การแข่งขันในวันนี้ ผู้ประกอบการและ SMES จะทำอย่างไรในการพาตัวเองก้าวเดินบนความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันที่มากมาย

 

แล้วในธุรกิจนี้ รายย่อยจะอยู่ตรงไหน

และการแข่งขันของ e-Marketplace จะช่วยส่งเสริมหรือกอบโกยผลประโยชน์จาก SME

 

งานสัมมนา Marketeer Forum #16 เรื่อง e-Commerce is Now ที่ Marketeer Magazine และ Marketeer Online จัดขึ้น ในวันที่ 30 พฤษภาคม ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

 

ในงานนี้ Marketeer ได้เชิญธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซซ์ซ่าจำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย

กมล พูนทรัพย์ หรือ “เฮียมั่นคง”, อัฐพงษ์ เอี่ยมไพบูลย์ หรือ “มิสเตอร์เบียส” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ มั่นคง Gadget

 

ศิรประภา ภารสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ซิลเลียนเทค ประเทศไทย เจ้าของแพลตฟอร์ม zelingo

 

นพนารี พัวรัตนอรุณกร Chief Marketing Officer บริษัทสมใจค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด เจ้าของร้านเครื่องเขียนสมใจ และสมใจออนไลน์

 

จิตใส เก่งสาริกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA

 

ร่วมถกถึงมุมมองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ที่ในวันนี้ e-Marketplace เข้ามามีบทบาทกับธุรกิจ SME ไทย จะเข้ามาช่วยหรือมาเพื่อกอบโกย

 

ทุกวันนี้ SME พึ่งพาคนอื่นหายใจ

แม้ e-Marketplace จะเข้ามาสร้างสีสันและประสบการณ์การช้อปออนไลน์ให้ไทย แต่ผู้ร่วมเสวนาของ Marketeer Forum อย่างมั่นคง Gadget และสมใจ กลับมองว่าช่องทางออนไลน์ที่สำคัญของเขาที่สุดคือ Web Site Official ที่ร้านเป็นผู้พัฒนาขึ้นมาเอง

เพราะพวกเขาได้มองว่า การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องสร้างบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งก็คือ Web Site Official ของร้าน

 

โดยกมล แห่ง มั่นคง Gadget เป็นผู้หนึ่งที่ปฏิเสธการเข้าไปเปิดหน้าร้านใน e-Marketplace เพราะมองว่า กว่าที่มั่นคง Gadget จะเติบโตถึงวันนี้ ได้วางรากฐานของแบรนด์ผ่านความรู้และดูแลลูกค้ามาอย่างยาวนานจนคนเชื่อใจ

ซึ่งการเอาแบรนด์ที่อยู่ในธุรกิจมาสิบกว่าปีไปฝากกับใครสักคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ e-Marketplace เพียงไม่กี่ปี และไม่มีความรู้ในสินค้าที่ขายใน e-Marketplace เป็นสิ่งที่อาจจะทำให้แบรนด์เกิดปัญหาในด้านต่างๆ ได้

รวมถึงการนำสินค้าในร้านมั่นคง Gadget ไปจำหน่ายใน e-Marketplace ที่มีแคมเปญโปรโมชั่นส่วนลดอยู่เสมอ จะทำให้ในอนาคต ลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าในเว็บไซต์มั่นคง Gadget น้อยลง เพราะลูกค้าเลือกที่จะเลือกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่า

ซึ่งถ้าวันหนึ่ง e-Marketplace ได้เรียนรู้ถึงความนิยมของสินค้า ว่าสินค้าไหนขายดี e-Marketplace นั้นๆ ก็จะไปดีลกับแบรนด์สินค้าโดยตรง เพื่อให้มาเปิด Official Store ใน e-Marketplace ของตัวเอง

 

