เว็บนิยายออนไลน์ รายได้เท่าไร ? กรณีศึกษา Dek-D ReadAWrite ธัญวลัย Fictionlog กวีบุ๊คส์ และจอยลดา

ในช่วงโควิดคนนิยมเสพสื่อบันเทิงมากขึ้น ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ คลิปคลายเครียด และนิยายออนไลน์ หลายคนที่ผันตัวจากพนักงานประจำมาเขียนนิยาย ก็สร้างรายได้หลักร้อย หลักพัน หรือบางคนก็หลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว

เว็บไซต์นิยายออนไลน์ ก็มีมากขึ้นจากเมื่อก่อน จะมีความแตกต่างกันที่ความหลากหลายของเนื้อหา ฟังก์ชันการอ่าน การเขียน และที่สำคัญคือรายได้ที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้

 

Dek-D

เว็บอ่านและเขียนนิยายเจ้าแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่นักเขียน 70 : 30 แพลตฟอร์ม จ่ายเงินเมื่อมียอดรายได้สะสมอย่างน้อย 300 Coins ภายในสิ้นเดือน และจะโอนให้ภายในวันที่ 14 ของเดือนถัดไป

ReadAWrite

ส่วนแบ่งรายได้เท่ากับของเด็กดี แต่เพิ่มเติมคือมีระบบโดเนท ที่เปิดให้คนอ่านจ่ายเงินเพิ่มให้นักเขียนได้ตามต้องการ โดยส่วนแบ่งยอดโดเนทอยู่ที่ นักเขียน 90 : 10 แพลตฟอร์ม และทั้งยอดขายนิยายรวมถึงการโดเนทจะมีการหักค่าธรรมเนียมตัวกลางชำระเงินผ่านระบบ mebcoin 4% ของรายได้ และโอนเงินภายใน 20-25 ของทุกเดือน

ธัญวลัย

ถอนได้เมื่อมีรายได้ 100 บาทขั้นต่ำ นอกจากจะมีระบบเหรียญแล้ว ยังมีการจ่ายรายได้จากกุญแจ ซึ่งคิดจากการที่มีคนเข้าชมโฆษณาภายในเว็บอีกด้วย โดยใช้ใช้สูตร (รายได้จากการโฆษณา/จำนวนกุญแจที่ User ใช้งานในแต่ละวัน) x จำนวนกุญแจที่ได้รับจากการปลดล็อกตอน = รายได้ที่นักเขียนได้รับจากกุญแจ

นอกจากนั้น เมื่อหักค่า payment gateway แล้ว ส่วนแบ่งนักเขียนจะเหลือ 67.2% และแพลตฟอร์มได้ไป 28.8%

Fictionlog

เป็นเว็บที่มีการขายหลากหลาย ทั้งด้านอีบุ๊กและนิยายรายตอน คิดรายได้ครึ่งต่อครึ่ง ไม่มีค่า payment gateway แต่คิดค่าบริการโอนเงิน 30 บาทแทน และหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ถอนได้เมื่อมียอด 500 บาทขั้นต่ำ

กวีบุ๊คส์

มีสกุลเงินที่เรียกว่า กำลังใจ และ อั่งเปา

กำลังใจคือสกุลเงินที่นักอ่านจ่ายให้เรา โดย 1 กำลังใจ = 1 บาท แต่นักเขียนจะได้เงินในส่วนที่เรียกว่าอั่งเปา ก็คือการนำกำลังใจมาหัก 0.1 บาท = อั่งเปา (0.9 บาท) สามารถขอถอนได้เมื่อมียอดกำลังใจขั้นต่ำ 500 บาท

จอยลดา

เป็นแพลตฟอร์มที่มีทั้งนิยายแชทและแบบบรรยาย แต่เด่นเรื่องนิยายแชทมากกว่า ซึ่งนิยายแชทเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีการเล่าเรื่องผ่านรูปแบบการแชท เน้นบทสนทนา และในตลาดนิยายประเทศไทยตอนนี้ นิยายแชทมักเขียนในหมวดหมู่ของ fan-fiction (เรื่องแต่งโดยอิงจากความชอบ เช่น นำศิลปินหรือตัวละครที่ชอบมาเป็นอิมเมจตัวละครในนิยายตนเอง)

