โกปิโก้ ลูกอมรสกาแฟ ทำไมขาดทุน ? วิเคราะห์ตลาดลูกอม 2562 หวานหรือขมกันแน่ !
ปัจจุบันตลาดลูกอมมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
บรรดาแบรนด์ลูกอมทั้งเจ้าตลาดและหน้าใหม่ต่างกระโดดลงมาชิงแชร์ในตลาดนี้ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆ มัดใจผู้บริโภค
หนึ่งในแบรนด์ลูกอมรสกาแฟที่แย่งเชลฟ์ในร้านสะดวกซื้อได้อย่างยาวนานคือ โกปิโก้ ลูกอมรสกาแฟที่อยู่ในแพ็กเกจจิ้งสีดำ และโลโก้สีแดงเป็นเอกลักษณ์ อยู่ในตลาดมาหลายทศวรรษ
โกปิโก้เดิมมีรสชาติเดียวคือ รสคลาสสิก แต่ปัจจุบันมีรสคาปูชิโน ที่มีรสหวานกว่าแบบก่อนทำให้กินง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับแพ็กเกจจิ้งภายในเป็นแบบแผงด้วย โดยลูกอมโกปิโก้มีผู้นำเข้าอย่าง “อินบิสโก้ (ประเทศไทย) ”เครือของมาโยรา กรุ๊ป ประเทศอินโดนีเซีย ที่ไม่ได้มีแค่ลูกอมรสกาแฟ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทบิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ ที่บอกชื่อไปต้องร้อง อ๋อ! กันทุกคน
ทั้ง เบงเบง (เวเฟอร์), แจมโอแจม (บิสกิต), โชกี้โชกี้ (ครีมช็อกโกแลต), มัลคิสต์ (แครกเกอร์), แดนิสา (คุกกี้), แคลชีส (เวเฟอร์) และกาแฟพร้อมดื่มตราโกปิโก้
แม้จะมีผลิตภัณฑ์ในมือที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี แต่รายได้ปี 2560 กลับพลิกความคาดหมายจากที่เคยทำกำไรมาตลอดตั้งแต่ปี 2555 แม้จะกำไรน้อยบ้างมากบ้างก็ตาม
โดย อินบิสโก้ (ประเทศไทย) มีรายได้ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.9 พันล้านบาท ขาดทุนเกือบ 250 ล้านบาท
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
1. ตลาดลูกอมมีการแข่งขันสูง เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ต่างส่งลูกอมรสใหม่ๆ มาดึงดูดใจผู้บริโภค ลูกอมรสกาแฟโกปิโก้นี้จึงเป็นเพียงเซกเมนต์เล็กๆ ในตลาดลูกอมที่มีรายได้แต่อาจยังไม่มากพอ
2. การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โกปิโก้ใช้ความแข็งแกร่งของภาพลักษณ์ลูกอมรสกาแฟมาแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์กาแฟขวด ”โกปิโก้คอฟฟี่” ในปี 2560 เพื่อมาแย่งส่วนแบ่งจากตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (Ready to drink) 12,000 ล้านบาท อาจจะถูกใจผู้บริโภคในแง่ปริมาณ เพราะมีขนาด 240 มล. ถือเป็นขนาดใหญ่กว่าเจ้าอื่นที่วางขายในตลาด แต่ในเรื่องของรายได้คงต้องรอดูในปี 2561 ที่ผ่านมาว่าจะทำให้บริษัทแฮปปี้ได้หรือไม่
3. ในแง่ของแบรนดิ้งที่ผู้บริโภครู้จัก “โกปิโก้” ดี แต่รายได้ของอินบิสโก้เองก็มีส่วมผสมจากผลิตภัณฑ์อื่นเช่นกัน โดยมองว่าแม้บริษัทจะมีแบรนด์ขนม บิสกิต เวเฟอร์ ในมือหลากหลาย แต่ก็ยังไม่ “ปัง” พอ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ปี 2560 นั้น อินบิสโก้ (ประเทศไทย) มีรายได้ลดลงราว 148 ล้านบาท มีต้นทุนการขายเพิ่มขึ้นเกือบ 130 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นราว 248 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่าตลาดลูกอมยังโตได้ แต่แบรนด์เองก็ต้องเร่งหากลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อกวาดแชร์ในตลาดเข้าพอร์ตเช่นเดียวกัน
เพราะไม่เช่นนั้นชื่อของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในมือสักวันอาจจะค่อยๆ หายออกไปจากเชลฟ์ก็เป็นได้
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



