Trend: จีนในปัจจุบัน ผงาดขึ้นมาบนเวทีโลกหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

ที่ประกอบไปด้วย รถอีวีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กังหันขนาดใหญ่และแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ตามลำดับ ซึ่งแบรนด์จีนไม่ได้แค่อยู่ในตลาด แต่ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูง จึงแปรเป็นเม็ดเงินกลับเข้าประเทศมหาศาล

นับตั้งแต่ตลาดเทคโนโลยีพลังงานขยายตัวหลังการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ

ปี 2023 จีนขายรถอีวีในต่างประเทศได้ราว 100,000 คัน และการส่งออกก็เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 70% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 34,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท)

พร้อมการที่ BYD เป็นแบรนด์รถอีวี ยอดขายสูงสุดของโลก ท่ามกลางการไปสร้างโรงงานผลิตรถอีวีในหลายประเทศของค่ายรถจีน รวมถึงในไทย ส่งผลสืบเนื่องให้รถอีวีจีนท่วมตลาด และราคาถูกลดเปิดทางให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น 

แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับกลุ่มสหภาพยุโรปไม่พอใจ เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้ค่ายรถอีวีเป็นเบอร์ใหญ่ในตลาดโลกได้ มาจากรัฐบาลสนับสนุนอย่างมาก

เช่นในปี 2019 อุตสาหกรรมกลุ่มพลังงานสะอาดจีนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากถึง 237,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.7 ล้านล้านบาท)

และในปี 2022 BYD ได้เงินอุดหนุน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 81,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมหาศาลจากเพียง 235 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,700 ล้านบาท) เมื่อปี 2020

จนทาง BYD กล้าประกาศกับนักลงทุนว่า ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายอีก 20% ในปี 2024 และ CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถอีวีรายใหญ่สุดของโลกประกาศขยายโรงงานแบบเต็มกำลัง  

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ต้องปกป้องอุตสาหกรรมรถอีวีในประเทศ จนนำมาสู่ตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 27% ต่อรถอีวีจีน และสหภาพยุโรปที่เตรียมทำแบบเดียวกันด้วยอัตราภาษีสูงพอ ๆ กับช่วงกรกฎาคมปี 2024 

จีนยังบุกตลาดแผงโซลาร์ เซลล์ และกังหันลมอย่างหนักเช่นกัน โดยสหภาพยุโรประบุว่า ปี 2023 โซลาร์ เซลล์ จีนกินสัดส่วนตลาดนี้ในกลุ่มประเทศสมาชิก เพิ่มขึ้น 40%

ส่วนในตลาดกังหันลม ความเป็นแบรนด์ใหญ่ตลาดยุโรป ยังทำให้จีนมีอิทธิพลต่อ Supply chain ด้วย

ด้าน Janet Yellen รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า เงินอุดหนุนมหาศาลจากรัฐบาลและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนท่วมตลาดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั่วโลก

ฝ่ายจีนเมื่อเจอกับกำแพงภาษีและการกล่าวโจมตีดังกล่าว จึงไม่พอใจและตอบโต้ว่า บรรดาประเทศตะวันตกดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้าด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรม  

Margrethe Vestager ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ให้ทัศนะว่า จีนขึ้นมาเป็นเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดได้ด้วยแนวทางเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

นั่นคือ เชื้อเชิญให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ พร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย แต่จากนั้นก็ทยอยศึกษา เก็บข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใช้ผลิตสินค้าขึ้นมาเอง

จากนั้นก็เดินหน้าบุกตลาดโลก พร้อมปัจจัยหนุนต่าง ๆ เช่น เงินสนับสนุนจากรัฐบาล และค่าจ้างแรงงานถูก

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตามองจากนี้ คือสงครามการค้าในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด จากการตอบโต้ระหว่างจีนกับประเทศตะวันตกที่มีแต่จะยิ่งทวีความดุเดือด/dw



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online