รายได้คิดเป็น 200 เหรียญ : 1 บาท และมีระบบแคนดี้ที่เหมือนการให้ทิปของขวัญอีกด้วย สามารถเบิกได้เมื่อรายได้เกิน 100 บาท และคิดค่าบริการโอน 8 บาท หากรายได้นักเขียนมากกว่า 1,000 บาทเป็นต้นไป จะหักภาษี 5%

แล้วนักเขียนทั่วไป เขามีรายได้เท่าไรกันบ้าง?

เป็นคำถามที่คนน่าจะสนใจกัน ต้องบอกก่อนว่ารายได้ของนักเขียนนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฝีมือการตลาด คุณภาพของผลงาน และรวมไปถึงโชคอีกด้วย

ตัวอย่างรายได้จากนักเขียนนิยายออนไลน์

Petcharintr นักเขียนนิยายเจ้าของผลงานหลายเรื่องที่ติด Top10 นิยายหมวดแฟนตาซีในเว็บไซต์เด็กดี เปิดเผยว่า ตนนั้นเป็นนักเขียนที่มีงานประจำอยู่ การลงนิยายเลยไม่สม่ำเสมอแน่นอนนักในบางช่วง แต่รายได้ขั้นต่ำก็อยู่ที่ 1 พันบาทต่อเดือน นอกนั้นก็ 3 พัน – 1 หมื่นต้นๆ  และเคยพุ่งสูงสุดที่ 5 หมื่นบาทในเดือนที่นิยายขึ้น Top 10 ของเว็บ

นักเขียนหลายท่านนิยมลงนิยายหลายเว็บพร้อม ๆ กัน เพราะนักอ่านมีการกระจายตัวกันไปแต่ละเว็บไซต์ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคย และราคาเหรียญที่นักอ่านซื้อแล้วรู้สึกคุ้มค่า

Mawinishappy นักเขียนนิยายวัยรุ่นในหมวด Boy’s Love ของฟิคชันล็อก, รี้ดอะไรต์ ให้ความเห็นว่า มาวินเน้นเขียนนิยาย Boy’s Love 18+ ซึ่งฟิคชันล็อกไม่ได้มีมาตรการนิยายติดเรทที่เข้มงวดนักเหมือนเด็กดีหรือรี้ดอะไรต์ อีกทั้งผู้อ่านส่วนใหญ่ในเว็บนี้ยังเป็นวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ เดือนหนึ่งเขาจึงสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท (รวมทุกแพลตฟอร์มที่ลง)

มาวินเสริมว่า คนไทยนิยมอ่านเรื่องที่มีฉากอิโรติก ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดขายสร้างรายได้ของเขาเช่นกัน

และเมื่อสำรวจข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘นักเขียนนิยาย’ พบว่าหลายคนที่มีรายได้หลักแสนลงมาถึงหลักสิบ (ยังไม่มีเว็บไซต์ไหนอนุญาตให้ถอนเงินจำนวนขั้นต่ำกว่า 100 บาท) บางคนกว่าจะถึงพันก็ใช้เวลาร่วมปี บางคนลงไม่ถึงครึ่งปีก็รายได้หลักหมื่นแล้ว แสดงให้เห็นว่าการหารายได้จากงานเขียนนิยายไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวนัก แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพงาน การทำการตลาด หาดูว่านิยายของเราเหมาะกับเว็บไซต์ใด ลงนิยายสม่ำเสมอไหม นอกจากนั้นยังมีเรื่องโชคเข้ามาเอี่ยวอีกด้วย

ที่มา: dek-d.com / fictionlog.co / joylada.com / tunwalai.com / kawebook.com / readawrite.com

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online