กลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว ชาวจีน ลูกค้ากระเป๋าหนักที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ โดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร

ช่องทาง E-Commerce ต้องใช้

เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนทุกวันนี้นิยมจับจ่ายซื้อของผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ เนื่องจากมีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวมากเกินไปเมื่อออกมาเที่ยวในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในทางหนึ่งมันยังช่วยให้พวกเขามีโอกาสเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าโดยหาข้อมูลก่อนได้ ทำให้แทนที่จะเร่งรีบซื้อของที่อยากได้ในทันทีเมื่อเห็นวางอยู่หน้าร้าน พวกเขามีโอกาสได้หยุดคิดแล้วหาข้อมูลก่อนว่ามีสินค้านั้นๆ ทดแทนกันได้วางขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Tmall หรือ Taobao หรือไม่นั่นเอง

การนำช่องทางเหล่านี้มาใช้ เช่น บริการของ WeChat Pay และ Alipay เพื่อให้ลูกค้าจีนได้สแกนหน้าร้านได้เลยเมื่อสั่งสินค้า และชำระเงินได้ทันที ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งสำหรับผู้ค้าปลีกรายย่อยที่ไม่สามารถแข่งขันเรื่องหน้าร้านกับรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภททดแทนได้

กลยุทธ์การตั้งราคาและจัดหาของฝาก

เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังสูง และปริมาณมาก การทำให้พวกเขาประทับใจและรู้สึกถึงความสำคัญจึงเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง

เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีกรณีศึกษาจากร้าน Duty Fee ของ King Power ที่ตั้งราคาของฝากหรือสินค้าปลอดภาษีโดยเขียนภาษาจีนกำกับไว้ว่าราคานี้พิเศษ ถูกกว่าที่เมืองจีน ซึ่งการเขียนเป็นภาษาจีนไว้แล้วยังเขียนอยู่เหนือภาษาอังกฤษก็เป็นกลยุทธ์ที่แสดงว่าให้ความสำคัญกับชาวจีนเป็นพิเศษนั่นเอง

เนื่องจากสุดท้ายแล้ว การเลือกซื้อสินค้า มักเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล นี่จึงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้กระตุ้นความอยากซื้อได้อีกทางหนึ่ง

กลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว

ต้องเตรียมพร้อม เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนแนว

มีการวิเคราะห์และสถิติจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ที่ชี้ถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาได้มาก โดยส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญคือการยกระดับในภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนที่มีรายได้สูง ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทุกภาคส่วนพยายามจะจับให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลายปีหลังจะชะลอตัวลงไปบ้าง หลังจากมีการเปิดเผยว่า GDP ของจีนมีการเติบโตลดลงในปี 2018 ที่ผ่านมา

แต่ถ้าประเมินในภาพรวมแล้ว เรายังพบว่า คนจีนคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในเวลานี้

ในส่วนนี้ มีรายงานจาก Jingdaily เกี่ยวกับภาพรวมของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงปี 2018-2019 ว่ามีแนวโน้มที่จะมาเที่ยวในต่างประเทศกันแบบครอบครัว ที่พ่อแม่วัยรุ่นหรืออายุวัยกลางคน นิยมพาลูกที่ยังเล็กมาเที่ยวด้วยกันมากกว่าจากกลุ่มทัวร์จีน ซึ่งแต่เดิมจะมีลักษณะที่คละกันไป ทั้งในส่วนที่เป็นผู้อาวุโสมากันจำนวนมาก หรือเป็นวัยรุ่นที่พาพ่อแม่มา หรือเป็นคู่รัก กลับกลายเป็นว่า ไลฟ์สไตล์ในการท่องเที่ยวของคนจีนรุ่นใหม่ๆ หรือพ่อแม่ชาวจีนยุคใหม่ที่มีอายุประมาณ 25-40 ปี จะพาลูกเล็กออกไปท่องโลกมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการเที่ยวในเมืองที่ไม่มีชื่อเสียง เมืองชั้นรอง สถานที่ธรรมชาติ ผจญภัย ไปจนถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเป็นลักษณะนี้ มักเป็นคนจีนจากเมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง หรือก็คือ กลุ่มพ่อแม่ชาวจีนจากเมืองชั้นหนึ่งของจีนที่มีฐานะการเงินค่อนข้างดีนั่นเอง

ซึ่งจากรายงานยังระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศเป้าหมายที่ครอบครัวรุ่นใหม่ของจีนนิยมพาลูกไปเที่ยวด้วย แล้วการเที่ยวในลักษณะนี้ ยังถือว่าเป็นโอกาสของบรรดาสถานที่พัก เพราะมีส่วนทำให้พ่อแม่ชาวจีนเลือกหาสถานที่พักหรูมากขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายของเด็กที่พามาด้วยนั่นเอง กลุ่มนี้จึงเป็นนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างใช้จ่ายสูงเป็นพิเศษ โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6,800-7,500 หยวนเลยทีเดียว

สำหรับในประเทศไทย จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจีนในลักษณะนี้มาก เช่น เกาะภูเก็ต เกาะสมุย เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม และมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม

เพิ่มช่องทางภาษาจีนเพื่อสื่อสารมากขึ้น

เขียนภาษาจีนติดตามป้ายในสถานที่ท่องเที่ยวอาจจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้คือ การพูดออกไมค์เพื่อประกาศในสถานที่บางแห่ง

ตัวอย่างเช่น ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น เช่น สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ จะมีประชาสัมพันธ์ประกาศออกไมค์ถึงสามภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน  เป็นต้น

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline


อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร /ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน/เจ้าของเพจ Level Up Thailand และ Level Up China, และ เว็บไซต์ https://www.levelupthailand.com/ความรู้การตลาดออนไลน์จีน/Speaker และ ผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online