Life: เทคโนโลยีลดความยุ่งยากและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต จนพูดได้เต็มปากว่า หากขาดอุปกรณ์ที่ใช้กันมาเป็นเวลานานเราคงอยู่กันลำบาก และอาจถึงขั้นทำให้กิจกรรมหลายอย่างสะดุดไป

ยกตัวตัวอย่างสมาร์ตโฟน จากที่เคยเป็นแค่อุปกรณ์สื่อสาร ไว้ใช้โทรเข้า-ออก ปัจจุบันนี่คืออุปกรณ์ที่ทำได้สารพัด ตั้งแต่สื่อสาร เช็กข่าวสาร ถ่ายรูป เป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพา

เปิดโลกทัศน์ ดูหนังฟังเพลง หรือแม้กระทั่งเป็นธนาคารและตู้เอทีเอ็ม จนหลายคนทั่วโลกส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า แทบจะขาดสมาร์ตโฟนไม่ได้แล้ว

อีกอย่างที่เราแทบจะขาดไม่ได้ เพราะใช้กันมานานจนชิน คือแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (Search engine) โดยเฉพาะ Google

และเมื่อเป็นแอปพื้นฐานที่ต้องมีอยู่ติดสมาร์ตโฟน การหาข้อมูลทุกอย่างจึงง่าย ทันใจ และทำได้ทุกที่ทุกเวลา

หลักฐานที่ยืนยันการใช้ Google กันเป็นปกติและแพร่หลายคือ Google กลายเป็นกริยาหมายถึงการหาข้อมูลผ่าน Google ที่คนทั่วโลกเข้าใจโดยได้ไม่ต้องอธิบายเพิ่มอีกมานานแล้ว    

ทว่าการพึ่งพาสิ่งใดมากและนาน ๆ เกินไปย่อมมีข้อเสียตามมา และการพึ่งพา Google ในการหาข้อมูลก็มีข้อเสียเช่นกัน

นั่นคือทำให้เกิดการหลงผิดคิดไปว่าข้อมูลแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้น และได้มาอย่างง่ายดายในเวลาเพียงกี่วินาทีนี้ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว หรือ  Availability Bias 

ข้อมูลแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าเพจของ Google อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอไป เพราะอาจขึ้นมาอยู่อันดับบนสุดในการค้นหาผ่านกลวิธีการต่าง ๆ เช่น SEO และการซื้อโฆษณา

Availability Bias ถือเป็นภัยแฝงที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ขาดวิจารณญาณ ด่วนตัดสินใจ เชื่อข้อมูลที่ได้มาง่ายโดยไม่เอะใจหรือขาดการตรวจสอบ

ซึ่งผลเสียต่อเนื่องที่ตามมาคือ การตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง

“แล้วเราจะทำอย่างไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Availability Bias?” คำตอบของคำถามนี้อยู่ในบรรทัดต่อถัดจากนี้

เช็กข้อมูลหลาย ๆ เพจ: วิธีแรกเพื่อกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Availability Bias คือการตรวจสอบข้อมูลจากหลาย ๆ เพจ เพื่อชั่งน้ำหนักอยู่ว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน และไม่ยึดติดกับเพจใดเกินไป

เน้นสื่อใหญ่ที่เชื่อถือได้: วิธีต่อมาที่ช่วยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Availability Bias ได้คือ เน้นสื่อสำนักใหญ่ ๆ โดยวิธีนี้ใช้ได้ผลกับข่าวต่าง ๆ

เพราะสื่อแต่ละสำนักต้องตรวจสอบมาแล้วระดับหนึ่งว่า แหล่งข่าวเชื่อได้ เพื่อรักษาชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในฐานะสำนักข่าวเอาไว้

หาว่าใครหนุนอยู่เบื้องหลัง: อีกวิธีที่ช่วยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Availability Bias ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะข่าวหรือเรื่องราวที่ยังเป็นที่ถกเถียงคือ การตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลมีภูมิหลังอย่างไร

และสำนักข่าวนั้นมีใครหนุนหลังอยู่ นอกจากไม่หลงเชื่อข้อมูลเร็วเกินไปแล้ว วิธีนี้ยังช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นกลาง ทราบข้อมูลรอบด้าน

และไม่ติดกับดักการอยู่แต่ในกลุ่มคนที่คิดเห็นแบบเดียวกัน ไม่ต่างจากอยู่ในห้องเสียงสะท้อนหรือ Echo Chamber อีกด้วย

ไม่ลืมว่ายังมีหนังสือ: วิธีสุดท้ายที่ช่วยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Availability Bias คือการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือหรือห้องสมุด แม้นี่เป็นวิธีเก่าแก่ แทบถูกลืมไปแล้วและต้องใช้เวลา

แต่ก็คุ้มค่าต่อการทุ่มเท เพราะข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึก บางประเด็นอาจไม่มีสื่อออนไลน์ และไม่พบจากการหาด้วย Google/cnbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online