่า ผู้บริหารทั้งสองคนที่ลาออกเพราะไม่พอใจการใช้อำนาจของ CEO ประกอบกับเกรงว่าหากยังอยู่ต่ออิสระในการทำงานอาจลดลง

ด้าน Ben Horowitz นักลงทุนคนดังในวงการ Technology ให้ทัศนะว่าการลาออกครั้งนี้เกิดจากผู้บริหารทั้งสองเห็นว่า เป็นการหันหลังกับการวางตัวเป็นสื่อสังคมออนไลน์ ที่เน้นความเปิดกว้างโปร่งใสและมีลักษณะเป็นสาธารณะ จึงผิดจากที่ยึดมั่นมาตลอด  

จับตาดูความเปลี่ยนแปลงหลังขาดคนสำคัญ

การลาออกของ Chris Cox ถือเป็นข่าวใหญ่ในหมู่พนักงานกว่า 30,000 คนของ Facebook เพราะนอกจากอยู่กับบริษัทมาตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ และผู้ปลุกปั้น News Feed ผู้บริหารรายนี้ที่เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลมาก่อนยังรับหน้าที่ปฐมนิเทศพนักงานใหม่ของบริษัทในทุกวันจันทร์

ขณะเดียวกันยังเป็นคนที่ร่วมฝ่าฟันปัญหาต่างๆ มากับบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนคนในองค์กรมองว่า นี่คือผู้มีอำนาจสูงสุดอันดับ 3 รองจาก Zuckerberg และ Sheryl Sandberg ประธานฝ่ายปฏิบัติการ (COO)    

อย่างไรก็ตาม การลาออกครั้งนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้เลือกไปทำงานที่อื่นๆ หรือออกไปหาความท้าทายใหม่ หลังขัดแย้งกับ Zuckerberg เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุดกระทั่งคนใกล้ชิดก็ทน Zuckerberg ไม่ไหว

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้บริหารทั้งของ Facebook เอง เช่น ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร และบริษัทในเครือ เช่น Kevin Systrom กับ Mike Krieger สองผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram และ Jan Koum และ Brain Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp ต่างพากันลาออก

สำหรับตำแหน่งของ Chris Cox ยังไม่มีใครมาแทน แต่ Zuckerberg ก็มีตัวเลือกมากมาย เช่น Mike Schrorpfer หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี และ Jay Parikh รองประธานฝ่ายวิศวกรรม/nytimes, bbc, cnbc, reuters



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online