สองธุรกิจสำคัญที่สร้างชื่อให้แบรนด์ญี่ปุ่นบนเวทีโลกมาเป็นเวลานาน คือยานยนต์และเทคโนโลยี โดยธุรกิจกลุ่มแรก Toyota กับ Honda คือแบรนด์ดังที่คนทั่วโลกรู้จักดี ส่วนธุรกิจกลุ่มหลัง Casio ไม่น่าหลุดจาก 5 อันดับแรก แม้ปัจจุบันถูกแบรนด์ร่วมชาติอย่าง Sony และ Nintendo แซงไปไกลแล้วก็ตาม

การถูกแบรนด์ร่วมชาติที่ขนาดใหญ่กว่าทิ้งห่างไม่ได้ทำให้เรื่องราวของ Casio ลดความน่าสนใจลงไปแต่อย่างใด เพราะนี่คือแบรนด์อายุเกือบ 8 ทศวรรษ ที่ทำให้โลกรู้จักเครื่องคิดเลขแบบพกพา เป็นเบอร์ต้นๆ ในตลาดนาฬิกาดิจิทัล และครองส่วนแบ่งไม่ใช่น้อยในตลาดเครื่องดนตรีไฟฟ้า   

               

เรื่องราวของสี่พี่น้องมองการณ์ไกลที่ไม่อยากให้ญี่ปุ่นเป็นรองอีกต่อไป

Casio ก่อตั้งเมื่อปี 1946 โดยสี่น้องตระกูลคาชิโอะ คือ ทาดาโอะ โทชิโอะ คาซูโอะ และยูกิโอะ เงินทุนในการตั้งต้นบริษัทมาจากธุรกิจโรงกลึงที่พี่คนโตทำร่วมกับพ่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีรายได้หลังจากการผลิตของใช้ในครัวเรือนและแหวนวางบุหรี่ ที่ขายดีมากในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องการข้าวของเครื่องใช้ผลิตเองหลังประเทศย่อยยับจากสงคราม

สินค้าอย่างแรกที่สร้างชื่อให้ Casio คือเครื่องคิดเลขไฟฟ้ารุ่น 14-A ขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เวลาผลิต ปรับแก้อยู่หลายครั้ง และเผชิญอุปสรรคสารพัดตลอดหลายปี หลังทาดาโอะ ตั้งเป้าว่าจะผลิตเครื่องคิดเลขสัญชาติญี่ปุ่นออกมาให้ได้เพราะคับแค้นใจที่เห็นทหารอเมริกันใช้เทคโนโลยีดังกล่าว คิดเลขชนะนักบัญชีระดับเซียนชาวญี่ปุ่นที่ยังใช้ลูกคิดไปอย่างขาดลอย

เครื่องคิดเลขรุ่นดังกล่าวที่หนัก 140 กิโลกรัม ราคาถึง 485,000 เยน (ราว 360,000 บาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) และออกสู่ตลาดในปี 1957 เป็นหมุดหมายแรกของ Casio ในตลาดเครื่องคิดเลข เวลาต่อมา Casio ก็ส่งเครื่องคิดเลขหลากรุ่นหลายขนาดออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมยอดขายถล่มทลาย ส่งให้ช่วงยุค 70 บริษัทสามารถเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) ทั้งในญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี

เข้าสู่ 80 Casio ขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากเครื่องคิดเลขไฟฟ้าแบบพกพาใส่ลงไปในนาฬิกาข้อมือ โดยมี Casiotron เป็นนาฬิกาข้อมือดิจิทัลรุ่นแรกที่ผลิตเอง และตามด้วยเครื่องดนตรีดิจิทัลอย่างคีย์บอร์ดขนาดต่างๆ การขยับขยายดังกล่าวยังเป็นการเปิดตลาดใหม่ ต่อยอดเทคโนโลยีและลดความเสียหายจากการขับเคี่ยวกับ Sharp แบรนด์ร่วมชาติในตลาดเครื่องคิดเลขด้วย

กลุ่มธุรกิจนาฬิกาทยอยทวีความสำคัญต่อ Casio ขึ้นตามลำดับ โดยจากยอดขาย 58,700 ล้านเยน (ราว 19,636 ล้านบาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) ในปี 1981 เป็น 68,900 ล้านเยน (ราว 19,879 ล้านบาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) ซึ่งหัวหอกคือ G-Shock ที่คอนาฬิกาและนักกีฬาทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีในทุกวันนี้

 

ถึงคราวผู้บริหารรุ่นลูกแสดงฝีมือ

ปัจจุบัน Casio ซึ่งเป็นการนำชื่อสกุลของกลุ่มผู้ก่อตั้งมาปรับให้ออกเสียงง่ายขึ้นเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกพบได้ในชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้การบริหารของ คาสุฮิโระ คาชิโอะ ลูกชายของ คาซูโอะ น้องคนที่ 3 ของทาดาโอะ ผู้บริหารคนแรกมีพนักงานทั่วโลกกว่า 12,000 คน ประกอบไปด้วย 8 ผลิตภัณฑ์คือ เครื่องคิดเลข นาฬิกา เครื่องดนตรีไฟฟ้า โปรเจกเตอร์ เครื่องพิมพ์ฉลาก เครื่องเทอร์มินอลแบบพกพา กล้องดิจิทัลและเครื่องบันทึกเงินสด

ความท้าทายในมือของ Casio ผู้บริหารรุ่นลูกที่เพิ่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรเมื่อปี 2015 คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เหมือนช่วงยุค 80 เพื่อผลักดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 352,200 ล้านเยน (ราว 101,615  ล้านบาท) ในปี 2015 เป็น 321,200 ล้านเยน (ราว 92,671 ล้านบาท) สู่ 314,800 ล้านเยน (ราว 90,825 ล้านบาท) เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา/casio, astrumpeople, watchnista, nikkei, wikipedia

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online