ปลายทางในการทำงานทุกครั้ง ทุกคนไม่ว่าในอาชีพใด สายงานไหนหรือมีอาชีพอะไร ย่อมหวังให้ความพยายามผลิดอกออกเป็นความสำเร็จ ผลงานออกมาดี ทว่าชีวิตไม่เป็นอย่างที่คิดทุกครั้ง เพราะไม่ว่าระวังอย่างไร ความผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ และผลกระทบที่ตามมาก็มีความรุนแรงแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตามวิกฤตเหล่านี้ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด เพราะหากมองอีกด้านก็สามารถจดจำไว้เป็นบทเรียนได้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ผิดเป็นครู” โดยต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการสร้างบทเรียนล้ำค่า เวลาเมื่อทำพลาด

ต้องยอมรับผิด : “ทำไมจึงทำผิดอยู่บ่อยๆ เป็นสิบเป็นร้อยครั้งก็ยังพลาดจุดเดิม?” คำถามนี้จะไม่ปรากฏขึ้นในใจของทั้งคุณเองและคนอื่นเลย ถ้าไม่ยืนกระต่ายขาเดียวว่า “ฉันไม่ผิด” หรือมัวคิดโทษผู้อื่นอยู่ตลอด เพราะการรู้ว่าเป็นความบกพร่องของตัวเอง จะเปิดช่องให้คุณได้ลองหันมองในเรื่องที่ทำลงไป ไม่ต่างจากการหยุดรถแล้วลงไปดูเมื่อรู้สึกว่าชนเข้ากับอะไร แทนการขับต่อไปแบบไม่ใส่ใจ ไร้ความรู้สึกรู้สาว่า วัตถุที่มากระแทกรถนั้นจะเจ็บจะตายได้หรือไม่ ขณะเดียวกันยังเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และกล่าวขอโทษใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดครั้งนี้

หยุดคิดว่าเกิดจากอะไร : ถัดจากยอมรับความผิดที่ก่อขึ้นแล้ว ต่อมาที่ต้องทำคือการถามตัวเองว่า “พลาดตรงไหน?” , “มีวิธีไหนที่จะลดผลกระทบหรือป้องกันไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก?” และ “ตัวเราเรียนรู้อะไรจากความผิดครั้งนี้?” จากนั้นเขียนคำตอบออกมาเป็นข้อๆ พอให้เป็นแนวทางเพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาชัดขึ้นและขึ้นอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ต่างจากการได้พบกล่องดำท่ามกลางซากเครื่องบินตกซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกไว้ ทั้งการสนทนาของนักบินกับหอบังคับการ และข้อมูลสภาพอากาศจะทำให้เราทราบว่าอากาศยานเคราะห์ร้ายลำนี้ ต้องกระแทกพื้นโลกจากสาเหตุใด

ใช้ต่อยอดสู่แผนป้องกัน : หมวกกันน็อค เข็มขัดนิรภัย กันชน ไปจนถึงเบาะที่ดีดตัวออกจากห้องนักบิน ต่างเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อลดการบาดเจ็บหรือเลี่ยงไม่ไห้ผู้โดยสารต้องเสียชีวิต และทั้งหมดต่อยอดมาจากการวางแผนรับมืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ในบริบทของการสร้างบทเรียนจากความผิดพลาด นี่คือการนำคำตอบที่ตกผลึกมาประกอบขึ้นเป็นแผนเตรียมความพร้อมและป้องกันไม่ให้ผิดซ้ำอีกนั่นเอง ซึ่งควรทำให้ละเอียดและมีตัวช่วยต่างๆด้วย เช่น คนคอยเตือน กรอบเวลาและเครื่องมือที่จำเป็น

มีแผนสำรองเผื่อเอาไว้ : จริงอยู่ อนาคตจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับความพร้อมในปัจจุบันและบทเรียนจากจุดที่เคยพลาดอดีต แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ และแผนสองที่ว่านี้ควรคิดล่วงหน้าไปถึงจุดที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) เลย เพราะยิ่งมีแผนสองไว้มากเท่าไหร่ ความเสียหายจากเรื่องไม่คาดก็จะน้อยลงเท่านั้น ขณะเดียวกันควรหมั่นตรวจสอบด้วยว่า มาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือด้านร้ายของอนาคตนั้น ยังใช้งานได้ เหมือนกับที่อาคารใหญ่ๆ มีการซ้อมหนีไฟอยู่เป็นประจำ

ท้อเมื่อไหร่ให้เตือนตัวเอง : ทุกครั้งระหว่างแก้ไขข้อผิดพลาด คลี่คลายสถานการณ์หรือจัดการงานที่ติดขัด มีแรงเสียดทานมากมายที่ต้องเผชิญ ทั้งคำครหา ความคาดหวัง บรรยากาศที่ตึงเครียด และความลำบากที่มากกว่าปกติ จึงทำให้ความท้อถอยเกิดขึ้นได้ ดังนั้นตลอดทางการทำงานต้องคอยให้กำลังใจตัวเองเพื่อเติมไฟแห่งความมุ่งมั่นไม่ให้มอดดับ มองโลกในแง่ดีกว่าท้ายที่สุดความพยายามครั้งนี้ไม่สูญเปล่า และเมื่อแก้โจทย์จากความผิดพลาดได้สำเร็จ รางวัลตอบแทนคือความภาคภูมิใจและการรับประกันว่าจะไม่ผิดอีกซ้ำสอง / psychologytoday



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online