การที่แบรนด์เข้ามาเปิด Official Store ของตัวเอง นั่นหมายถึงการทำราคาจะดีกว่าร้านค้าที่รับสินค้าจากแบรนด์เข้ามาจำหน่ายอีกต่อหนึ่งอย่างแน่นอน

 

กมลได้บอกกับเราว่า สำหรับเขามอง e-Marketplace ที่ทำกับ SME ก็เหมือนการใช้เหยื่อขนาดใหญ่ล่อปลาเข้ามาจำนวนมากๆ เพื่อศึกษาโอกาสในการทำธุรกิจ

และยอมทุ่มเงินมอบส่วนลดต่างๆ ให้กับลูกค้า และไม่เก็บค่า Fee กับ SME ในการขายสินค้า เพราะต้องการที่จะฆ่าคู่แข่งให้ตายไปกับระบบก่อน เพื่อให้ตัวเองมีคู่แข่งที่น้อยที่สุด และคอยเก็บค่าบริการกับร้านค้าภายหลัง   

 

นพนารี แห่งสมใจออนไลน์ ก็มองว่าการขายของบนแพลตฟอร์ม e-Marketplace มีทั้งข้อดีข้อเสีย

ข้อเสียคือการโดน copy ความสำเร็จจากเจ้าของ e-Marketplace อย่างเช่นที่กมลได้กล่าวไว้

เพราะการที่ร้านค้ามาเปิดขายสินค้าใน e-Marketplace คือการลงทุนในการหาสินค้ามาจำหน่าย แต่สิ่งที่แพลตฟอร์มได้จากการที่ SME ลงทุนเลยคือ ดาต้าความต้องการของผู้ซื้อ ว่านิยมในสินค้านั้นๆ หรือไม่  

 

และการนำสินค้าไปจำหน่ายใน e-Marketplace บางครั้งจะเกิดปัญหาเรื่องการสต๊อกสินค้า จากความไม่รู้ว่าสินค้าตัวนั้นจะได้รับความนิยมแค่ไหน ซึ่งถ้าสินค้าขายดีเกินกว่าสต๊อกและไม่สามารถหาสินค้าส่งให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนด นั่นหมายถึงร้านค้าจะต้องถูก e-Marketplace ปรับไปตามระเบียบ

 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น e-Marketplace มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เพราะถ้าร้านค้ามีสินค้าที่เป็น Unique ก็สามารถจะใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมหาศาลได้อย่างง่ายดาย

รวมถึงการเป็นช่องทางที่มีพลังอีกช่องทางหนึ่งให้กับ SME รายเล็กที่ไม่มีพลังมากพอในการสร้างบ้านตัวเองผ่าน website official

 

ศิรประภา จาก Zilingo ได้บอกกับเราว่า แพลตฟอร์ม Zilingo เกิดจากผู้ก่อตั้งชาวอินเดียไปเดินที่ตลาดนัดจตุจักร และเห็นเสื้อผ้าที่ขายในนั้นมีจำนวนมาก

จึงได้เกิดแพลตฟอร์ม Zilingo ขึ้นมา และเปิดในประเทศไทยเป็นที่แรก

Zilingo แตกต่างจากแพลตฟอร์ม e-Marketplace อื่นๆ คือการเห็นใจ SME ด้วยการให้ SME กู้เงินไปซื้อสินค้ามาจำหน่ายใน Zilingo ก่อน และค่อยหักเปอร์เซ็นต์จากการขายได้

มีดาต้าเบสในการแนะนำผู้ประกอบการในการนำเสื้อผ้าแฟชั่นมาจำหน่ายตามเทรนด์ หรือแนะนำวิธีการถ่ายรูปสินค้าที่ดึงดูดผู้บริโภค รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ อีกมากมาย โดยไม่คิดที่จะไปแข่งกับ SME ที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าใน Zilingo

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในช่องทางต่างๆ ก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละช่องทางที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการมองว่าช่องทางที่เหมาะสมบนกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

เพราะอย่าลืมว่า ต้นทุนของ SME ในการเข้าถึงลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน